• ปรัชญาธรรมนำทาง •
๏ สำหรับผู้เปิดใจกว้างพอที่จะรับฟังรับรู้เรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อนำไปประยุกต์ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตสืบไป
1:2:3:4:5:6:7:8:9:10
 
๏ พระไตรปิฎก
          เป็นคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา เป็นที่รวบรวมพระธรรมวินัยต่างๆ ไว้มากมาย รวมถึงหลักตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ เพื่อใช้ในการโต้แย้งเรื่องพระธรรมวินัยที่แท้จริงอและแสดงให้เห็นจุดมุ่งหมายของพระธรรมวินัย คือ พ้นจากกิเลสและความทุกข์ ให้ถึงความสุขสู่นิพพาน โดยมีข้อความน่ารู้ที่มีสาระควรแก่การศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต
 
พระไตรปิฎก
พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธัมมปิฎก
๑. มหาวิภังค์ ๑. ทีฆนิกาย ๑. ธัมมสังคณี
๒. ภิกขุนีวิภังค์ ๒. มัชฌิมนิกาย ๒. วิภังค์
๓. มหาวัคค์ ๓. สังยุตตนิกาย ๓. ธาตุกถา
๔. จุลลวัคค์ ๔. อังคุตตรนิกาย ๔. ปุคคลบัญญัติ
๕. บริวาร ๕. ขุททกนิกาย ๕. กถาวัตถุ
    ๖. ยมก
    ๗. ปัฏฐาน

พระไตรปิฎก มีอยู่ ๓ ปิฎก (มีศาสน์ ๓ : ศาสน์ แปลว่า คำสอน หมายถึง แนวการสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก)
๑. พระวินัยปิฎก
เป็นคัมภีร์ว่าด้วยระเบียบวินัยของพระสงฆ์ และภิกษุณี พระวินัยปิฎก เรียกว่า สังวราสังวรกถา ว่าด้วยความสำรวมและความไม่สำรวม (ความสำรวม หมายถึง ข้ออนุญาต ความไม่สำรวม หมายถึง ข้อห้าม)

ข้ออนุญาต ข้อที่ทรงอนุญาตภิกษุต้องสำรวมระวังไม่ให้ผิดหรือก้าวล่วงข้อที่ทรงอนุญาตไว้
ข้อห้าม บางอย่างมีโทษทางวินัยบัญญัติ บางอย่างมีโทษเพราะชาวบ้านติเตียน บางอย่างมีโทษทั้งสองอย่างรวมกัน ข้อห้ามเหล่านี้เกิดจากความไม่สำรวมของภิกษุ มีผู้ติเตียนหรือฟ้องร้องขึ้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามเป็นข้อๆ ไป เมื่อบัญญัติห้ามแล้ว ภิกษุใดล่วงละเมิด ภิกษุนั้นต้องอาบัติตามชนิดที่ทรงบัญญัติไว้

          พระวินัยปิฎก เรียกว่า ยถาปราธสาสนา คำสอนตามความผิด เพราะทรงสอนผู้กระทำความผิดเป็นอย่างๆ ไป พระวินัยหรือศีลของ ภิกษุและภิกษุณีนั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติทีละข้อ ก่อนบัญญัติมักมีภิกษุหรือภิกษุณีกระทำบางอย่างซ่งประชาชน ภิกษุ และภิกษุณีเห็นว่าไม่ควร จึงตำหนิติเตียนและนำมาวิจารณ์กันในที่ประชุมสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง ตรัสเรียกผู้กระทำ เช่นนั้นมาถาม เมื่อได้รับความสัตย์แล้ว ถ้าละเมิด ต้องอาบัติตามชนิดที่ทรงอาบัติ ส่วนผู้กระทำครั้งแรกอันเป็นเหตุให้มีการบัญญัติ ไม่ต้องอาบัติ เพราะกระทำก่อนบัญญัติ

๒. พระสุตตันตปิฎก
          พระสุตตันตปิฎก เรียกว่า ทิฏฐินิเวฐนกถา ว่าด้วยการเปลื้องทิฏฐิความเห็นผิด ๖๒ ประการ (ซึ่งสรุปได้ความเห็นขั้นปลายสุด เรียกว่า อันตคาหิกทิฏฐิ หรือ ทิฏฐิ ๑๐ ประการ) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องพระธรรมเทศนาทั่วๆ ไป มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ แบ่งเป็น ๕ หมวดใหญ่ พระสูตรต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อเปลื้อความเห็นผิด หรือเพื่อประกาศความเห็นถูกดังตัวอย่างในอัคคิวัจฉโคตตสุตร กล่าวไว้ดังนี้

           วัจฉโคตตปริพาชก เข้าเฝ้าทูลถามถึงทิฏฐิ ๑๐ ประการ ว่าทรงเห็นอย่างนั้นหรือไม่ พระองค์ตรัสตอบว่า มิได้ทรงเห็นอย่างนั้น วัจฉโคตต ถามว่า ทรงเห็นโทษอย่างไรจึงไม่เข้าไปติดทิฏฐิเหล่านั้น ตรัสตอบว่า ทิฏฐิ เหมือนป่าหรือเครื่องผูกมัดซึ่งก่อทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายหรือความคลายกำหนัด หรือเพื่อความรู้ หรือเพื่อนิพพาน ตถาคตตัดคำว่าทิฏฐิออกไป เพราะตถาคตเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของขันธ์ ๕ จึงหลุดพ้นอย่างไม่ถือมั่น เพราะสิ้นความยึดถือ สิ้นความคิดว่าเรา ว่าของเรา และสิ้นกิเลสประเภทแฝงตัว คือ ความถือตัว วัจฉโคตตปริพาชก กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่ามีแก่นสาร จึงแสดงตนเป็๋นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พระสุตตันตปิฎก เรียกว่า ยถานุโลมสาสนา คำสอนตามอนุโลม เพราะทรงสอนอนุโลมตามอัธยาศัย อนุสัย จริยา และอธิมุตติของผู้รับคำสอน           ๑. อัธยาศัย หมายถึง พื้นเพของจิต อย่างเดียวกับคำว่า สันดาน
          ๒. อนุสัย หมายถึง ส่วนลึกซึ้งของจิตยิ่งกว่าอัธยาศัย
          ๓ จริยา หมายถึง ปกติวิสัยของจิต อย่างเดียวกับคำว่า จริต
          ๔. อธิมุตติ หมายถึง แนวโน้มของจิตว่าจะรู้ธรรมได้ในแนวใด
          พระสูตรต่างๆ นั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนคล้อยตามอัธยาศัย อนุสัย จริยา และอธิมุตติอของบุคคล

๓. พระอภิธัมมปิฎก
          พระอภิธัมมปิฎก เรียกว่า นามรูปปริจเฉทกถา ว่าด้วยการกำหนดนามรูป อันเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีราคะ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยข้อธรรมล้วนๆ ไม่มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ แบ่งเป็น ๗ หมวดใหญ่ จำแนกคนออกเป็น ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) จำแนกเป็นหมวดย่อยลงไปเรื่อยๆ เป็นการแยกแยะให้เห็นความไม่งาม ความไม่เป็นแก่นสาร ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และความคลายกำหนัด หรือลดราคะลงได้

          พระอภิธัมมปิฎก เรียกว่า ยถาธัมมสาสนา คำสอนตามธรรม เพราะทรงสอนผู้สำคัญผิดว่าตัวเรา ของเรา ให้เห็นว่าเป็นเพียงกลุ่มแห่งธรรม

          สิ่งที่คนเรายึดถือกันดี คือ ร่างกายของแต่ละคน เมื่อยังเกาะกลุ่มกันอยู่ ก็ยึดถือว่าสวยงาม แต่เมื่อจำแนกเป็นส่วนย่อย ความงามจะหมดไป ยึดถืออะไรไม่ได้ ซึ่งร่างกายนี้จำแนกเป็นมหาภูตรูป รูปใหญ่ และอุปาทายรูป รูปอาศัย

มหาภุตรูป
จำแนกได้เป็น ๔ ธาตุ คือ
          ๑. ธาตุดิน ได้แก่ ผม ขน เล็บ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ไต ปอด พังผืด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
          ๒. ธาตุน้ำ ได้แก่ ของเหลวงในร่างกาย เช่น เลือด น้ำปัสสาวะ น้ำเหลือง น้ำหนอง
          ๓. ธาตุลม ได้แก่ ลม หรือก๊าซภายในร่างกาย
          ๔. ธาตุไฟ ได้แก่ ความอบอุ่นภายในร่างกาย

อุปาทายรูป รูปที่อาศัยมหาภูตรูปหรือเป็นส่วนย่อยของมหาภูตรูป ได้แก่ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย

รูปที่ตามองเห็น เสียงกลิ่น รส ความเป็นหญิง ความเป็นชาย สิ่งที่ให้สำเร็จการคิด ความเป็นอยู่ โอชารส สิ่งที่ขังอยู่ในช่องว่างของร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายได้ การพูดได้ ความเบา ความอ่อนสลวย ความคล่องแคล่ว ความเติบโต ความสืบต่อ ความทรุดโทรม ความไม่ยั่งยืน

          ร่างกายเมื่อจำแนกออกอย่างนี้แล้วจะยึดถือว่าสวยงาม เป็นตัวเรา เป็นของเราไม่ได้ เพราะเป็นเพียงกลุ่มแห่งธรรมรวมกันอยู่ การพิจารณาแยกแยะอย่างนี้เป็นอุบายให้คลายกำหนัด คลายความคิดในร่างกายทั้งของตนเองและของผู้อื่น
 
