• ปรัชญาธรรมนำทาง •
๏ สำหรับผู้เปิดใจกว้างพอที่จะรับฟังรับรู้เรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อนำไปประยุกต์ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตสืบไป
1:2:3:4:5:6:7:8:9:10
๏ ความไม่ประมาท
          อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ
          ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

          ความประมาท (ปมาท) คือ ความเลินเล่อ เผลอสติ ไม่สำรวมระวัง กาย วาจา ใจ

          ความไม่ประมาท คือ ความมีสติ ได้แก่ ความระลึกได้ก่อนทำ ก่อนพูด และมีความยั้งคิด รอคอบ มีความคิดจดจำการที่ทำ คำที่พูดแล้ว แม้เวลาจะล่วงไปได้นานก็ไม่หลงลืม

          สติ คือ ความระลึกรู้สึกตัวเสมอ ความมีสติต้องใช้ในกิจกรรมทุกอย่าง ตั้งแต่การทำงานปกติ เช่น การเดินตามถนน การเขียนหนังสือ การขับรถ จนถึงการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย รวมทั้งการทำการงาน ทางใจ หรือการปฏิบัติกรรมฐาน และการปฏิบัติขั้นสูง

          ทุกคนควรรู้จักฝึกตนไม่ให้ประมาท หรือให้เป็นผู้ไม่ประมาท โดยแต่ละคนสามารถปฏิบัติฝึกฝนตามความสมัครใจในคำสอนแต่ละระดับ
     
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ
ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ
ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย
  ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
เย ปมตฺตา ยถา มตา
ผู้ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว
 
ลักษณะของความประมาท
          ๑. ปล่อยจิตไปในกามคุณทั้งหลาย ด้วยการประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ โดยไม่รู้จักยับยั้ง
          ๒. ไม่ตั้งใจทำความดี ไม่ทำความดีสม่ำเสมอ หรือทำๆ หยุดๆ
          ๓. ท้อถอย หมดความยินดีความตั้งมั่นในการทำความดี ความดีจึงไม่เจริญขึ้น
          ๔. ความชั่วจะเพิ่มพูน ความดีจะสูญสิ้น เพราะความประมาทและความชั่วจะเข้ามาแทนที่

ลักษณะของความไม่ประมาท
          ความไม่ประมาท มีลักษณะตรงกันข้ามกับความประมาท กล่าวคือ ความดีงอกงาม ความชั่วทรามหมดสิ้น เพราะความไม่ประมาท ทุกคนควรมีความไม่ประมาท โดยแบ่งได้ ๒ ระดับ คือ

๑. ความไม่ประมาทในธรรมขั้นต่ำ ได้แก่ การไม่ประพฤติปฏิบัติความชั่ว ๔ ประการ คือ
          ในการ ละ กายทุจริต บำเพ็ญ กายสุจริต
          ในการ ละ วจีทุจริต บำเพ็ญ วจีสุริต
          ในการ ละ มโนทุจริต บำเพ็ญ มโนสุจริต
          ในการ ละ ความเห็นผิด ทำ ความเห็นให้ถูก
          ผู้มีความไม่ประมาทในฐานะ ๔ ประการนี้บริบูรณ์แล้ว นับได้ว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่กลัวตายไม่ว่าเวลาใด

๒. ความไม่ประมาทในธรรมขั้นสูง ได้แก่ การปฏิบัติตนเพื่อรักษาจิต ๔ ประการ คือ
          ระวังรักษาจิต ไม่ให้กำหนัด
          ระวังรักษาจิต ไม่ให้ขัดเคือง
          ระวังรักษาจิต ไม่ให้ลุ่มหลง
          ระวังรักษาจิต ไม่ให้มัวเมา
 
๏ ความเคารพ
          คารโว จ แปลว่า ความเคารพ ความเคารพ คือ กิริยาอาการที่ยกย่องเชิดชูบุคคลหรือสิ่งที่ควรยกย่องเชิดชูที่แสดงถึง ความเคารพ ได้แก่ การไหว้ การกราบ การนบนอบ การอ่อนน้อม การต้อนรับ การสำรวมกิริยาให้สงบ และความเอื้อเฟื้อเอาใจใส่ ตรงกันข้ามกับความดูหมิ่นเหยียดหยาม

สิ่งที่ควรเคารพ โดยย่อ มี ๒ ประการ คือ บุคคล และธรรม

การเคารพบุคคล บุคคลที่ควรเคารพ เป็นผู้เจริญกว่าโดยคุณความดี เคารพด้วยความอ่อนน้อม ฟังคำแนะนำสั่งสอน ไม่ละเมิด ยกย่องเชิดชูบำรุงตามควรแก่กาลเทศะ เช่น พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา พระมหากษัตริย์ ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่

