๏ สำหรับผู้เปิดใจกว้างพอที่จะรับฟังรับรู้เรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อนำไปประยุกต์ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตสืบไป |
๏ พุทธประวัติเกี่ยวกับพุทธัตถจริยา |
พุทธัตถจริยา (พุทธ = พระพุทธเจ้า อัตถะ = ประโยชน์ จริยา = การบำเพ็ญ)
แปลว่า การบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะเป็น พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า คือ บุคคลผู้ได้ตรัสรู้โดยชอบด้วยตัวเอง และสั่งสอนให้ตรัสรู้ตามได้ ตามคติทางพระพุทธศาสนาถือว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้มีเพียงพระองค์เดียว แต่มีมากมายหลายพระองค์ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธเจ้าทรงเป็น พระสัมมาสัมพุทธพ คือ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ และสามารถสั่งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามได้ จนมีพุทธสาวกมากมาย แม้พระองค์ปรินิพพานไป ๒,๕๐๐ ปีเศษแล้ว พระพุทธศาสนาก็ยังได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และยืนยาวต่อไปในอนาคต |
๏ พุทธัตถจริยา |
พุทธัตถจริยา การบำเพ็ญในฐานะพระพุทธเจ้า จึงเป็นการบำเพ็ญประโยชน์นอกเหนือไปจากที่พระปัจเจกพุทธะ และพระ อนุพุทธะกระทำ การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีใครกำหนดไว้ให้ พระพุทธเจ้าทรงกำหนดขึ้นเอง โดยทรงพิจารณา ไตร่ตรองว่า พระพุทธเจ้าควรทำอย่างไร แล้วทรงทำอย่างนั้น ดังมีตัวอย่างต่อไปนี้ |
๏ ๑.ทรงมีพระกรุณาแสดงธรรมครั้งแรก |
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นว่าพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นลึกซึ้งยิ่งนัก ยากมนุษย์ผู้มีกิเลสหนาจะรู้ตามได้ จึงทรงดำริจะไม่แสดงธรรมแก่ใคร แต่เมื่อทรงพิจารณาถึงผู้รับฟังธรรมเทศนาจากพระองค์ ทรง เห็นว่าคนทั้งปวง อาจจำแนกได้เป็น ๔ จำพวก คือ ๑.อุคฆฏิตัญญู ผู้รู้ได้รวดเร็ว เพียงได้ฟังธรรมเทศนาครั้งเดียว ก็สามารถรู้ตามได้ เปรียบเหมือนดอกบัว ที่โผล่พ้นน้ำ แล้ว เมื่อได้รับแสงอาทิตย์ก็จะบาน ๒.วิปจิตัญญู ผู้รู้ได้เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาหลายครั้ง และได้พิจารณาไตร่ตรองแล้ว เปรียบเหมือนดอกบัวที่กำลัง ปริ่มน้ำ จะโผล่พ้นรับแสงอาทิตย์แล้วบานในวันพรุ่งนี้ ๓.เนยยะ ผู้แนะนำพร่ำสอนได้ เป็นผู้มีอุปนิสัย สามารถที่จะเรียนรู้ เมื่อฟังพระธรรมเทศนา ศึกษาอบรมไปนาน ๆ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่กลางน้ำจะเติบโตโผล่พ้นน้ำรับแสงอาทิตย์แล้วบานในวันต่อ ๆ ไป ๔.