๏ พระพุทธศาสนาไม่สอนสิ่งที่ไม่จำเป็นแก่ชีวิต
          ข้อความนี้มาจาก จูฬมาลุงกโยวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ หน้า ๑๔๗ ข้อ ๑๔๓ มีใจ ความโดยสรุปดังต่อไปนี้

          พระมาลุงกยบุตรอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดขึ้นว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาเรื่องทิฏฐิ ๑๐ ประการ คือ
                    ๑.โลกเที่ยง
                    ๒.โลกไม่เที่ยง
                    ๓.โลกมีที่สุด
                    ๔.โลกไม่มีที่สุด
                    ๕.ชีวะกับสรีระ เป็นสิ่งเดียวกัน
                    ๖.ชีวะกับสรีระ เป็นคนละสิ่ง
                    ๗.สัตว์หลังจากตายแล้วเกิดก็มี
                    ๘.สัตว์หลังจากตายแล้วไม่เกิดก็มี
                    ๙.สัตว์หลังจากตายแล้วเกิดบ้างไม่เกิดบ้างก็มี
                    ๑๐.สัตว์หลังจากตายแล้วเกิดอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอยู่ก็ไม่ใช่
          การไม่ทรงตอบ เธอไม่พอใจ ถ้าทรงตอบเธอจะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป ถ้าไม่ทรงตอบ เธอจะลาสิกขา เธอจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธเจ้า
          
          พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงสัญญากับพระมาลุงกยบุตรว่า เข้ามาบวชแล้วจะทรงตอบปัญหาเหล่านี้ เมื่อไม่ได้ทำ สัญญากันไว้ ไม่ได้พูดกันไว้ จะมาทวงสัญญากับใคร ใครจะพูดว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาเรื่องโลกเที่ยง เป็นต้น จะไม่ ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป พระองค์ก็ไม่ทรงตอบ การที่พระองค์ไม่ทรงตอบ ใครมีอันต้องตายก็ปล่อยให้ตายไป
          จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบให้พระมาลุงกยบุตรฟังว่า เปรียบเหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติ มิตร ลูกน้อง หาหมอรักษา ให้ถอนลูกศรออก คนผู้นั้นห้ามไม่ให้ถอนลูกศรออก เพราะยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง ลูกศรนั้นยิงจากธนูชนิด ไหน สายธนูทำด้วยอะไร หางลูกศรทำด้วยอะไร คนผู้นั้นคงตายเปล่า
          พระพุทธเจ้าทรงสอนต่อไปว่า ปัญหาที่พระองค์ไม่ทรงตอบ ให้จำไว้ว่าไม่ทรงตอบ ปัญหาที่ทรงตอบ ก็ให้จำไว้ว่าทรงตอบ ปัญหาที่ไม่ทรงตอบ คือ ทิฏฐิ ๑๐ ประการนี้ ที่ไม่ทรงตอบเพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็น ไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธิ และนิพพาน สิ่งที่ทรงตอบ คือ อริยสัจ ๔ เพราะประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้อง ต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อนิพพิทา เป็นต้น
          เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาจบลง พระมาลุงกยบุตรพอใจ ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

          การที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาเรื่องทิฏฐิ ๑๐ ประการนี้ เพราะถ้าทรงตอบจะเป็นการสนับสนุนบางลัทธิ คัดค้านบาง ลัทธิ เท่ากับติดกับดักที่เจ้าลัทธินั้น ๆ วางไว้แล้ว พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาท่ามกลางลัทธิต่าง ๆ เป็นอันมาก จึงต้องระมัดระวังใน การตอบปัญหา
 
๏ ทิฏฐิ ๑๐
          คือ ความเห็นหรือหลักการที่เจ้าลัทธิต่าง ๆ ยึดถือกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ในพุทธกาลจนถึงหลังพุทธกาล เป็นความเห็นที่ยึดถือถึงปลายสุด ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เรียกว่า อันตคาหิกทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นอันยึดถือถึงปลายสุด ทิฏฐิ ๑๐ ประการนั้น มีคำอธิบายดังนี้
          ๑.โลกเที่ยง หมายความว่า สัตว์โลกตายแล้วเกิดอีก เคยเป็นอย่างไรต้องเกิดเป็นอย่างนั้น เช่น เคยเป็นคนต้องเกิดเป็นคน เคยเป็นผุ้ชายต้องเกิดเป็นผู้ชาย เคยเป็นผู้หญิงต้องเกิดเป็นผู้หญิง เคยเป็นสัตว์ชนิดใด ต้องเกิดเป็นสัตว์ชนิดนั้นตลอดไป
          ๒.โลกไม่เที่ยง หมายความว่า สัตว์โลกตายแล้วไม่เกิดอีก ขาดสูญไป
          ๓.โลกมีที่สุด หมายความว่า สัตว์โลกถ้าทำดีถึงที่สุด ก็จะได้เกิดเป็นเทวดาชั้นสูงที่ยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันอีกต่อไป ถึงที่สุดกันแค่นั้น หรือตายแล้วขาดสูญไปเลย ถึงที่สุดอีกรูปแบบหนึ่ง
          ๔.โลกไม่มีที่สุด หมายความว่า สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
          ๕.ชีวะกับสรีระเป็นสิ่งเดียวกัน หมายความว่า ชีวะ ซึ่งได้แก่ อัตตา หรือาตมัน หรือวิญญาณ กับสรีระ คือ ร่างกายเป็นสิ่ง เดียวกัน เกิดดับพร้อมกัน เมื่อร่ายกายตาย ชีวะก็ตายไปพร้อมกับร่างกายไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก
          ๖.ชีวะกับสรีระเป็นคนละสิ่ง หมายความว่า ร่างกายกับอาตมันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เมื่อร่างกายตาย อาตมันไม่ได้ตายไปด้วย แต่ยังคงอยู่ต่อไป
          ๗.สัตว์หลังตายแล้วเกิดก็มี หมายความว่า สัตว์โลกทั้งหลาย หลังจากตายแล้วต้องเกิดอีก
          ๘.สัตว์หลังตายแล้วไม่เกิดก็มี หมายความว่า สัตว์โลกทั้งหลาย หลังจากตายแล้วไม่เกิดอีก เสวยสุขยั่งยืนในหมู่ทิพยกายตลอดไป
          ๙.สัตว์หลังตายแล้วเกิดบ้างไม่เกิดบ้างก็มี หมายความว่า สัตว์โลกทั้งหลาย หลังจากตายแล้วบ้างก็ต้องเกิดอีก บ้างก็ไม่ เกิดอีก
          ๑๐.สัตว์หลังตายแล้วเกิดอยู่ก็ใช่ไม่เกิดอยู่ก็ใช่ หมายความว่า สัตว์โลกทั้งหลาย หลังจากตายแล้ว คงอยู่ในสภาพหนึ่ง ซึ่ง ไม่เรียกว่าเกิดหรือไม่เกิด
 
๏ พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีตอบปัญหา ๔ วิธี
          ๑.เอกังสพยากรณ์ ตอบยืนยันโดยส่วนเดียว หรือยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ามีผู้ถามเกี่ยวกับธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เช่น อริยสัจ ๔ พระองค์จะทรงตอบยืนยันอย่างเด็ดขาดว่า ผู้ปฏิบัติตาม อริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างครบถ้วน บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ย่อมพ้นทุกข์ได้แน่นอน
          ๒.วิภัชพยากรณ์ ตอบจำแนกแจกแจง กล่าวคือ มีเงื่อนไขเป็นตัวกำหนดคำตอบ เช่น ผู้ถามว่า คนตายแล้วเกิดเหมือนกันทุกคนหรือไม่ ทรงตอบว่า ผู้ละตัณหาได้หมดสิ้น เป็นพระอรหันต์แล้ว ตายแล้วไม่เกิดอีก เพราะสิ้นภพ สิ้นชาติกำเนิดแล้ว ส่วนผู้ที่ยังมีตัณหาอยู่ จะเป็นปุถุชน หรือพระอริยบุคคลชั้นต่ำก็ตาม ตายแล้วเกิดอีก เพราะยังไม่สิ้นภพสิ้นชาติ กำเนิด
          ๓.ปฏิปุจฉา ย้อนถามให้ผู้ถามเข้าใจด้วยตนเอง โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้ถามมีประสบการณ์ดีอยู่แล้ว
          ๔.ฐปนียะ งดไว้ไม่ตอบ ถ้ามีผู้ถามเกี่ยวกับลัทธิของเขา เช่นทิฏฐิ ๑๐ ประการ พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ การตอบปัญหาเช่น นั้น ไม่มีประโยชน์ทางพุทธศาสนา กล่าวคือ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา ความเบื่อหน่ายในทุกข์ วิราคะ การคลายความติดในทุกข์ นิโรธ ความดับทุกข์ อุปสมะ ความสงบกิเลสและความทุกข์ อภิญญา ความรู้ระดับสูง สัมโพธะ ความตรัสรู้และนิพพาน ความดับ กิเลส และความทุกข์ได้สิ้นเชิง อีกประการหนึ่งไม่ว่าพระองค์จะตอบว่าอย่างไร ก็จะเป็นการสนับสนุนลัทธิใดลัทธิหนึ่งทั้งสิ้น เจ้า ลัทธินั้น ๆ ก็จะอ้างว่าพระพุทธเจ้าสนับสนุนตน จึงไม่ทรงตอบ