การเคารพธรรม บุคคลควรเคารพพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและความถูกต้องดีงาม ดังนี้
          พระธรรม เคารพด้วยการปฏิบัติตาม เว้นตามข้อห้ามและปฏิบัติตามข้อที่อนุญาตไว้
          ความสุจริต เคารพด้วยมีความละอายใจในการประกอบกรรมทุจริต ไม่ฝ่าฝืนประพฤติละเมิดระเบียบข้อบังคับ ทั้งในที่ลับ และที่แจ้ง
          ความเที่ยงตรง เคารพด้วยเป็นผู้เที่ยงธรรมในหน้าที่ ไม่ประพฤติลำเอียง เพราะรัก ชัง เขลา หรือกลัว
          หน้าที่ของตน เคารพด้วยการตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง
          หน้าที่ของผู้อื่น เคารพด้วยการไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือตามสมควร
 
๏ การอ่อนน้อมถ่อมตน
          นิวาโต จ แปลว่า ความไม่มีลม คือ ไม่มีลมที่เป็นเหตุให้พองตัวให้อวดตัว ซึ่งหมายถึง การนำความเย่อหยิ่งออกไป จึงเป็นการลดตนลง หรือถ่อมตัวลง ความเย่อหยิ่ง คือ การทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่น ได้แก่ ความกระด้าง ขาดความละมุนละม่อมอ่อนโยนของกิริยาวาจาและอัธยาศัย

เหตุแห่งความเย่อหยิ่ง ทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่นด้วยสิ่งต่อไปนี้
๑. ชาติกำเนิดสูง
๒. ความมั่งมีทรัพย์สิน
๓. ตระกูลวงศ์อันเป็นที่ยกย่องนับถือ
๔. วิชาความรู้

ลักษณะของความอ่อนน้อมถ่อมตน
๑. ไม่ถือตัวเพราะชาติ สกุล ทรัพย์ ยศ และวิชาความรู้
๒. มีความเคารพยำเกรงต่อผู้เจริญกว่าโดยคุณความดี
๓. มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีต่อผู้อื่น
๔. มีความเมตตาช่วยเหลือผู้น้อยตามสมควร
๕. ให้ความช่วยเหลือร่วมมือแก่บุคคลทั่วไปตามความเหมาะสม
 
๏ ความสันโดษ
สันโดษ แปลว่า ความยินดีหรือความพอใจกับสิ่งของของตน หมายถึง มีความชอบใจ พอใจ หรือยินดีกับสิ่งของที่ตนเองมีอยู่ คือ ไม่สนใจและไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น

สันโดษ มีลักษณะ ๓ ประการ
          ๑. ยินดีกับสิ่งของของตน คือ ทรัพย์สินที่ตนหามาได้โดยสุจริต ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ทรัพย์สินนั้นๆ จัดว่าเป็นสิ่งของของตน ความยินดีกับสิ่งของของตนนี้ ช่วยขจัดความเกียจคร้านและความโลภได้ ส่งผลให้ พึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระของผู้อื่น เป็นผู้มีสัมมาอาชีวะ(ประกอบอาชีพสุจริต) เป็นคนขยัน ส่งเสริมความเจริญของประเทศชาติ
          ๒. ยินดีกับสิ่งของที่มีอยู่ คือ ทรัพย์สินใดๆ ก็ตามที่ตนเองมีอยู่จะมีมากหรือน้อยก็ตาม ก็มีความพอใจและยินดีเท่าที่ตนมีอยู่เท่านั้น แม้ว่าจะได้รับหรือมีน้อยกว่าที่เคยคาดหวังแต่ก็พอใจ
          ๓. ยินดีกับสิ่งของที่ควรแก่ตนเอง คือ มีความพอใจในประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพย์สินของตน แม้ว่าประโยชน์นั้นจะน้อยกว่าที่คาดหวังเล็งผลไว้ก็พอใจตามจริง

ความสันโดษมี ๓ อย่าง คือ
          ๑. ยถาลาภสันโดษ คือ ความยินดีตามที่ได้ หมายถึง สิ่งใดๆ ก็ตามที่ได้มาด้วยความเพียรพยายามของตนเอง และด้วยความสุจริต ก็มีความพอใจกับสิ่งนั้น ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น และไม่คิดริษยาคนอื่นด้วย
          ๒. ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลังหรือตามควรแก่สมรรถภาพ หมายถึง คนแต่ละคนมีกำลังและมีความสามารถไม่เท่ากัน ผลที่เกิดขึ้นย่อมไม่เท่ากัน การที่มีความยินดีและพอใจตามกำลังและความสามารถของตนเอง
          ๓. ยถาสารุปปสันโดษ คือ ยินดีตามสมควร หมายถึง มีความยินดีและพอใจตามสมควรแก่ฐานะและภาวะของตนเอง

          ความสันโดษ เป็นมงคลชีวิตอย่างสูงสุด เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ
 
๏ ความอดทน
          ขนฺตี จ แปลว่า ความอดทน
          ความอดทน หมายถึง การมีความอดทนและการมีความอดกลั้น

๑. ความอดทนต่อทุกขเวทนา
          ความอดทนต่อทุกขเวทนาหรือความเจ็บไข้ เรียกว่า อธิวาสนขันติ อธิวาสนะ แปลว่า การอยู่อย่างสงบ อธิวาสขันติ จึงแปลว่า ความอดทนโดยอยู่อย่างสงบ
          เวลาเจ็บไข้เป็นช่วงที่มีทุกขเวทนาครอบงำ บางคนกระสับกระส่าย ดิ้นรนครวญคราง เพราะเป็นผู้มีกำลังใจอ่อนแอ ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดโยนิโสมนสิการ ยากแก่การรักษาพยาบาล ผู้เจ็บป่วยที่มีกำลังใจเข้มแข็งอดทน ทำตนให้เป็นคนง่ายแก่การรักษาพยาบาล ไม่เป็นคนใจเสาะกลัวตาย อธิวาสนขันติ จะมีขึ้นได้ด้วยอาศัยการฝึกโดยปัญญา พิจารณาให้เห็นว่า การดิ้นรนกระสับกระส่ายนั้น ไม่ทำให้หายหรือคลายคามเจ็บป่วยได้ แต่กลับทำให้น่าเกลียด เป็นที่รำคาญของผู้รักษาพยาบาลและผู้พบเห็น การอดทนไว้อยู่ในอาการสงบจะงดงามกว่า ดั่งพุทธภาษิตว่า

          ขนฺติ ธีรสฺสลงฺกาโร แปลว่า ความอดทนเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ แสดงว่าผู้มี อธิวาสนขันติ เป็นคนฉลาด สามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในอาการปกติได้

๒. ความอดทนต่อการทำงานหนัก
          ความอดทนต่อการทำงานหนักหรือความยากลำบากตรากตรำ เรียกว่า ธิติขันติ (ธิติ แปลว่า ความทนทาน ธิติขันติ จึงแปลว่า ความอดทนโดยการทนทาน) ผู้ที่ทำงานหนักโดยใช้กำลังกายหรือความคิดย่อมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ผู้ทำงานไม่ว่าจะหนักและเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็อดทนทำงานโดยรู้จักพักและผ่อนแรงเป็นระยะๆ ย่อมทำงานได้นาน และงานเสร็จในไม่ช้า เป็นผู้มีธิติขันติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการอบรมจิตใจเป็นคนหนักเบาเอาสู้ มีความพึงพอใจและบากบั่นในการทำงาน มีความทนทานไม่ท้อถอย ทำงานให้สำเร็จเกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นดังพุทธภาษิตว่า

          ขนฺติ หิตสุขาวหา แปลว่า ความอดทนนำประโยชน์สุขมาให้

๓. ความอดทนต่อความเจ็บใจ
          ความอดทนต่อความเจ็บใจ หรือความอดทนต่อการถูกกล่าวร้าย เรียกว่า ตีติกขาขันติ (ตีติกขา แปลว่า ความอดกลั้น ตีติกขาขันติ จึงแปลว่า ความอดทนโดยการอดกลั้น) คนถูกกล่าวร้าย มักทำให้เกิดโทสะ ใจเดือดพลุกพล่าน การยับยั้งความโกรธไม่ให้กำเริบ รุนแรง สะกดใจไว้ ไม่ยอมกระทำตามอำนาจความโกรธนั้น เป็นผู้มีตีติกขาขันติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการฝึกอบรมจิตใจให้โทสะลดน้อยลง ไม่ยอมแพ้กิเลสของตน กลายเป็นคนมีตบะที่ใครๆ ยำเกรง ดังพุทธภาษิต

          ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ความอดทน คือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
 
๏ ประโยชน์สุขแก่บุคคลและสังคม
 
          ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในปัจจุบัน ได้แก่ การตั้งตัวได้อย่างมั่นคงมีทรัพย์ใช้จ่าย ไม่ขัดสน หลักปฏิบัติเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในปัจจุบัน มี ๔ ประการ คือ
          ๑. อุฏฐานสัมปทา มีความขยันอย่างเต็มที่ในการทำงานหาทรัพย์
          ๒. อารักขสัมปทา รักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่นขยันนั้นไว้เป็นอย่างดี ไม่ให้เป็นอันตราย ไม่ใช้จ่ายจนหมดสิ้น มีเก็บไว้ตามสมควร
          ๓. กัลยาณมิตตตา คบเพื่อนที่ดี กล่าวคือ คบมิตรแท้ ไม่คบมิตรเทียม เพราะมิตรเทียมชักจูงให้ใช้จ่ายทรัพย์ไปในทางอบายมุข
          ๔. สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้
ผู้ปฏิบัติตามหลัก ๔ ประการ นี้ อย่างเคร่งครัด ย่อมได้รับประโยชน์ในปัจจุบันอย่างแน่นนอน โดยเป็นผู้มีฐานะมั่นคง มีความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยมีทรัพย์สำหรับทำบุญ สำหรับช่วยเหลือสังคม และสำหรับใช้จ่ายกรณีจำเป็น สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น และสงบสุข
 
          สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ในภายหน้า คือ ในอนาคตของชาติปัจจุบันนี้หรือในชาติต่อๆ ไป ได้แก่ ความอุ่นใจว่าได้ทำความดีไว้พร้อมแล้ว สามารถหวังความเจริญในอนาคต หรือหวังสุคติในชาติต่อไปได้ หลักปฏิบัติเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในภายหน้ามี ๔ ประการ คือ
          ๑. สัทธาสัมปทา มีศรัทธาที่ถูกต้อง กล่าวคือ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่ามีจริง เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายได้รับผลดีหรือผลชั่วเป็นเพราะการกระทำดี หรือการกระทำชั่วของตน เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
          ๒. สีลสัมปทา มีศีลบริสุทธิ์ตามภูมิชั้นของตน ผู้มีศีลบริสุทธิ์ย่อมได้รับอานิสงส์ของศีล คือ สีเลน สุคติํ ยนฺติ ไปสู่สุคติก็เพราะศีล สีเล โภคสมฺปทา มีโภคทรัพย์สมบูรณ์ก็เพราะศีล สีเลน นิพฺพุติํ ยนฺติ จะบรรลุนิพพานก็เพราะศีล
          ๓. จาคสัมปทา ทำการบริจาคอย่างสมบูรณ์ ทั้งให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน ให้การแนะนำ สั่งสอน เสียสละเวลา กำลังกาย กำลังความคิด กำลังปัยญาเพื่อผู้อื่น และสลัดกิเลส สิ่งทำใจให้เศร้าหมองให้เหลือน้อยลง
          ๔. ปัญญาสัมปทา มีปัญญาเพียบพร้อม รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ รู้จักเว้นบาปบำเพ็ญบุญ เว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
ผู้ปฏิบัติตามหลัก ๔ ประการ นี้ แล้ว ย่อมได้รับประโยชน์ในภายหน้า คือ ได้รับความสุขกายสบายใจในบั้นปลายชีวิต และมีสคติเป็นที่หวังได้เมื่อยามสิ้นชีวิต
 
          ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ นิพพาน ความดับกิเลสสละกองทุกข์ได้สิ้นเชิง จะบรรลุได้ด้วยการดำเนินตามอริยมรรค มีองค์ ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ การระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ เมื่อปฏิบัติตามอริยมรรค ย่อมได้รับผลสมควรแก่การปฏิบัติ
 
๏ ความสุขและวิธีปฏิบัติให้ถึงความสุข
 
โลกิยสุข ความสุขของคฤหัสถ์มี ๔ ประการ
๑. สุขเกิดจากความมีทรัพย์ ได้แก่ ความอิ่มใจที่มีทรัพย์ ความอุ่นใจที่มีทรัพย์ใช้สอย และความมีทรัพย์เป็นเหตุให้เกิดความสุขอื่นๆ
๒. สุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์บริโภค ได้แก่ การจ่ายทรัพย์จัดหาสิ่งบำรุงความสุขทางกายและความสุขทางใจได้อย่างเต็มที่ไม่ขาดแคลน
๓. สุขเกิดจากความไม่ต้องเป็นหนี้ การเป็นหนี้ผู้อื่นเป็นความทุกข์ เพราะต้องเจียดทรัพย์ส่วนหนึ่งใช้หนี้ ทำให้ฝืดเคือง และมีความหนักใจในการใช้หนี้ เกรงว่าจะหาทรัพย์มาใช้หนี้ไม่ทัน ความไม่เป็นหนี้เป็นความสุข
๔. สุขเกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ คฤหัสถ์ผู้ประกอบสัมมาอาชีพ ได้ทรัพย์มาโดยสุจริตและชอบธรรมย่อมมีความสุข เพราะไม่ต้องทำทุจริต เช่น ลักขโมย ยักยอก ฉ้อโกง ซึ่งมีโทษตามกฎหมายและผิดศีลธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
 
โลกุตตรสุข
คือความสุขของพระอริยบุคคล ผู้พ้นจากกิเลสบางส่วนหรือสิ้นเชิง การกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นนั้น พระพุทธศาสนา ถือว่า เป็นความสุขอย่างยิ่ง