• ปรัชญาธรรมนำทาง •
๏ สำหรับผู้เปิดใจกว้างพอที่จะรับฟังรับรู้เรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อนำไปประยุกต์ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตสืบไป
1:2:3:4:5:6:7:8:9:10
๏ ทัศนะว่าด้วยความเลว
          เลว หมายถึง ไม่เป็นไปในทางเจริญ เป็นอุปสรรค เป็นทางทุกข์ เป็นไปในทางที่ไม่ควรดำเนิน ไม่เป็นประโยชน์ มักถึงด้วย อคติ ๔ ประการ แลเกิดอกุศลมูล ๓ ประการ และนิวรณ์ ๕ ประการ
 
๏ อคติ ๔
          ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงชอบ หรือลำเอียงเพราะรัก
          โทสาคติ คือ ความลำเอียงเพราะโกรธหรือไม่ชอบ
          โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะหลง คือโง่ รู้ไม่เท่าถึงการณ์ ไม่รู้หรือสะเพร่า
          ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะกลัว หรือเกรงใจกลัวภัยจากผู้มีอำนาจ
 
๏ อกุศลมูล ๓
          อกุศลมูล เป็นเหตุของความชั่วทั้งปวง เกิดเป็นทุจริตทางกาย วาจา ใจ รวมเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ซึ่งมี 3 ประการ ได้แก่
          ๑. โลภะ (ความอยากได้) ความอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน อยากให้ตนมีเหมือนคนอื่น หรือมีมากกว่าผู้อื่น ความอยากมีหลายรูปแบบ ซึ่งจะก่อให้เกิดรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง เช่น อิจฉา ความอยาก, ปาปิจฉา ความอยากอย่างชั่วช้าลามก, มหิจฉา ความอยากรุนแรง, อภิชฌาวิสมโลภะ ความอยากได้ถึงขั้นเพ่งเล็ง ความอยากจะเกิดมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความชั่วในตัวเอง
          ๒. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) การอยากฆ่า การอยากทำลายผู้อื่น ความคิดประทุษร้ายเป็นรากเหง้าให้เกิดกิเลสได้หลายอย่าง เช่น ปฏิฆะ ความหงุดหงิด, โกธะ ความโกรธ, อุปนาหะ ความผูกโกรธ พยาบาท ความคิดปองร้าย ถ้าปล่อยให้มีโทสะมาก ผู้นั้นจะเป็นคนชั่ว คนพาล และเป็นภัยต่อสังคม
          ๓. โมหะ (ความหลงไม่รู้จริง) ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ความมัวเมา ความประมาท เป็นรากเหง้าให้เกิดกิเลสได้ต่าง ๆ มากมาย เช่น มักขะ ลบหลู่คุณท่าน, ปลาสะ ตีเสมอ, มานะ ถือตัว, มทะ มัวเมา, ปมาทะ เลินเล่อ โมหะทำให้ขาดสติ ไม่รู้ผิดชอบ ร้ายแรงกว่าโลภะ และโทสะ รวมทั้งส่งเสริมให้โลภะและโทสะมีกำลังมากขึ้นอีกด้วย
 
๏ นิวรณ์ ๕
          นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกั้น หมายถึงที่เป็นเครื่องปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ไม่ให้เข้าถึงจิต เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติ มี 5 ประการ คือ
          กามฉันทะ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่
          พยาบาท ความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปรารถนาในโลกียะสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกทัณท์ทรมานอยู่
          ถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ความเกียจคร้าน ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม
          อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดซัดส่าย ตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใด ๆ
          วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ
 
อุปกิเลส ๑๖ ประการ
ผุฏฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
จิตไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม
 
  ๑. อภิชฌาวิสมโลภะ   ความอยากได้รุนแรงถึงขั้นเพ่งเล็ง
  ๒. พยาบาท   ความคิดร้าย
  ๓. โกธะ   ความโกรธ
  ๔. อุปหานะ   ความผูกโกรธ
  ๕. มักขะ   ความลบหลู่คุณผู้อื่น
  ๖. ปลาสะ   ความตีเสมอ
  ๗. อิสสา   ความริษยา
  ๘. มัจฉริยะ   ความตระหนี่
  ๙. มายา   ความเจ้าเล่ห์
  ๑๐. สาเถยยะ   ความโอ้อวด
  ๑๑. ถัมภะ   ความหัวดื้อ
  ๑๒. สารัมภะ   ความแข่งดี
  ๑๓. มานะ   ความถือตัว
  ๑๔. อติมานะ   ความดูหมิ่นผู้อื่น
  ๑๕. มทะ   ความมัวเมา
  ๑๖. ปมาทะ   ความเลินเล่อ
 
บาป 7 ประการ
          บาปเจ็ดประการ นั้นมาจากศาสนาคริสต์ นิยามของบาปคือ การกระทำต่างๆ ที่ขัดต่อคำสั่งของพระเจ้า จุดเริ่มต้นของบาป ทั้งเจ็ดประการคาดว่าเริ่มมาจากนักบวชในศาสนาคริสต์จากนั้นก็ถูกส่งต่อ ปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ มาถึง สมเด็จพระสันตปาปาเกรกอรีที่ 1 ได้ลงบันทึกไว้ ได้แก่ อัตตา (Pride) โทสะ (Wrath) ความโลภ (Greed) ริษยา (Envy) ตะกละ (Gluttony) ราคะ (Lust) ความเกียจคร้าน (Sloth) บาปทั้ง 7 ประการจะมีสัตว์สัญลักษณ์ปีศาจประจำบาปของตัวเอง โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อทำให้ผู้คน จดจำเรื่องบาป ไม่ให้มนุษย์ประพฤติชั่วและทำตามสัญชาตญาณตามความพีงพอใจของตนเองมากเกินไป และไม่ต้องการให้ มนุษย์ทั้งหลายตกเป็นทาสของบาปทั้ง 7 ประการนั้นเอง

1.อัตตา (Pride)

ปีศาจ : ลูซิเฟอร์
สัตว์ประจำบาป : ม้า สิงโต นกยูง
          อัตตาเป็นยอดแห่งบาปทั้งปวง หมายถึงความต้องการเป็นผู้ที่มีความสำคัญและอำนาจเหนือผู้อื่น (เช่นต้องการเป็นพระราชา) การที่รักตนเองมากจนเกินไป หลงในอำนาจและรูปลักษณ์ของตัวเอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปรียบตนเองเทียบเท่ากับพระเจ้า) ซึ่งบาปประการนี้ทำให้ ลูซิเฟอร์ ถูกขับไล่ออกจากสวรรค์ เนื่องจากลูซิเฟอร์เห็นว่าตนมีอำนาจเท่ากับพระเจ้าและสามารถสร้างพรรคพวกของตัวเองเพื่อต่อต้านและไม่เคารพพระเจ้า คนที่มีความโอหังจะสนใจเฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่สนใจว่าผู้อื่นจะเป็นเช่นไร

2.โทสะ (Wrath)

ปีศาจ : ซาตาน
สัตว์ประจำบาป : หมี
          ความโกรธเคืองและพยาบาทที่ขาดความเหมาะสม การทนรับสภาพในบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ การแสวงหาหนทางผิดกฎหมายบ้านเมือง ในศีลธรรมในการล้างแค้น การมุ่งร้ายที่จะทำสิ่งต่างๆแก่บุคคลที่ตนไม่ชอบ รวมถึงการไม่ชอบบุคคลอื่นโดยไร้เหตุผล เช่น สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา นำไปสู่การฆ่าและฆาตกรรมผู้อื่น

3.ความโลภ (Greed)

ปีศาจ : แมเมิน
สัตว์ประจำบาป : กบ
          ความทะเยอทะยานอันแรงกล้าในการให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงแนวทางหรือคุณธรรมในการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการขโมย การขู่กรรโชกทรัพย์ ยักยอก การกักเก็บทรัพย์สินต่างๆ โดยไม่แบ่งปันหรือช่วยเหลือผู้อื่น ต่อมาโลภะรวมถึง การหาทรัพย์อย่างทุจริตมาใช้เพื่อประโยชน์ทางศาสนาด้วย ถือเป็นการมุ่งร้ายต่อศาสนา และเป็นการหักหลังต่อผู้นับถือคริสต์ศาสนา

4.ริษยา (Envy)

ปีศาจ : เลวีอาธาน
สัตว์ประจำบาป : สุนัข
          ความปรารถนาให้ผู้อื่นรับเคราะห์ การไม่ยอมรับผู้อื่นที่มีสิ่งต่างๆ ดีกว่าตนเอง ทั้งด้านทรัพย์สมบัติ ลักษณะรูปร่างนิสัย และ การประสบความสำเร็จ ความอิจฉานำไปสู่การรังเกียจตัวเอง ต้องการอยากเป็นผู้อื่น นำไปสู่การขโมยและทำลายผู้อื่น ความอิจฉาริษยาเป็นการพัฒนาต่อจากตะกละและโลภะที่สุดขั้ว บทลงโทษผู้ที่มีความอิจฉาคือถูกเย็บตาอย่างทรมาน

5.ตะกละ (Gluttony)

ปีศาจ : เซราฟิม
สัตว์ประจำบาป : หมู
          การสนองความต้องการโดยไม่ยั้งคิด มุ่งร้ายเอาของคนอื่น บริโภคสิ่งต่างๆจนขาดการไตร่ตรอง บริโภคจนมากเกินไป มากจนเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาร รวมถึงการบริโภคสิ่งๆ ต่างๆ โดยไม่คำนึงสนใจ หรือเห็นใจคนอื่น ทำให้เวลาสรรเสริญพระเจ้าน้อยลง และยังเป็นบาปที่สามารถชักจูงให้ทำบาปอื่นๆ ได้ เช่น ปรารถนาในความหิว (ราคะ) ฆ่าเพราะความหิว (โทสะ) เป็นต้น

6.ราคะ (Lust)

ปีศาจ : แอสโมเดียส
สัตว์ประจำบาป : งู วัว
          การคิดในทางเสื่อม ความต้องการเป็นที่สนใจจากผู้อื่น ความต้องการความเร้าใจ หมกมุ่นทางเพศที่มากจนเกินไป หรือที่ผิดมนุษย์ปกติ ความใคร่ที่เกิดขึ้นในทางทุจริต เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ กับพ่อแม่หรือลูกหลานตัวเอง การข่มขืน การมีชู้ บทลงโทษผู้กระทำบาปข้อนี้คือ ถูกรมด้วยสารกำมะถันและไฟ และ ตัดอวัยวะเพศ

7.ความเกียจคร้าน (Sloth)

ปีศาจ : เบลเฟกอร์
สัตว์ประจำบาป : แพะ
          ความไม่สนใจใยดีต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อสิ่งรอบข้าง ใช้เวลาอย่างไร้ค่า ความไม่ต้องการที่จะทำอะไร โดยปล่อยให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำงานหนักเพื่อตนเองเท่านั้น การปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเลยที่จะทำดีรวมถึงการละเลยที่จะเคารพต่อพระเจ้าด้วย ผู้ที่เกียจคร้านจะอยู่เฉยๆ รักษาสภาพความเป็นอยู่ของตนเองในภาวะเดิมตลอดเวลา ไม่ทำอะไรมาก แต่ก็ไม่ใช้อะไรมากเช่นกัน
 
๏ ทัศนะว่าด้วยคนเลว
          ข้อความนี้มาจาก วสลสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ หน้า ๓๐๕ ข้อ ๓๔๙ สรุปใจความว่า
          พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบพราหมณ์ชื่อ อัคคิกะ นามสกุลหรือโคตรว่า ภารทวาชะ ด้วยทรงเห็นว่าจะเกิดประโยชน์แก่พราหมณ์ผู้นั้น พราหมณ์เรียกพระพุทธเจ้าว่า สมณะโล้น คนเลว พระพุทธเจ้าทรงถามพราหมณ์ว่า ท่านรู้จักคนเลวหรือสิ่งที่ทำให้เป็นคนเลวหรือ พราหมณ์ตอบว่า ไม่รู้ แล้วขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ฟัง

พระพุทธเจ้าตรัสพระคาถาแสดงลักษณะคนเลวไว้ดังนี้
๑. เป็นคนเจ้าโทสะ ชอบผูกอาฆาตพยาบาท ชอบลบหลู่ดูหมิ่น เห็นผิดเป็นชอบ เจ้าเล่ห์เพทุบาย
๒. คนชอบรังแกสัตว์ทุกจำพวก ไม่มีความเอ็นดูเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
๓. คนชอบเบียดเบียน เที่ยวปล้นสะดม ถูกประฌามว่าเป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านร้านตลาด
๔. คนเที่ยวลักขโมยทรัพย์สินเงินทองที่เจ้าของหวงแหน ไม่อนุญาต ไม่ให้ ในบ้านหรือในป่าก็ตาม
๕. คนกู้หนี้ยืมสินเขามาแล้ว กลับกล่าวว่าไม่ได้เป็นหนี้ใคร หลบหนี้ไปเสีย
๖. คนดักฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาทรัพย์สิน เพราะความโลภอยากได้ทรัพย์สินของเขา
๗. คนเป็นพยานถูกซักถามแล้วให้การเท็จ เพราะเห็นแก่ตัวเอง ผู้อื่น หรือสินจ้างรางวัล
๘. คนผู้ประพฤติล่วงเกินในภรรยาของญาติหรือของเพื่อน จ้องจะข่มขืนหรือเป็นชู้
๙. คนสามารถเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้แต่ไม่ยอมเลี้ยงดูบิดามารดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้วมีกำลังวังชาน้อย
๑๐. คนผู้ทุบตี ดุด่า บิดามารดา พี่ชาย พี่สาว พ่อตาแม่ยาย พ่อผัวแม่ผัว
๑๑. คนถูกถามสิ่งที่มีประโยชน์แล้ว กลับพูดกลบเกลื่อนบอกสิ่งที่ไม่มีประโยชน์
๑๒. คนทำความชั่วแล้วปกปิดไว้ ไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ว่าตนทำ
๑๓. คนเป็นแขกไปเยี่ยมบ้านคนอื่น เจ้าของบ้านต้อนรับด้วยอาหารชั้นดี แต่พอเขามาเยี่ยมบ้านตนบ้าง กลับไม่ต้อนรับเช่นนั้น
๑๔. คนกล่าวคำมุสาหลอกลวงสมณพราหมณ์ ตลอดจนวณิพก ยาจกทั่วไป
๑๕. คนเวลาที่ตนกำลังรับประทานอาหารอยู่มีสมณพราหมณ์มาบิณฑบาตหน้าบ้าน แทนที่จะถวายอาหารกลับด่าว่าขับไล่
๑๖. คนละโมบที่ถูกโมหะครอบงำ อยากได้สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ของผู้อื่น ก็พูดจาหลอกลวงเขาเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา
๑๗. คนมีความประพฤติเลวทราม ชอบยกตนข่มท่าน ดูหมิ่นผู้อืนด้วยความทะนงตน
๑๘. คนมักโกรธ มีกิริยากระด้าง ใฝ่ชั่ว ตระหนี่ โอ้อวด ไม่ละอาย ไม่เกรงกลัวบาป
๑๙. คนติเตียนพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์
๒๐. คนไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญาณตนเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นโจรในมนุษย์โลก เทวโลก ตลอดจนถึงพรหมโลก

          คนที่มีความประพฤติดังกล่าวมานี้ เรียกว่าคนไม่ดี คนเลว คนจะชั่วหรือดี มิใช่อยู่ที่ชาติตระกูล แต่อยู่ที่ความประพฤติของตน

          พระพุทธเจ้ายังทรงเล่าเรื่องให้เป็นอุทาหรณ์แก่ อัคคิกะว่า มาตังคะ บุตรคนจัณฑาลเลี้ยงตัวเองได้ สามารถขึ้นสู่ฐานะสูงสุดได้ ได้รับยศศักดิ์ชั้นสูงสุด ได้ขึ้นยานปานเทพยาน ขับไปตามทางใหญ่ ไม่มีฝุ่นละออง เขาละกามราคะได้เด็ดขาดแล้ว ไปเกิดในพรหมโลก ชาติตระกูลห้ามเขาไม่ให้ไปเกิดในพรหมโลกไม่ได้
          พวกพราหมณ์ที่เกิดในตระกูลสาธยายมนต์ มีหน้าที่ร่ายมนต์ แต่ปรากฎว่าพวกเขาทำบาปอยู่เนืองนิตย์ พวกเขาถูกติเตียนอยู่ในปัจจุบัน ตายแล้วก็ต้องไปทุคติ ชาติตระกูลไม่สามารถห้ามพวกเขาไม่ให้ถูกติเตียนในปัจจุบันชาติได้ ทั้งไม่สามารถห้ามเพื่อให้พ้นจากทุคติในสัมปรายภพได้

          คนจะชั่วหรือดี มิใช่อยู่ที่ชาติตระกูล แต่อยู่ที่ความประพฤติของตน

          เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้จบลง อัคคิภารทวาชพราหมณ์ก็เกิดความเลื่อมใส กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ทรงประกาศธรรมเข้าใจได้ง่าย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นได้ ข้าพระองค์นี้ ของถึงพระโคดมผู้เจริญพร้อมทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระโคดมผู้จริญ ทรงโปรดจำข้าพระองค์ไว้เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต”

          ข้อความในพระสูตรนี้ได้ชี้ชัดถึงลักษณะคนเลว คนไม่ดี ซึ่งผู้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี พึงละเว้นหลีกเลี่ยงความประพฤติดังกล่าว และเลือกปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร ให้ระลึกอยู่เสมอว่าคนจะดีหรือเลวนั้น ไม่ได้อยู่ที่ชาติตระกูล หรือสิ่งที่ประกอบภายนอกอื่นๆ แต่อยู่ที่การกระทำของตนเองเท่านั้น ถ้าประพฤติปฏิบัติดีก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดี ถ้าประพฤติปฏิบัติชั่วก็ได้ชื่อว่าเป็นคนชั่ว