• ปรัชญาธรรมนำทาง •
๏ สำหรับผู้เปิดใจกว้างพอที่จะรับฟังรับรู้เรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อนำไปประยุกต์ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตสืบไป
1:2:3:4:5:6:7:8:9:10
๏ อริยทรัพย์ ๗
          ๑.ศรัทธา ความเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
          ๒.ศีล การรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย
          ๓.หิริ ความละอายแก่ใจที่จะทำชั่ว
          ๔.โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของการทำชั่ว
          ๕.พาหุสัจจะ ความเป็นคนคงแก่เรียน
          ๖.จาคะ ความเสียสละ แบ่งปัน
          ๗.ปัญญา ความฉลาดรู้บาปบุญคุณโทษ
๏ กรรม
          พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุท์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงความหมายและ ประเภท ของกรรม ไว้ดังนี้
          กรรม หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม การกระทำที่ดี เรียกว่า กรรมดี การกระทำชั่ว เรียกว่า กรรมชั่ว
          กรรมจำแนกตามคุณภาพหรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุมี ๒ ข้อ คือ
          ๑.อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือ เกิดจากอกุศลมูล
          ๒.กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล
          
          กรรมจำแนกตามทวาร คือ ทางที่ทำกรรม มี ๓ ทาง
          ๑.กายกรรม การกระทำทางกาย
          ๒.วจีกรรม การกระทำทางวาจา
          ๓.มโนกรรม การกระทำทางใจ

          กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์อรรถกถา แปลโดยพุทธโฆษาจารย์ ได้รวบรวมแสดง ไว้ ๑๒ อย่าง คือ
           หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่
                    
          ติดตามต่อไปโอกาสหน้า...
 
๏ กฎแห่งกรรม
          กฎแห่งกรรม หมายถึงกฎเกณฑ์แห่งการกระทำซึ่งเป็นเหตุเป็นผลกันตามธรรมชาติ(ธรรม) คือ การประกอบเหตุเช่นไร ย่อม ได้ผลเช่นนั้น หรือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นเอง โดยทั่วไปแล้วปุถุชนทุกคนต้องการความดี และความสุข ไม่มีใครต้องการความ ชั่วและความทุกข์ แต่มีคนเป็นจำนวนมากต้องประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นว่า ความทุกข์ความเดือดร้อนเหล่านั้นเป็นผลของการประกอบเหตุไม่ดี
 
๏ กาลามสูตร ๑๐
หลักกาลามสูตร ๑๐ ที่ว่าด้วยการอย่าเชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังนี้
          ๑. มา อนุสฺสาเวน อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา
          ๒. มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อโดยเหตุสักว่าตามสืบๆ กันมา
          ๓. มา อิติ กิราย อย่าเชื่อโดยตื่นข่าว
          ๔. มา ปิฎกสัมฺปทาเนน อย่าเชื่อโดยอ้างปิฎก
          ๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยนึกเดาเอาเอง
          ๖. มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยคาดคะเน
          ๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อโดยการตรึกตรองตามอาการ
          ๘. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนกฺขนฺติยา อย่าเชื่อโดยเห็นว่าถูกตามลัทธิของตน
          ๙. มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อโดยเห็นว่า ผู้พูดควรเชื่อได้
          ๑๐. มา สมโฌ โน ครุ อย่าเชื่อโดยถือว่า สมณะนี้เป็นครูของตน[1]

          พระพุทธเจ้า คือ ท่านผู้ตรัสรู้สัจธรรม พระองค์ทรงค้นพบความจริง อันสูงสุด และมิได้ทรงบังคับผู้ใด ให้เชื่ออย่างงมงาย ในคำสอนของพระองค์ ความมีเหตุผลของพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าอยู่ที่การเปิดโอกาส ให้มีการ สอบสวน อย่างถี่ถ้วนในทุกขั้นตอนแห่งวิถีทางไปสู่การตรัสรู้ เพื่อที่จะ เข้าใจสภาพ แห่งปรากฏการณ์ทั้งปวง จำเป็นจะต้องอาศัย ปัญญาญาณกำกับ ตลอดสาย สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนชาวกาลามะ ผู้อาศัยอยู่ในเกสปุตต นิคม ในราชอาณาจักร หรือแคว้นโกศล ถึงท่าทีอันเหมาะสมเกี่ยวกับความเชื่อ ทางศาสนา พระองค์ตรัสว่า "อย่าเชื่อหรือถือเอาสิ่งใด ๆ เพียงการฟังตาม ๆ กันมา อย่าเชื่อเพียงที่ถือสืบกันมา อย่าเชื่อเพียงข่าวลือ อย่าเชื่อโดยอ้าง ตำรา อย่าเชื่อโดยนึกเดาเอา อย่าเชื่อโดยการ คาดคะเน อย่าเชื่อเพียง ตรึกคิดไปตามอาการ อย่าเชื่อเพียงเพราะตรงกับความคิดเห็นของตน อย่าเชื่อเพียงเพราะน่าเชื่อถือ อย่าเชื่อเพียงเพราะว่าสมณะผู้นี้เป็นครู ของเรา" และแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนชาวกาลามะต่อไป ให้พิจารณาทุกสิ่ง ด้วยตนเอง อย่างถี่ถ้วน "เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ดี นักปราชญ์ติเตียน เมื่อรับไว้และปฏิบัติแล้ว จะนำไปสู่ภัยอันตราย ก็จงสละละทิ้งเสีย ในทางตรงกันข้าม เมื่อท่านทราบด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกติเตียน นักปราชญ์สรรเสริญเมื่อรับไว้ และ ปฏิบัติแล้ว จะนำไปสู่ประโยชน์ และความสุข ก็จงรับไว้ปฏิบัติ"

          พุทธประสงค์ที่แท้จริงในการตรัสเรื่องนี้ ก็คือ ไม่ทรงให้ปลงใจเชื่อถือเพียงเพราะอ้างตำรา รวมไปถึงตำราที่เรียกกันว่า พระไตรปิฎกด้วย แต่ก็มิใช่หมายความว่าไม่ให้เชื่ออะไรเลย ทรงประสงค์ว่า การตัดสินใจเชื่อในแต่ละเรื่อง มิใช่ตัดสินใจเชื่อ เพียงเพราะเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ใน ๑๐ ประการนี้ แต่ควรจะมีข้อมูลในการตัดสินใจเชื่อที่มากไปกว่านั้น เช่น ไม่ให้ตัดสินใจเชื่อ เพียงเพราะฟังจากอาจารย์อย่างเดียว แต่ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนว่า คำพูดของอาจารย์นั้นสอดคล้องกับตำราอื่นหรือไม่ นำไป ทดสอบทดลองแล้ว มีหลักการพอจะเข้ากันได้หรือไม่ เป็นต้น ทำดังนี้แล้วจึงค่อยตัดสินใจเชื่อ ....มิใช่ว่า ห้ามไม่ให้เชื่ออะไรเลย ( เพราะการเชื่อในหลักกาลามสูตร..ก็เป็นการเชื่อคัมภีร์เช่นกันมิใช่หรือ??)

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอีกว่า "เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้วจะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้ง หลายพึงละเสีย ฯลฯ เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชน สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติบำเพ็ญ (ธรรมเหล่านั้น)"[2]

          ในกรณีที่ผู้ฟังยังไม่รู้ไม่เข้าใจและยังไม่มีความเชื่อในเรื่องใด ๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงชักจูงความเชื่อ เป็นแต่ทรงสอนให้ พิจารณาตัดสินเอาตามเหตุผลที่เขาเห็นได้ด้วยตนเอง
                    [1] พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต เกสปุตติสูตร (ไทย) ๒๐/๖๖/๒๕๙
                    [2] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภัททิยสูตร (ไทย)๒๑/๑๙๓/๒๘๗
          
          ในเรื่องนี้ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ประยุทธ์ ปยุตฺโต) อธิบายว่า

          คำว่า อย่ายึดถือ ในที่นี้ ขอให้เข้าใจความว่า หมายถึงการไม่ตัดสินหรือลงความเห็นแน่นอนเด็ดขาดลงไปเพียงเพราะเหตุเหล่านี้ ตรงกับคำว่า "อย่าปลงใจเชื่อ" อนึ่ง ไม่พึงแปล ความเลยเถิดไปว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อสิ่งเหล่านี้และให้เชื่อสิ่งอื่นนอกจากนี้ แต่พึงเข้าใจว่าแม้แต่สิ่งเหล่านี้ซึ่งบาง อย่างก็เลือกเอามาแล้วว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ปลงใจเชื่อไม่ให้ด่วนเชื่อ ไม่ให้ถือเป็นเครื่องตัดสินเด็ดขาด ยังอาจผิดพลาดได้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ก็ขนาดสิ่งที่น่าเชื่อที่สุดแล้วท่านยังไม่คิดเชื่อ ให้พิจารณาให้ดีก่อน สิ่งอื่นคนอื่น เราจะต้องคิดพิจารณาระมัดระวังให้มากสักเพียงไหน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้นับถือในลัทธิศาสนาหรือหลักคำสอนใดๆ พระองค์จะตรัส ธรรมเป็นกลางๆเป็นการเสนอแนะความจริงให้เขาคิด ด้วยความปรารถนาดี เพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง โดยมิต้องคำนึงว่าหลัก ธรรมนั้นเป็นของผู้ใด โดยให้เขาเป็นตัวของเขาเอง ไม่มีการชัดจูงให้เขาเชื่อเลื่อมใส ต่อพระองค์หรือเข้ามาสู่อะไรสักอย่าง ที่อาจ จะเรียกว่าศาสนาของพระองค์ พึงสังเกตด้วยว่าจะไม่ทรงอ้างพระองค์ หรืออำนาจเหนือธรรมชาติพิเศษอันใด เป็นเครื่องยืนยัน คำสอนของพระองค์ นอกจากเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ให้เขาพิจารณาเห็นด้วยปัญญาของเขาเอง[1] ปัญญาสำคัญไฉน ?

ศาสนาพุทธ : ปัญญามีไว้สำหรับทำลายศรัทธา เพราะเมื่อรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง แล้ว ก็ไม่ต้องเชื่อต่อใครอีกต่อไป เปรียบเหมือน ผู้ที่เคยลิ้มรสมะนาวมาแล้ว เขาไม่ ต้องเชื่อต่อใครอีกต่อไปว่ามะนาวมีรสเปรี้ยว เพราะได้ประจักษ์ด้วยตน เองแล้ว.. พระอรหันต์เป็นอสัทธา ( ผู้ไม่มีความเชื่อ มีแต่ความรู้แจ้งในสภาวะธรรมที่ปรากฏ)

พระสารีบุตรไม่เชื่อใคร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งน่ายินดี ไม่ประกอบในความดูหมิ่นละเอียดอ่อนมีปฏิภาณ ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด[2]

คำว่า ไม่ต้องเชื่อใคร คือ ธรรมที่ตนรู้ยิ่งเห็นจริงด้วยตนเองแล้ว บุคคลไม่ต้องเชื่อต่อใคร ๆ อื่นอีกต่อไป ( ..ขอยกตัวอย่างเสริม เช่น ผู้ที่เคยลิ้มรสมะนาวแล้ว ก็ไม่ต้องเชื่อต่อใคร ๆ อีกต่อไปว่ามะนาวนั้นมีรสเปรี้ยว เพราะได้รู้ยิ้งเห็นจริงด้วยลิ้นของตนเองแล้ว) เพราะตนรู้ยิ่ง เห็นจริงด้วยตนเองแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ...

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระสารีบุตรว่า สารีบุตร เธอเชื่อหรือไม่ว่า อินทรีย์ ๕ ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปในเบื้อง เป็นที่สุด
..ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในข้อนี้ ข้าพระองค์ไม่จำต้องเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเลยว่า สัทธินทรีย์ ...วิริยินทรีย์ ..สตินทรีย์ ...สมาธินทรีย์ ...ปัญญินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตธรรมเป็นที่สุด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ หากชนเหล่าใด ยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ มิได้ทำให้แจ้ง มิได้สัมผัสด้วยปัญญาแล้ว ชนเหล่านั้นก็ยังต้องถึงความเชื่อต่อผู้อื่น แต่หากชนเหล่าใดรู้ เห็น เข้าใจ ทำให้แจ้ง สัมผัสด้วยปัญญาแล้ว ชนเหล่านั้นก็ ย่อมไม่มีความสงสัย ไม่มีความแคลงใจในข้อนั้นเลยว่า สัทธินทรีย์ ..วิริยินทรีย์ ..สตินทรีย์ ...สมาธินทรีย์ ...ปัญญินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตธรรมเป็นที่สุด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีแล้ว สารีบุตร ในเรื่องนี้ ชนเหล่าใดไม่รู้ ไม่เห็นไม่เข้าใจ มิได้ทำให้แจ้ง มิได้สัมผัสด้วยปัญญาแล้ว ชนเหล่านั้นก็ยังต้องดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อผู้อื่นว่าสัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ที่บุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตธรรมเป็นที่สุด[3]

พระอรหันต์ คือ ผู้ที่ไม่ต้องมีความเชื่อต่อใคร ๆ อีกต่อไป
คัมภีร์พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย ปรากฎข้อความว่า พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะบรรลุธรรมแล้ว ..หมดความสงสัยแล้วปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น[4]ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล พระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า 'ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า 'คนมีตาดีจักเห็นรูปได้' ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค[5]
บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น
ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
ไม่เดือดดาลและไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา[6]

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
นรชนใดผู้ไม่ต้องเชื่อใคร
รู้จักนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้
ตัดรอยต่อแห่งการเกิดใหม่
ทำลายโอกาสแห่งการท่องเที่ยวไปในสงสาร
คลายความหวังแล้ว นรชนนั้นแล เป็นบุรุษสูงสุด[7]

[1] ดูรายละเอียดใน หนังสือพุทธธรรม
[2] มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทส เล่มที่ ๒๙ ข้อ ๘๗ หน้า ๒๗๑
[3] พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๒๙ ข้อ ๘๘ หน้า ๒๗๔
[4] ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึง ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสนา ไม่ได้หมายถึง ว่า ไม่ต้องเชื่อใคร (อปรปฺปจฺจโย =ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๒0
[5] ทีฆนิกาย มหาวรรค ๑๐/๗๖/๔๓ , สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปุพพโกฏฐกสูตร ๑๙/๕๑๔/๓๒๖
[6] ขุ.สุตฺต. ๒๕/๘๖๐/๗๐๖ , สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปุพพโกฏฐกสูตร ๑๙/๕๑๔/๓๒๖
[7] ขุ.ธ. ๒๕/๙๗/๓๔