กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมแถลงข่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ส่งเสริมไถกลบตอซัง หยุดยั้งการเผาเศษพืชเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารลงดิน


วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ห้อง AEOC ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรุงเทพฯ

           วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 น. ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมแถลงข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเด็นมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมีนายฉันทานนท์ วรรณเขจร โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ณ ห้อง AEOC ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

           ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ แก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง รณรงค์และควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร หนุนเกษตรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มทดแทนการเผาทิ้ง พร้อมสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผา เพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในระยะต่อไป

           กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการเฝ้าเตือน ควบคุม ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร วางแผนและดำเนินการป้องกัน แก้ไขปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละออง สร้างความเข้าใจ กับเกษตรกร และประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง

           ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดินกล่าวว่า ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินกิจกรรมการไถกลบตอซังมาอย่างต่อเนื่อง โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเน้นการรณรงค์สร้างความตระหนัก สร้างเครือข่ายหยุดเผาฟาง และสอนการปฏิบัติส่งเสริมให้เกษตรกรลดละเลิกการเผา เก็บรวบรวมวัสดุอินทรีย์เหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปสร้างมูลค่า ซึ่งมีองค์ประกอบของธาตุอาหารมาเข้ากระบวนการเพิ่มมูลค่า โดยนำมาทำปุ๋ยหมัก และไถกลบตอซังพืชที่เหลือลงดิน ร่วมกับการใช้จุลินทรีย์ช่วยให้ย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุได้ไวขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน สอดคล้องตามนโยบายลดโลกร้อนเพิ่มการสะสมคาร์บอนลงดิน ในยุทธศาสตร์ BCG Model คือ เกษตรชีวภาพ เกษตรหมุนเวียน และเกษตรสีเขียว ซึ่งในปี 2566 กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการไถกลบตอซังและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในพื้นที่ 26,842 ไร่ ครอบคลุม 9 จังหวัด ในภาคเหนือ และ โครงการไถกลบตอซังเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและแร่ธาตุในดิน อีก 13,000 ไร่ ทั่วประเทศ เป็นพื้นที่นำร่องและตำบลต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงผลของการปฏิบัติตามมาตรการการไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดและแก้ปัญหาหมอกควันและรักษาสภาพนิเวศน์และเติมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ ปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรจากการเผาตอซัง เพื่อเตรียมดินปลูกเป็นการไถกลบตอซังแทน ซึ่งได้ดำเนินการโครงการฯ อย่างต่อเนื่องทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อจุดมุ่งหมายโดยตรงที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชน และโดยอ้อมคือรักษาสภาพนิเวศน์และการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินต่อไป

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป