พบแล้ว เทคนิคเพิ่มผลผลิตปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ S2 นักวิจัยกรมพัฒนาที่ดิน


วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566
ในการประชุมวิชาการประจำปี 2566 “ฟื้นฟูปฐพี สร้างสรรค์ดินดี ด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

           นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) เปิดเผยว่า จากที่ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้เป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันมีความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันดี ทำให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แต่ในการปลูกปาล์มน้ำมันนั้น เกษตรกรควรพิจารณาความเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตดี ต้นทุนต่ำ ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ รองลงมาคือ สมบัติทางกายภาพของดิน แต่อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาที่ดิน พบว่า ปัจจุบันได้มีเกษตรกรลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่เหมาะสมปานกลาง หรือ S2 เช่น ในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมัน แต่มีข้อจำกัด โดยต้องมีการจัดการที่เหมาะสมก็สามารถทำให้ปาล์มน้ำมันมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อเป็นการช่วยพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ S2 คณะนักวิจัยกรมพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วย นางสาวธษพร สังข์อ้น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ, นางสาวเพ็ญศรี ท่องวิถี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ, นายณรงค์ มะลี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ, นายอภิเชษฐ ทองส่ง นักสำรวจดินชำนาญการพิเศษ และนางสายใจ มณีรัตน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการวิจัยภายใต้หัวข้อ “การจัดการดินที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันที่ปลูกในเขตพื้นที่เหมาะสมปานกลาง (S2) จังหวัดตรัง” เกิดองค์ความรู้ไปแก้ปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรดินและที่ดินของเกษตรกร ตรงตามนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน ที่มุ่งการพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเจริญเจริญเติบโต และ การให้ผลผลิตของพืช และมีความยั่งยืน

           “ด้วยผลงานวิจัยที่โดดเด่น และสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกรที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในเขตพื้นที่เหมาะสมปานกลางทั้งของจังหวัดตรัง และจังหวัดอื่นๆ จากการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงดิน ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน จึงคัดเลือกให้งานวิจัย “การจัดการดินที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันที่ปลูกในเขตพื้นที่เหมาะสมปานกลาง (S2) จังหวัดตรัง” ได้รับรางวัลชนะเลิศภาคบรรยาย สาขาการปรับปรุงบำรุงดิน ในการประชุมวิชาการประจำปี 2566 “ฟื้นฟูปฐพี สร้างสรรค์ดินดี ด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2566 ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

           ด้าน นางสาวธษพร สังข์อ้น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินยะลา สำนักงานพัฒนา ที่ดินเขต 12 กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2559 จังหวัดตรัง มีการปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่เหมาะสมปานกลาง (S2) จำนวน 37,105 ไร่ ซึ่งเกษตรกรบางรายยังมีการจัดการที่ไม่เหมาะสม มีการใช้ปุ๋ยเคมีไม่ถูกอัตราขาดการปรับปรุงดิน ทำให้ดินในพื้นที่ดังกล่าวเสื่อมโทรมลง ผลผลิตลดลง มีปัญหาทั้งทางด้านกายภาพและเคมีของดิน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา จึงจัดทำโครงการวิจัยเรื่อง การจัดการดินที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตปาล์มน้ำมันที่ปลูกในพื้นที่เหมาะสมปานกลาง (S2) จังหวัดตรังขึ้น ในพื้นที่บ้านโคกเคียน หมู่ที่ 12 ตำบลหาดสำราญ อำเภอหาดสำราญ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2564

           นางสาวธษพร กล่าวต่อไปว่า การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการจัดการดินในพื้นที่เหมาะสม ปานกลาง (S2) ผลผลิตของปาล์มน้ำมัน สมบัติทางเคมี สมบัติทางกายภาพ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยวางแผนการทดลองแบบสปลิทพลอท จำนวน 3 ซ้ำ มีปัจจัยหลัก จำนวน 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) คลุมโคน ต้นปาล์มด้วยทางใบ ปริมาณ 150 กก./ต้น และ 2) คลุมโคนต้นปาล์มด้วยทะลายเปล่า 150 กก./ต้น และปัจจัยรอง จำนวน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 2) การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ และ 3) ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของ อ.ธีระ เอกสมทราเมษฐ์ โดยนางสาวธษพร ได้ให้ข้อมูลถึงผลการทดลองว่า ชุดดินในแปลงทดลองเป็นชุดดินบ้านทอนที่มี ชั้นดินอินทรีย์ที่ไม่เชื่อมแข็ง เป็นดินทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และในปีที่ 1 พบว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจยังขาดทุน เนื่องจากผลผลิตที่ได้ในปีแรกค่อนข้างต่ำ และมีต้นทุนค่าปุ๋ยและค่าแรงเพิ่มขึ้น ส่วนปีที่ 2 พบว่าการใช้ปุ๋ยเคมีทั้ง 3 วิธี และอิทธิพลร่วมระหว่างการใช้วัสดุคลุมโคนกับการใช้ปุ๋ยทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันมีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยการคลุมโคนด้วยทางใบร่วมกับ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสูงสุดที่ 2,654.67 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และให้ผลตอบแทน ทางเศรษฐกิจสูงสุด เท่ากับ 4,650.60 บาทต่อไร่ต่อปี สำหรับผลการทดลองในปีที่ 3 ผู้วิจัยพบว่า การใช้ปุ๋ยเคมี ทั้ง 3 วิธี และอิทธิพลร่วมระหว่างการใช้วัสดุคลุมโคนกับการใช้ปุ๋ยทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันมีความแตกต่างทางสถิติ โดยการคลุมโคนด้วยทะลายเปล่าร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสูงสุด เท่ากับ 3,238.40 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี แต่การคลุมโคนด้วยทางใบร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงสุดที่ 12,204.38 บาทต่อไร่ต่อปี “จากการวิจัย จึงได้ข้อสรุปว่า การจัดการดินที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันที่ปลูกในเขตพื้นที่เหมาะสมปานกลางจังหวัดตรัง ควรใช้การคลุมโคนด้วยทางใบร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ” นางสาวธษพร กล่าว

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป