นักวิจัยกรมพัฒนาที่ดินก้าวล้ำ พาสับปะรด GI เชียงราย ก้าวไกล


วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566
ในการประชุมวิชาการประจำปี 2566 “ฟื้นฟูปฐพี สร้างสรรค์ดินดี ด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

           กรมพัฒนาที่ดิน คัดเลือกงานวิจัยชิ้นเด็ด “การทำแผนที่ดินแบบดิจิทัลโดยใช้แบบจำลองแมชชีนเลิร์นนิ่งสำหรับการตรวจสอบสถานภาพทรัพยากรดิน ในพื้นที่ปลูกสับปะรด GI จังหวัดเชียงราย” ได้รางวัลชนะเลิศ สาขาจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรดิน/ที่ดิน และการประยุกต์ใช้ ปี 66 ชี้ประโยชน์ช่วยให้ตัดสินใจปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินให้แก่เกษตรกรได้ถูกต้อง นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้ความสำคัญกับ การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรดินและที่ดิน รวมถึงการประยุกต์ใช้เพื่อการวางแผนการใช้ที่ดินที่ถูกต้อง และกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาที่ดินอย่างเหมาะสม โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวิจัย และนวัตกรรม สนับสนุนให้นักวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน สร้างผลงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำองค์ความรู้ไปแก้ปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรดินและที่ดินของเกษตรกร ซึ่งผลงานวิจัย ภายใต้หัวข้อ “การทำแผนที่ดินแบบดิจิทัลโดยใช้แบบจำลองแมชชีนเลิร์นนิ่งสำหรับการตรวจสอบสถานภาพทรัพยากรดิน ในพื้นที่ปลูกสับปะรด GI จังหวัดเชียงราย” ซึ่งเป็นการวิจัยของ นายพชร อริยะสกุล และ นางสาววิภาวรรณ อินทร์สมบูรณ์ กลุ่มศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ทรัพยากรดิน กองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน นับเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่สร้างประโยชน์ และสอดรับกับนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน ที่มุ่งเป้าให้เกิดการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับจัดทำฐานข้อมูลดิน/ที่ดิน ทั้งในด้านการสำรวจ และการทำแผนที่พื้นฐาน การสำรวจจำแนกดิน การสำรวจวิเคราะห์การใช้ที่ดิน การวางแผนการใช้ที่ดิน รวมทั้ง การประยุกต์ใช้แบบจำลอง และเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน จึงคัดเลือกให้งานวิจัยดังกล่าว ได้รับรางวัลชนะเลิศภาคบรรยาย สาขาจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรดิน/ที่ดินและการประยุกต์ใช้ ในการประชุมวิชาการประจำปี 2566 “ฟื้นฟูปฐพี สร้างสรรค์ดินดี ด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา”

           ด้าน นายพชร อริยะสกุล นักสำรวจดินชำนาญการพิเศษ กลุ่มศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ทรัพยากรดิน กองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กล่าวว่า ในการศึกษานี้ ได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการทำ แผนที่ดินแบบดิจิทัล (DSM) โดยใช้แบบจำลองแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) สำหรับการตรวจสอบสถานภาพทรัพยากรดินในพื้นที่ผลิตสับปะรด GI จังหวัดเชียงราย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านดู่และตำบลนางแล มีเนื้อที่รวม 129,254 ไร่ โดยศึกษา สมบัติดินทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ pH OM P K CEC และ BS มีความสัมพันธ์ ทั้งทางบวกและทางลบอย่างมีนัยสำคัญกับ 23 ตัวแปรร่วมที่ได้จากการคำนวณค่าดัชนีพื้นผิวของภูมิประเทศจาก DEM ดัชนีจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat 9 และข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง โดยแบบจำลอง ML สามารถจัดทำแผนที่สถานภาพทรัพยากรดินแบบดิจิทัลของดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และมีความเชื่อมั่นสูง โดยผลการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ พบว่า สภาพการใช้ที่ดินมีพื้นที่ปลูกสับปะรดรวม 18,533 ไร่ มีระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ มีเนื้อที่ 10,045 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 54.2 ของพื้นที่ปลูกสับปะรดทั้งหมด และพื้นที่ที่มีระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินปานกลาง มีเนื้อที่ 8,488 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 45.8 ของพื้นที่ปลูกสับปะรดทั้งหมด

           “ จาการผลวิจัยดังกล่าว สามารถสร้างแผนที่ระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินแบบดิจิทัลที่แสดงสถานภาพทรัพยากรดินของพื้นที่การผลิตสับปะรด GI ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรดิน โดยเฉพาะการใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำการจัดการดินแก่เกษตรกรได้อย่างถูกต้อง เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตพืช GI ให้ได้มาตรฐาน และส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายพชร กล่าว

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป