๏ สำหรับผู้เปิดใจกว้างพอที่จะรับฟังรับรู้เรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อนำไปประยุกต์ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตสืบไป |
๏ ทศพิธราชธรรม ๑๐ |
ทศพิธราชธรรม แปลว่า ธรรมแห่งการปกครองมี 10 ประการ หรือธรรมแห่งพระมหากษัตริย์ 10 ประการ ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ราชธรรม 10 นี้ ปรากฏอยู่ในมหาหังสชาดก พระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ปรากฏพระคาถา ซึ่งมีคำโศลกที่บัณฑิตยกขึ้นกล่าวถวายแด่พระมหากษัตริย์ |
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ | อาชฺชวํ มทฺทวํ | |
อกฺโกธํ อวิหิํสญฺจ | ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ | |
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม | ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ | |
ตโต เต ชายเต ปีติ | โสมนสฺสธฺจนปฺปกํ |
คำกล่าวตามโศลกนี้ แปลว่า ขอพระองค์ทรงพิจารณาเห็นราชธรรมที่เป็นกุศลเหล่านี้ คือ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ตบะ ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน การปฏิบัติไม่ผิด ลำดับนั้นพระปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจะเกิดมีแด่พระองค์ เพราะได้ทรงพิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้มีในพระองค์เป็นนิตย์ ทศพิธราชธรรมนี้ ไม่ใช่เป็นธรรมเฉพาะพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ปกครองประชาชนชั้นสูงสุดเท่านั้น แต่เป็นธรรมสำหรับผู้ปกครองทั่วไป ตั้งแต่ประมุขรัฐบาลลงมาถึงหัวหน้าครอบครัว ทั้งเป็นธรรมสำหรับผู้ในปกครองด้วย เพราะการปกครองจะเป็นไปด้วยดี ทั้ง ๒ ฝ่าย ต้องประพฤติธรรมเหล่านี้ตามฐานะของตน คือ |
๑. ทาน | ๖. ตบะ | ||
๒. ศีล | ๗. อักโกธะ | ||
๓. บริจาค | ๘. อวิหิงสา | ||
๔. อาชวะ | ๙. ขันติ | ||
๕. มัทวะ | ๑๐. อวิโรธนะ |
๑. ทาน |
ทาน คือ การให้ |
ประเภทของทาน ลักษณะของทานหรือสิ่งที่ควรให้ แบ่งเป็น ๓ ประเภท |
๑. วัตถุทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง บ้านเรือน ที่ดิน เป็นต้น ๒. ธรรมทาน คือ การให้เพื่อความถูกต้องยุติธรรม เช่น ให้การศึกษา การแนะนำ การตักเตือน การสั่งสอน เป็นต้น ๓. อภัยทาน คือ การให้อภัย การไม่ถือโทษ หรือการยกเว้นโทษให้ เช่น การอภัยโทษแก่ผู้ต้องขัง การคุ้มครองสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ เป็นต้น |
สิ่งที่เป็นทาน สิ่งที่ควรให้มีหลายประการ ซึ่งย่อมแตกต่างไปตามเหตุการณ์และบุคคล ได้แก่ |
๑. วัตถุสิ่งของ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นต้น ๒. กำลังกายทาน เช่น การช่วยทำงาน การช่วยดูแล การเสียสละแรงกาย เป็นต้น ๓. กำลังวาจา เช่น การช่วยพูดเจรจาเพื่อให้ประโยชน์ได้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย เป็นต้น ๔. กำลังความคิด เช่น การช่วยแนะนำ การช่วยคิด เป็นต้น ๕. กำลังปัญญา เช่น การอบรม การสั่งสอน การให้ความรู้ เป็นต้น ๖. อภัย เช่น การยกโทษให้ การให้อภัยแก่ผู้ล่วงเกิน เป็นต้น ๗. ธรรม เช่น การให้ความยุติธรรม การยึดถือความถูกต้องและคุณธรรม การส่งเสริมให้ทำความดี เป็นต้น ๘. การช่วยชีวิตคนและสัตว์ การคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่า สัตว์น้ำ เป็นต้น |
วัตถุประสงค์ของทาน ในการให้อาจจำแนกฐานะของการให้หรือวัตถุประสงค์ที่ให้ ได้ดังนี้ |
๑. ให้เพื่อบูชาคุณ ได้แก่ ให้แก่ผู้ใหญ่ หรือผู้มีฐานะสูงกว่าผู้ให้ ๒. ให้เพื่ออนุเคราะห์ ได้แก่ ให้แก่ผู้เท่าเทียมกัน หรือผู้มีฐานะเท่ากับผู้ให้ ๓. ให้เพื่อสงเคราะห์ ได้แก่ ให้แก่ผู้น้อย หรือผู้มีฐานะต่ำกว่าผู้ให้ |
๒. ศีล |
ศีล คือ ข้อปฏิบัติทางกายและวาจาในทางที่ดีที่ชอบ ที่ถูกที่ควร |
ประเภทของศีล อาจจำแนกตามสถานะของผู้รักษาศีลได้ ๒ ประเภท คือ |
๑. บรรพชิตศีล คือ ศีลของนักบวช ได้แก่ ศีล ๑๐ ข้อ ของสามเณร และศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระภิกษุ ๒. คฤหัสถศีล คือ ศีลของผู้ครองเรือน หรือผู้ที่ไม่ได้เป็นนักบวช เช่น ศีล ๕ ข้อ สำหรับบุคคลทั่วไป และอุโบสถศีล หรือศีล ๘ ข้อ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา |
การปฏิบัติศีล การปฏิบัติเพื่อรักษาศีล ได้แก่ การงดเว้นไม่ละเมิดศีล ด้วยวิธีต่อไปนี้ |
๑. สัมปัตตวิรัติ เป็นการงดเว้นปฏิบัติเฉพาะหน้า กล่าวคือ แม้จะไม่ได้สมาทานศีล เมื่อประสบกับสิ่งเย้ายวนยั่วยุให้ละเมิดศีล ก็ไม่ปฏิบัติ เช่น พบเห็นเงินทองสิ่งของมีค่าของผู้อื่นวางไว้ ก็ไม่หยิบฉวยมาเป็นของตน เป็นต้น พฤติกรรมเช่นนี้จัดเป็นผู้มีศีลโดยไม่ได้สมาทาน ๒. สมาทานวิรัติ หมายถึง การงดเว้นเพราะสมาทานศีลมาก่อน กล่าวคือ เมื่อได้สมาทานศีล หรือรับศีลมาแล้ว นับว่าเป็นผู้มีศีล ต้องไม่ละเมิดศีลที่รับมา ๓. สมุจเฉทวิรัติ หมายถึง การงดเว้นได้เด็ดขาด เป็นศีลที่เกิดขึ้นเองของพระอริยบุคคลโดยไม่ต้องมีการสมาทาน เช่น พระโสดาบัน มีศีล ๕ เกิดขึ้นเอง พระอนาคามี มีศีล ๘ เกิดขึ้นเอง เป็นต้น |
๓. บริจาค |
บริจาค คือ การสละ หมายถึง การเสียสละ หรือการปล่อยวาง บริจาคมีความหมายซ้ำกับคำว่าทานอยู่ส่วนหนึ่งในหมวดที่มีทั้งทานและบริจาค แต่...บริจาค จะหมายถึงส่วนที่ไม่ซ้ำกับทาน สิ่งที่ควรบริจาค หรือควรเสียสละ ได้แก่ ๑. การสละวัตถุสิ่งของ เป็นการสละเพื่อส่วนรวม หรือชาติต้องการสิ่งนั้น เช่น การสละสิ่งของ การสละทรัพย์ เป็นต้น ๒. การสละกิเลส เป็นการสละเพื่อความถูกต้องยุติธรรม เป็นการสละสิ่งที่มีคุณค่าน้อยเพื่อให้ได้สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ดังคำเปรียบเทียบว่า สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม การสละกิเลสได้แก่ การไม่เห็นแก่ตัว การไม่ตระหนี่ การพูดความจริง เป็นต้น ๓. การสละตน เป็นการสละตนเองเพื่อทำ หรือส่งเสริมการทำความดี ความถูกต้องและยุติธรรม ได้แก่ การสละร่างกาย การสละคำพูด การสละความคิด เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือความถูกต้อง เป็นต้น |
๔. อาชวะ |
อาชวะ คือ ความซื่อตรง ความเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวง หรือคิดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง สิ่งที่ทำ คำที่พูด ย่อมตรงกับความคิดอันซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม บุคคลควรซื่อตรงต่อสิ่งต่อไปนี้ |
๑. ซื่อตรงต่อบุคคล ในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น จะต้องมีความซื่อตรงต่อบุคคลนั้น เช่น ผู้บังคับบัญชาซื่อตรงต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาซื่อตรงต่อผู้บังคับบัญชา มิตรซื่อตรงต่อมิตร สามีภรรยาซื่อตรงต่อกัน เป้นต้น |
๒. ซื่อตรงต่อเวลา จะประกอบกรรมทำสิ่งใด จะต้องเป็นผู้ตรงต่อเวลาในการทำกิจวัตรนั้น เช่น ต้องเข้าเรียนให้ทันตามเวลาที่กำหนด ต้องมาทำการงานให้ทันตามเวลาที่กำหนด ส่งการบ้าน หรือส่งการงานตามที่รับมอบหมาย ชาวนาจะต้องปลูกในฤดูที่มีฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ คือเหมาะสมตามกาลเวลา เป็นต้น |
๓. ซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ การปฏิบัติตามหน้าที่ ปฏิบัติให้ถูกหน้าที่ งานที่ปฏิบัติจะสำเร็จด้วยความถูกต้องและไม่มีมลทิน ได้แก่ การไม่ทุจริตต่อหน้าที่ การไม่ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอคติ และมีคุณธรรมประจำใจ โดยไม่ยอมทำผิดไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ |
๕. มัทวะ |
มัทวะ คือ ความอ่อนโยน หมายถึง ความอ่อนโยนไปตามเหตุผล ไม่ดื้อดึงด้วยอำนาจ อุปกิเลส คือ ถัมภะ และไม่กระด้างกระเดื่องด้วยอำนาจอำเภอใจ หรือขัตติยมานะ การแสดงความอ่อนโยนอาจแตกต่างไปบ้างตามวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติภูมิ รวมทั้งกาละและเทศะในการแสดงออก ได้แก่ ๑. มีสัมมาคารวะ คือ ความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ผู้เจริญ หรือผู้มีศักดิ์สูง ๒. อ่อนโยนไปตามสมควร คือ ความอ่อนโอนไปตามเหตุผลที่ถูก ที่ควร ๓. มีความสุภาพ คือ การแสดงกิริยา มารยาทที่สุภาพต่อบุคคลที่คบหาสมาคม ทั้งที่เสมอกันและต่ำกว่า ๔. วางตนสม่ำเสมอ คือ การไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นด้วยชาติกำเนิด ยศ ทรัพย์ และความรู้ |
๖. ตบะ |
ตบะ คือ ความแผดเผา หมายถึง การแผดเผากิเลส โดยเฉพาะความเกียจคร้าน ดังนั้น ตบะ จึงหมายถึง ความเพียร ซึ่งใช้เป็นชื่อธรรมอย่างอื่นได้บ้าง เช่น ตบะของพราหมณ์ คือ การเล่าเรียนพระเวท ตบะของกษัตริย์ คือ การคุ้มครองไพร่ฟ้าประชาชน ตบะของแพศย์ คือ การทำบุญให้ทานแก่พราหมณ์ ตบะของศูทร คือ การรับใช้ ตบะของฤษี คือ การบำเพ็ญตบะ โดยนัยนี้ ตบะ หมายถึง การตั้งใจกำจัดความเกียจคร้าน และการทำผิดหน้าที่ โดยมุ่งปฏิบติหน้าที่ให้ดีที่สุดอย่างสม่ำเสมอ |
ลักษณะของผู้มีตบะ |
๑. เป็นผู้มีหน้าที่ใด ปฏิบัติหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด ๒. เป็นผู้ปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปกครองให้บริบูรณ์ ๓. เป็นผู้ใต้ปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้ปกครองให้บริบูรณ์ ๔. เป็นผู้มีความเพียรเด็ดเดี่ยว ไม่ย่อท้อถอยหลังเป็นอันขาด |
ลักษณะของผู้ไม่มีตบะ |
๑. พระราชาผู้เอาชนะบุคคลที่ไม่ควรชนะ ไม่ชื่อว่าพระราชา ๒. เพื่อนผู้เอาชนะเพื่อน ไม่ชื่อว่าเพื่อน ๓. ภริยาผู้ไม่อุปการะยำเกรงสามี ไม่ชื่อว่าภริยา / สามีผู้ไม่อุปการะยำเกรงภรรยา ไม่ชื่อว่าเป็นสามี ๔. บุตรผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่า ไม่ชื่อว่าบุตร ๕. สภาไม่มีสัตบุรุษ (คนดี คนมีศีลธรรม) ไม่ชื่อว่าสภา ๖. ผู้พูดไม่เป็นธรรม (ไม่มีเหตุผล) ไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ |
*อุปการะ เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตว่า อุปการ (อ่านว่า อุ -ปะ-กา-ระ) แปลว่า ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความอุดหนุน เช่น มิตรอุปการะ หมายความถึง เพื่อนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นเพื่อนแท้ ในภาษาไทยใช้เป็นคำกริยาก็ได้ หมายความว่า ช่วยเหลือ เลี้ยงดู ให้เงิน ให้อาหารเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ |
๗. อักโกธะ |
อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ หมายถึง การไม่แสดงความโกรธให้ปรากฎ ซึ่งความโกรธอาจจะมีในใจ โดยมิได้ละให้หมดสิ้น แต่ไม่แสดงให้ปรากฏทางสีหน้า วาจา และกิริยาท่าทาง รวมถึงไม่พยาบาทมุ่งร้ายผู้อื่น แม้จะต้องลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล ไม่ทำด้วยอำนาจความโกรธ |
ลักษณะของผู้โกรธ |
๑. แสดงออกทางร่างกาย เช่น ทำร้าย ขว้างปาสิ่งของ เป็นต้น ๒. แสดงออกทางวาจา เช่น ด่าว่า โต้เถียง ขึ้นเสียงดัง เป็นต้น ๓. แสดงออกทางกิริยาท่าทาง เช่น เคลื่อนไหวร่างกายรวดเร็วผิดปกติ ตัวสั่น เป็นต้น ๔. แสดงออกทางใบหน้า เช่น หน้าแดง หน้าตาถมึงทึง เม้มริมฝีปาก เป็นต้น |
ลักษณะของผู้ไม่โกรธ |
ผู้ไม่โกรธมีลักษณะตรงข้ามกับผู้โกรธ กล่าวคือ มีหน้าตา กิริยา ท่าทาง และคำพูดที่เป็นปกติ เพราะบุคคลผู้นั้นข่มใจไว้ได้ ไม่แสดงความโกรธออกมาให้ปรากฎ โดยการควบคุมทุกส่วนของร่างกายไม่ให้ผิดไปจากปกติ |
๘. อวิหิงสา |
อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน หมายถึง การไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ลำบาก การไม่ก่อความทุกข์ยากให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งสัตว์ทุกชนิดด้วย |
๑. ไม่เกณฑ์แรงงานราษฎรโดยไม่มีค่าจ้างตอบแทน ๒. ไม่เก็บภาษีสูงเกินไปจนราษฎรเดือดร้อน ๓. ไม่เวนคืนที่ดินหรือขับไล่ราษฎรจากที่อยู่อาศัยโดยไม่ชดใช้ให้เหมาะสมกัน ๔. ไม่กลั่นแกล้งจับกุมราษฎรด้วยข้อหาอันเลื่อนลอย ๕. ไม่ดูถูกดูหมิ่นราษฎรด้วยประการใดๆ ๖. ไม่ล่าสัตว์ เช่น ยิงนก ตกปลา เป็นต้น ด้วยเห็นเป็นของสนุกสนาน ๗. ไม่เล่นการพนันที่ทรมานสัตว์ เช่น กัดปลา ชนไก่ ชนวัว เป็นต้น |
๙. ขันติ |
ขันติ คือ ความอดทน หมายถึง การระงับยับยั้งจิตใจไม่ให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส ไม่ให้รู้สึกท้อถอยในการทำงานหนัก และไม่ให้กระสับกระส่ายเพราะความเจ็บไข้ ขันติมีลักษณะดังนี้ ๑. อดทนต่อโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อประสบอารมณ์ที่ยั่วให้เกิดการอยากได้ อยากล้างผลาญ อยากเบียดเบียน ก็อดทนอดกลั้นไว้ ไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาทางกาย ทางวาจา ๒. อดทนต่อทุกขเวทนา เช่น หนาวเกินไป ร้อนเกินไป หรือความเจ็บไข้อย่างอื่น ก็อดทนอดกลั้นไว้ไม่แสดงทุกขเวทนานั้น ๓. อดทนต่อถ้อยคำที่มีผู้กล่าวร้าย ไม่เป็นที่ชอบใจ ก็อดทนไว้ไม่แสดงออก |
๑๐. อวิโรธนะ |
อวิโรธนะ คือ ความไม่ผิด หมายถึง การไม่ประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากความถูกต้องและสมควร มีลักษณะดังนี้ ๑. รู้ว่าผิดแล้วไม่ดื้อขืนทำ ๒. ไม่ทำผิดจากความยุติธรรมด้วยอำนาจอคติ ๓. ไม่ทำผิดจากปกติ คือ เมื่อประสบความเจริญหรือความเสื่อมก็รักษาอาการทางกายและวาจาไว้ให้คงที่ ไม่ยินดียินร้าย หรือเศร้าโศก |