ปทปรมะ ผู้ที่ไม่สามารถแนะนำสั่งสอนให้รู้ธรรมได้ ซึ่งมีหลายจำพวกด้วยกัน เช่น พวกปัญญาอ่อน เรียนรู้ธรรมไม่ ได้เลย พวกอันตคาหิกทิฏฐิ ยึดถือมิจฉาทิฏฐิดิ่งลงถึงที่สุด ไม่สามารถกลับคืนสู่สัมมาทิฏฐิได้ พวกไม่ยอมเรียนรู้ หลบหลีกไม่ยอมฟังธรรมของสัตบุรุษ แบบเดียวกับเด็กหนีโรงเรียน เปรียบเหมือนดอกบัวที่เพิ่งงอกอยู่ใต้โคลนตม ย่อมเป็นอาหาร ของเต่าและปลาบางชนิด ไม่สามารถเจริญงอกงามโผล่พ้นน้ำได้ เมื่อทรงพิจารณาเห็นเช่นนี้แล้วทรงดำริต่อไปว่า ผู้สามารถรู้ธรรมได้มีถึง ๓ จำพวก ซึ่งบารมีและความสามารถลดหลั่นกัน ไปนับจำนวนรวมกันแล้วแม้จะน้อยกว่าจำพวกที่ ๔ คือ ผู้ไม่สามารถรู้ธรรมได้ก็ตาม การแสดงธรรมครั้งแรกอาจไม่ไร้ผล ต้องมีผู้รู้ ธรรมตามพระองค์ได้เป็นแน่ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงตัดสินพระทัยแสดงธรรม เพื่อประกาศ ความเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์ จากนั้นทรงดำริหาบุคคลผู้เป็นอุคฆฏิตัญญู สามารถรู้ได้เร็วพลันที่พระองค์ทรงรู้จัก ทรงเห็นว่าอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามสูตร ที่พระองค์เคยทรงอาศัยศึกษาในสำนักมาก่อนสามารถรู้ได้เร็วพลัน แต่ทรงทราบในเวลาต่อมาว่า ท่านทั้ง สองถึงแก่กรรมเสียแล้ว ต่อจากนั้นทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ที่เคยมาอุปัฏฐากพระองค์เมื่อทรงทำทุกรกิริยา ทรงทราบว่าปัญจวัคคีย์ ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี จึงเสด็จไป ณ ที่นั้น เพื่อทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปวัตนสูตรจบแล้ว โกณฑัญญะ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ ก็สามารถรู้ธรรมตามได้ เรียกว่า ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็นบุคคลอุคฆฏิตัญญู เมื่ออุปสมบทแล้วได้รับขนานนามว่า พระอัญญาโกณ ฑัญญะ ส่วนปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ได้ฟังพระธรรมเทศนาในวันต่อ ๆ มา ก็ได้บรรลุโสดา ปัตติผล จัดเป็นบุคคลวิปจิตัญญู และทั้ง ๕ ท่านเมื่อได้ฟัง อนัตตลักขณสูตรแล้ว ก็สามารถบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน |
๏ ๒.ทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนา และทรงประกาศพระศาสนาด้วยพระองค์เอง |
เมื่อมีสาวก ๖๐ รูป ภายในพรรษาแรก คือ พระปัญจวัคคีย์ ๕ รูป พระยสะและสหาย ๕๕ รูป ทรงดำริจะประกาศพระศาสนา ให้กว้างขวางออกไป และพระสาวกทั้ง ๖๐ รูป ล้วนบรรลุพระอรหัตผลทั้งสิ้น จึงทรงส่งพระสาวก ไปประกาศพระศาสนาในทิศทาง ต่าง ๆ โดยให้ไปทิศทางละรูปเดียว เพื่อกระจายกำลังออกไปให้มากที่สุด วัตถุประสงค์ของการประกาศศาสนา คือ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่คนเป็นอันมาก ต่อมาเมื่อมีสาวกจำนวนมากขึ้น การประกาศพระศาสนาก็ยิ่งแพร่หลายออกไป ทั่วทุกแึคว้นในสมัย นั้น ตลอดจนหมู่บ้าน ตำบล และเมืองต่าง ๆ ในแคว้นนั้น ๆ พระองค์เองทรงอุทิศเวลาประกาศพระศาสนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตลอดเวลา ๔๕ ปี ที่ทรงประกาศศาสนา ผลงานเท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แสดงว่าทรงแสดงพระธรรมเทศนาสั้น ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง แม้จวนดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปัจฉิมโอวาทไว้ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท นี้คือพุทธกิจที่แสดงถึงความเป็นะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ |
๏ ๓.ทรงบัญญัติปัจจัย ๔ |
คือ สิ่งที่บรรพชิตอาศัยเพื่อดำรงชีพ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ๑. อาหาร ตามปกติบรรพชิตจะแสวงหาอาหารมาได้ด้วยการบิณฑบาต คือ การขอโดยไม่ออกปาก เพียงแต่แสดงกิริยาให้ทราบ การบิณฑบาตถือเป็นข้อปฏิบัติในพุทธวงศ์ คือ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงปฏิบัติ เช่นนี้ พระสงฆ์ที่ บิณฑบาตจึงเป็นการเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า แต่ถ้ามีผู้ถวายอาหาร ในลักษณะอื่นนอกเหนือจาการบิณฑบาต เช่น นำอาหารมาถวายวัด นิมนต์ไปฉันที่บ้าน เป็นต้น พระสงฆ์สามารถรับได้โดยถือเป็นอดิเรกลาภ ๒. เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ไตรจีวร คือ อันตรวาสก สบง ผ้านุ่ง อุตตราสงค์ จีวร ผ้าห่ม สังฆาฏิ ผ้าห่มซ้อนกันหนาวหรือใช้พาด บ่า ตามปกติบรรพชิตได้มาจากการเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพตามป่าช้า ผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะ เมื่อเก็บมาได้แล้วก็ซัก ตัดเย็บให้เป็นจีวร ย้อมด้วยน้ำฝาดกลบรอยเปื้อนทั้งหมด ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำตัว แต่ถ้ามีผู้ถวายจีวรสำเร็จแล้ว ก็รับมาใช้ สอยได้ ๓. ที่อยู่อาศัย ตามปกติบรรพชิตอาศัยป่า โคนไม้ กระท่อมร้าง เป็นที่อยู่อาศัย บำเพ็ญสมณธรรม เมื่อจำพรรษาเท่านั้นจึง ต้องอยู่ในที่มีเครื่องมุงเครื่องบังมิดชิด แต่ถ้ามีผู้สร้างกุฏิถวาย จะเป็นกุฏิไม้ หรือตึก ก็สามารถรับได้และอยู่อาศัยได้ ๔. ยารักษาโรค ตามปกติบรรพชิตใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือ ใช้ผลไม้ที่เป็นยา เช่น มะขามป้อม สมอ เป็นต้น แช่ในน้ำ ปัสสาวะของตนเองจนผลไม้นั้นเหี่ยวลง นำไปล้างน้ำสะอาดแลัวฉันเป็นยา แต่ถ้ามีผู้ถวายยารักษาโรคอย่างอื่นที่เหมาะสมกับโรค ก็รับมาฉันได้ ในเรื่องปัจจัย ๔ นี้ การบิณฑบาตนักบวชทั่วไปทุกลัทธิก็ปฏิบัติกันทั้งนั้น ภิกษุก็บิณฑบาตอย่างที่นักบวชอื่น ๆ ปฏิบัติกัน เพียงแต่มีวินัยโดยเฉพาะของภิกษุ คือ ไม่ออกปากขอ มีกิริยาสำรวม ไม่แสดงอาการโลภ เป็นต้น เมื่อบิณฑบาตได้แล้วไม่จำเป็น ต้องนำไปฉันที่วัด ฉันในที่เหมาะสมแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ ที่สะดวกด้วยน้ำฉันและน้ำล้างมือล้างบาตร ถ้าไปบิณฑบาตในเมือง มัก นำไปฉันนอกเมือง หรือนำกลับไปฉันที่วัด เช่น อุปติสสปริพาชก หรือพระสารีบุตร พบอัสสชิกำลังบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ เกิด ความเลื่อมใสเดินตามไป เมื่อพระอัสสชิบิณฑบาตได้แล้ว ระหว่างกลับทางเวฬุวัน ได้แสดงธรรมจนอุปติสสะบรรลุโสดาปฏิผล การนุ่งห่มโดยใช้สบงและจีวรแบบภิกษุนั้น พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นเพื่อให้ดูเรียบร้อย เรียกว่าเป็นปริมณฑล กล่าวคือ นุ่ง สบงเพียงครึ่งแข้ง ให้ชายเบื้องล่างเเรียบเสมอ ไม่นุ่งโจงกระเบนแบบพราหมณ์และนักบวชอื่น ๆ ในสมัยนั้น ห่มจีวรทับสบงอีกชั้น หนึ่ง มองดูเรียบร้อยดีเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา จะทรงนุ่งห่มอย่างไรไม่ปรากฏชัด น่าจะทรงนุ่งห่มแบบอาจารย์ที่ไปทรง ศึกษาในสำนักนั้น ๆ การนุ่งห่มแบบภิกษุน่าจะทรงใช้เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตจนได้ตรัสรู้ สำหรับพระภิกษุสาวกองค์แรก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ บวรเป็นพราหมณ์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อทูลขออุปสมบท เพียงแต่ปลงผมปลงหนวดเครา ใช้ผ้าผืนเดิมนุ่งห่ม ตามแบบภิกษุก็เป็นอันสำเร็จ ถ้าผู้ขออุปสมบทเป็นคฤหัสถ์ซึ่งนุ่งผ้าขาวโจงกระเบน อาจใช้ผืนเดิมหรือผืนใหม่ย้อมน้ำฝาด แล้วทำ เป็นสบงและจีวรนุ่งห่มตามแบบภิกษุได้ สำหรับที่อยู่อาศัยในระยะวลานอกพรรษา อาศัยป่าและโคนไม้เป็นพื้น เวลาเข้าพรรษาต้องอยู่ในที่มุงบัง เช่น พรรษาแรก พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี ป่านั้นเป็นที่อยู่ของฤาษีเป็นอันมาก พระแัญจวัคคีย์ก็อยู่ที่ นั่นมาก่อน ซึ่งต้องมีกฏิสำหรับฤาษีอยู่ และมีกุฏิว่างด้วย พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาในกุฏิเช่นนั้น เมื่อเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ ประทับ ที่ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม คือ สวนตาลที่ยังไม่สูงมากนัก มีเงาร่มรื่นดี พระองค์และพระภิกษุสาวก ๑,๐๐๐ รูปเศษ พักตามโคนต้น ตาลเหล่านั้น เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวันป่าไผ่เป็นวัดแรก ทรงสั่งให้เจ้าหน้าที่ปรับปรุงกอไผ่ต่าง ๆ ให้เหมาะเจาะที่จะพัก รวมทั้งสร้างกุฏิและศาลขึ้นด้วย นี่คือที่พักอาศัยของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ในระยะเริ่มแรก เรื่องยารักษาโรค คือ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่านั้นใช้เป็นยาระบาย เพราะพระสงฆ์มักมีอาการท้องผูก เนื่องจากฉันอาหารน้อย และนั่งสมาธิมาก สำหรับเภสัชที่ประณีตกว่านั้น ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ซึ่งทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันได้ในเวลา วิกาล แก้โรคผอมเหลืองหรือโรคดีซ่าน ซึ่งมักเกิดในฤดูฝนระหว่างเข้าพรรษา |
๏ ๔.ทรงบัญญัติพระวินัย |
ทรงบัญญัติทั้งของภิกษุและภิกษุณี การบัญญัติพระวินัยไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า แต่ทรงบัญญัติเมื่อมีคดีเกิดขึ้น บางกรณีบัญญัติเอง บางกรณีอันเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองทรงถามนักกฎหมายของบ้านเมืองก่อนแล้วจึงบัญญัติ โดยทำให้สอดคล้องต้องกัน พระวินัยจึงมีนัยหลากหลายพิสดารเป็นอันมาก รวมแล้วมี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ ถึงเล่มที่ ๘ รวม ๘ เล่ม |
๏ ๕.ทรงแสดงธรรม |
ซึ่งรวบรวมไว้สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก พระธรรมในสุตตันตปิฎก มีดังนี้ คือ ๑.ทีฆนิกาย พระสูตรขนาดยาว มี ๓๔ สูตร ๒.มัชฌิมนิกาย พระสูตรขนาดกลาง มี ๑๕๒ สูตร ๓.สังยุตตนิกาย ประมวลพระสูตรที่เป็นเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ มี ๗,๗๖๒ สูตร ๔.อังคุตตรนิกาย จัดลำดับข้อธรรมไว้เป็นหมวด ๆ มี ๙,๕๕๗ สูตร ๕.ขุททกนิกาย มี ๑๕ หมวด พระธรรมในสุตตันตปิฎห นับอย่างคร่าว ๆ ได้ ๑๙,๖๐๐ เรื่องเศษ พระอรรถกถาจารย์ นับเป็นหัวข้อธรรมได้ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ถึงเล่ม ๓๓ รวม ๒๕ เล่ม พระธรรมในอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นหลักธรรมล้วน ๆ ไม่มีท้องเรื่อง หรือเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลประกอบ มีดังนี้ ๑.สังคณี ว่าด้วยธรรมะรวมเป็นหมวดแบบกลุ่ม คือธรรมะที่เป็นแม่บท เช่น แม่บทฝ่ายอภิธรรม แม่บทฝ่ายพระสูตร ๒.วิภังค์ ว่าด้วยธรรมะแยกเป็นข้อ ๆ ให้เห็นรายละเอียด เช่น ขันธ์จำแนกเป็น ๕ อายตนะจำแนกเป็น ๑๒ เป็นต้น ๓.ธาตุกถา ว่าด้วยธรรมะที่จัดระเบียบตามความสัมพันธ์ โดยถือธาตุเป็นหลัก ๔.ปุคคลบัญญิ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ชนิด คือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ บุคคล ซึ่งแสดงละเอียดเฉพาะบัญญัติ เกี่ยวกับบุคคล ๕.กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม คำตอบในหลักธรรม ๕๐๐ ข้อ ๖.ยมก ว่าด้วยธรรมะที่รวมกันเป็นคู่ ๆ ๑๐ คู่ ๗.ปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัยเครื่องสนับสนุน ๒๔ ประการ พระธรรมในอภิธรรมปิฎก นับเป็นหัวข้อธรรมได้ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระไตรปิฎก เล่ม ๓๔-๔๕ รวม ๑๒ เล่ม พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี นับเป็นวันได้ ๑๖.๔๐๐ วันเศษ จำนวนหัวข้อธรรมที่พระอรรถกถาจารย์นับไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้านับเป็นเรื่อง ๆ ก็ได้หลายหมื่นเรื่อง แสดงว่าพระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม และทรงบัญญัติวินัยวันละหลายครั้ง |
๏ ๖.ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง |
โดยมีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในทุกแคว้นที่เสด็จไปประกาศพระศาสนาด้วยพระองค์เอง และทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา เป็นที่สนับสนุนในการประกาศพระศาสนา และช่วยทำนุบำรุงพระศานาให้ดำรงคงอยู่จนถึงปัจจุบันและจะเจริญต่อไปในอนาคต |
๏ ๗.ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในกิจการทั้งปวง |
กล่าวคือเป็นเจ้าของทรัพย์สนรวม เช่น ที่ดิน สิ่งก่อสร้างภายในวัด ครุภัณฑ์ต่างๆ เป็นของส่งฆ์ทั้งสิ้น โดยมีพระธรรมและพระวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์หลังเสด็จดับขันธปรินิพพาน ส่วนภิกษุ ภิกษุณีเป็นเจ้าของบริขารส่วนตัว เท่านั้น การทำกิจกรรมต่างๆเป็นเรื่องของสงฆ์ ซึ่งเรียกว่า สังฆกรรม เช่น การรับคนเข้ามาอุปสมบท การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำการงานของสงฆ์ การลงโทษและการระงับโทษบางอย่างแก่ภิกษุ การบริหารคณะสงฆ์ก็เป็นหน้าที่ของ สงฆ์ โดยยึดถือพระธรรมและพระวินัยเป็นหลัก ถ้ามีข้อสงสัยว่าข้อใดจะเป็นธรรมวินัยหรือไม่ มีลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ และมหาปเทศ ๔ ประการ เป็นข้ออ้างอิง ลักษณะตัดสินว่าเป็นธรรมวินัย มี ๘ ประการดังนี้ คือ สิ่งใดเป็นไปเพื่อ ๑.คลายความกำหนัด ๒.ความปราศจากทุกข์ ๓.ความไม่สะสมกองกิเลส ๔.ความปรารถนาน้อย ๕.ความสันโดษ ๖.ความสงัดจากหมู่ ๗.ความเพียร ๘.ความลี้ยงง่าย สิ่งเหล่านั้นพึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา สิ่งที่ตรงข้ามพึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา |
๏ พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระพุทธเจ้า |
พระพุธเจ้าของเรานั้น กว่าจะตรัสรู้ ก็ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยยอมเสียสละแม้แต่พระชนมชีพของพระองค์็เอง เมื่อทรงถูกข่มเหงกลั่นแกล้งเบียดเบียนด้วยวิธีการต่างๆ ก็ไม่ทรงแค้นเคือง ทรงเอาดีเข้าตอบ ถึงเขาจะตั้งตัวเป็นศัตรู ถึงขนาด พยายามปลงพระชนม์ ก็ไม่ทรงมีจิตประทุษร้าย บางครั้งพระองค์ช่วยเหลือเขา แทนที่เขาจะเห็นคุณ เขากลับทำร้ายพระองค์ แม้กระนั้นก็ไม่ทรงถือโกรธ ทรงทำดีต่อเขาต่อไป |
๏ พิจารณาความเคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ |
มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า ในสังสาระ คือ การเวียนว่ายตายเกิดที่กำหนดจุดเริ่มต้นมิได้ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็น บิดา ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากัน มิใช่หาได้ง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมีเหตุโกรธเคืองจากใคร พึงพิจารณาว่า ท่านผู้นี้บางที จะเคยเป็นมารดาของเรา ท่านผู้นี้จะเคยเป็นบิดาของเรา ท่านผู้นี้จะเคยเป็นญาติของเรา |
๏ พิจารณาความเคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ |
วิธีการข้อนี้ เป็นการปฏิบัติใกล้แนววิปัสสนา หรือเอาความรู้ทางวิปัสสนามาใช้ประโยชน์ คือ มองดูชีวิตนี้ มองดูสัตว์ บุคคล เรา เขา ตามความเป็นจริงว่า ที่ถูกที่แท้แล้ว ก็เป็นเพียงส่วนประกอบทั้งหลายมากมายมาประชุมเข้าด้วยกัน แล้วสมมติเรียกกันไป ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นฉัน เป็นเธอ เป็นเรา เป็นนาย ก. นาง ข. เป็นต้น ครั้นจะชี้ชัดลงไปที่ตรงไหนว่าเป็นคน เป็นเรา เป็นนาย ก. นางข. ก็หาไม่พบ มีแต่ส่วนที่เป็นธาตุแข็งบ้าง ธาตุเหลวบ้าง เป็นรูปขันธ์บ้าง เป็นเวทนาขันธ์บ้าง เป็นสัญาขันธ์บ้าง สังขาร ขันธ์บ้าง เป็นวิญญาณขันธ์บ้าง หรืออายตนะต่าง ๆ เช่น ตาบ้าง หบ้าง จมูกบ้าง เป็นต้น เมื่อพิจารณาแล้ว ชีวิตเราเป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติ |
๏ ให้เขาดีกับเราเพื่อชดใช้ ดีกว่าไปเวียนว่ายในสังสาร หยุดบ่วงกรรมวังวนสร้างศีลทาน ไกลหมู่มารพาลพ้นไปในทางธรรม |
ดูก่อนมนุษย์ทั้งหลาย หากต้องด่าเขาเหมือนที่เขาด่าเรา เราต้องด่ากันไปมากี่ล้านรอบกี่ล้านชาติ ดูก่อนมนุษย์ทั้งหลาย หากต้องตบหัวเขาเหมือนที่เขาตบหัวเรา เราต้องตบกันไปมากี่ล้านรอบกี่ล้านชาติ ดูก่อนมนุษย์ทั้งหลาย หากต้องกระทืบเขาเหมือนที่เขากระทืบเรา เราต้องกระทืบกันไปมากี่ล้านรอบกี่ล้านชาติ ดูก่อนมนุษย์ทั้งหลาย หากต้องทำเขาผิดหวังเหมือนที่เขาทำเราผิดหวัง เราต้องทำร้ายกันไปมากี่ล้านรอบกี่ล้านชาติ หากต้องทำเขาให้เป็นเช่นนั้นเหมือนที่เขาทำเราเป็นเช่นนี้ เราต้องทำกรรมกันไปมากี่ล้านรอบกี่ล้านชาติ เพื่อสิ่งใด เพื่อประโยชน์อันใด เมื่อหยุดนิ่งแล้วจงภาวนาว่า ให้เรายึดมั่นในศีลและธรรมเป็นไปโดยธรรมชาติ ให้เราห่างไกลหมู่มารและคนพาลทั้งหลาย ให้ห่างไกลเขาผู้ละธรรม ให้เขาไปรับกรรมของเขา ไม่มีผู้ใดไปทำกับเขา ให้เขาเป็นไปเพราะตัวเขา ให้เขาเรียนรู้ที่จะ แก้ไข และ รับผิดรู้ผิด ให้เขามีศีลและธรรมเพิ่มพูน และให้เขาห่างไกลหมู่มารคนพาลทั้งหลาย เช่นเดียวกับเรา เราจะเป็นมิตร ร่วมกันอีกใน ภายหน้า เมื่อเรายึึดมั่นในศีลและธรรมเป็นไปโดยธรรมชาติร่วมกัน ให้เราต่างละทิ้งทุกข์สุขทั้งหลายไว้เบื้องหลัง ให้เราต่างยึึดมั่นในศีลและธรรมเป็นไปโดยธรรมชาติ ให้เราสร้างภพร่วมกัน ให้เราไม่รู้จักทุกข์หรือสุข แต่เราต่างมีศีลและธรรมเป็นไปโดยธรรมชาติ เบื้องหน้าคือภพใหม่อันดีกว่าที่เราจะร่วมกันสร้าง |
ยุคที่บริสุทธิ์ที่สุดนั้นมิอาจเกิดได้ด้วยพระพุทธเจ้าเพียงองค์ใดองค์หนึ่ง หากแต่ทุกดวงวิญาณทั้งหลาย ได้หลุดพ้นวังวน ร่วมกัน ได้ประดิษฐ์ทิพยสถานร่วมกัน ท่านคือหนึ่งในนั้นมิใช่ผู้ใดผู้หนึ่งที่จะสลายมลายวังเวียนแห่งทุกข์และสุข มีขาวก็ย่อมมีดำ มีหญิงย่อมมีชาย ฉันใด เมื่อไม่มีสิ่งทั้งสอง จึงจะกล่าวได้ว่า สิ่งนั้นได้ดับสูญไปจริงแท้ เฉกเช่นไม่มีหมู่มารฉันใด ก็ย่อมไม่มีหมู่ ธรรมฉันนั้น คือ เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่มีคำนิยามหรือจำกัดความเกิดขึ้นนั่นเอง |
โดย:อรุณรุ่ง |