กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมคณะ รมช.อรรถกร’ ดีเดย์ปฏิบัติการ “กำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ กทม.” เดินหน้า 7 มาตรการ เร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ผลิตน้ำหมักชีวภาพใช้ในการเกษตร


วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567
ณ บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

           วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567 กรมพัฒนาที่ดิน มอบหมายให้ นายอธิวัฒน์ สิทธิภิญญาพัฒน์ ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน พร้อมด้วย นางสาวนัทฐา ทักษ์รัตนศรัณย์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดปฏิบัติการ “การกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร“ โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วลงสู่แหล่งน้ำเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อสั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 2567-2570 ประกอบด้วย 7 มาตรการ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอเพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ประกอบด้วย 1. ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่ทีประสิทธิภาพ และกำจัดจากบ่อเพาะเลี้ยงด้วนกากชา 2. กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง และปล่อยปลาผู้ล่าตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว ในพื้นที่เป้าหมาย 16 จังหวัด มุ่งเน้นการจัดหาพันธ์ปลาผู้ล่าที่มีความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ 3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูปเป็นอาหารรับประทาน/ปลาบ่น และน้ำหมักชีวภาพ 4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน 5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัด จัดทำคู่มือประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือการแพร่ระบาด 6. พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านประมง ด้วยการเหนี่ยวนำโครโมโซม / ใช้ฟีโรโมน แสงสี ให้ปลาหมอคางดำรวมตัวกัน เพื่อการจับที่ง่ายขึ้น และ 7. ฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำการสำรวจแหล่งน้ำต่างๆ ว่าเคยมีสัตว์น้ำประจำถิ่นอะไรบ้าง จากนั้นเพาะพันธุ์เพื่อนำไปปล่อยคืนฟื้นฟูระบบนิเวศน์

           กรมพัฒนาที่ดิน บูรณาการทำงานร่วมกับกรมประมง และการยางแห่งประเทศไทย ในการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่พบการระบาดทุกแห่ง 17 จังหวัด รวม 75 จุด เพื่อนำมาผลิตน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูงตามมาตรการดังกล่าว โดยใช้งบประมาณ กยท. โดยสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร ได้ทำการสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูงปลาหมอคางดำ จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 และนำส่ง กยท. ไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในสวนยางของโครงการฯ

           โดยในวันนี้ รมช.เกษตรฯ ได้มอบเครื่องมือประมงให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อใช้ในการจับปลาหมอคางดำ จากนั้นร่วมกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำ ณ คลองเกาะโพธิ์ โดยปลาหมอคางดำที่จับได้ในวันนี้ มีน้ำหนักรวมกว่า 300 กิโลกรัม พร้อมกันนี้ รมช.เกษตรฯ และคณะผู้บริหาร ยังได้เยี่ยมชมการสาธิตแปรรูปเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ อาทิ ปลาแดดเดียว ปลาบดแผ่น ไส้อั่ว และชมสาธิตการทำน้ำหนักชีวภาพคุณภาพสูงจากปลาหมอคางดำอีกด้วย

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป