โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องจากพระราชดำริ บ้านปางคอง หมู่ 12 ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
ความเป็นมาของโครงการ
           เนื่องจากสภาพพื้นที่บริเวณแนวชายแดน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ติดต่อกับประเทศพม่า ส่วนใหญ่ มีสภาพเป็นป่าเขา สลับกับลำน้ำ ทำให้การแบ่งสันเขตแดน ในหลายพื้นที่ ไม่มีความชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหา การล่วงล้ำอธิปไตย ของกองกำลังต่างชาติ บ่อยครั้ง รวมทั้งปัญหา ชนกลุ่มน้อย ต่างๆ ใช้เป็นที่พักพิงหลบซ่อน และสะสมกำลังเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะได้วางระบบป้องกัน และเพิ่มขีดความสามารถ กับราษฎร เพื่อป้องกัน ตนเอง ในห้วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่กำลังในพื้นที่ จะเข้ามา แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถ ดำเนินการ ได้ครอบคลุม ตลอดแนวชายแดน ดังกล่าวได้ โดยเฉพาะ ในเขตพื้นที่ ที่ห่างไกล การคมนาคม พื้นที่หวงห้าม ของทางราชการ และมีชุมชน อยู่อย่างกระจัดกระจาย
           เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเยี่ยมราษฎร ที่บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 1 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และได้มีพระราชเสาวนีย์ กับ พลตรีชัยยุทธ เทพยสุวรรณ ผู้บัญชาการ กองพลพัฒนาที่ 3 ผู้อำนวยการ ประสานงาน โครงการจัดพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกินคีรีราษฎร์ ว่าให้ราษฎร ชาวไทย ภูเขา ที่สมัครใจ ไปเป็นยามชายแดน ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการสนอง พระราชเสาวนีย์ ที่ได้มี พระราชกระแส รับสั่ง ประกอบกับ ความจำเป็น ในการเสริมสร้าง ระบบป้องกัน ตามแนวชายแดน การแจ้งเตือนภัย และการฟื้นฟู สภาพป่า ที่ถูกทำลาย โดยเร่งด่วน กองพลพัฒนาที่ 3 จึงได้พิจารณา จัดตั้งโครงการ หมู่บ้านชาวไทยภูเขาขึ้น และต่อมากองทัพ ภาคที่3 กองอำนวยการรักษา ความมั่งคงภายใน ภาค 3 ได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ นร.5406/561 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ให้กองพลพัฒนาที่ 3
           พิจารณากำหนด ที่ตั้งหมู่บ้าน ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ให้แก่กองทัพบก โดยให้สภาพดังนี้
                      1. เป็นหมู่บ้านที่ตั้งใหม่บนเขา เพราะชาวเขา มีความคุ้นเคย กับการอยู่บนเขา มากกว่าพื้นที่ราบ และ เป็นพื้นที่ ที่มีความปลอดภัย พอสมควร
                      2. เป็นพื้นที่ที่สามารถ ทำการเกษตรกรรม ได้เหมือนดังเช่น ดอยอ่างขาง มีแหล่งน้ำ มีพื้นที่เพียงพอ สำหรับหมู่บ้าน ประมาณ 40-50 ครอบครัว
                      3. ทรงขอให้ทหาร ช่วยฝึกอบรม ระบบป้องกันภัย และฝึกการรายงานข่าว เพื่อให้ราษฎร ช่วยเป็นตาให้กับทหาร
                      4. มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ จะช่วยสนับสนุนอาชีพ และการจัดตั้งหมู่บ้าน โดยขอแรงงานทหาร เข้าช่วยการจัดตั้งหมู่บ้าน
           เพื่อให้ส่วนราชการ ร่วมโครงการ ได้มีกรอบแนวทางการดำเนินงาน พัฒนาโครงการ อย่างต่อเนื่องร่วมกัน กองพลพัฒนาที่ 3 จึงได้จัดทำ แผนแม่บท โครงการจัดตั้งหมู่บ้านชาวไทยภูเขา ตามพระราชเสาวนีย์ขึ้น โดยแผนดังกล่าวเป็นไปโดยสอดคล้องกับ พระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการเห็น การพัฒนา หมู่บ้านชาวไทยภูเขา เป็นไปลักษณะ บ้านเล็กในป่าใหญ่

ปัญหาและข้อจำกัด
           1. เนื่องจากเส้นเขตแบ่งแดนระหว่างไทยและพม่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บางพื้นที่ไม่มี ความชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาล่วงล้ำอธิปไตยของกองกำลังต่างชาติของกลุ่มต่าง ๆ บ่อยครั้ง
           2. ในบางพื้นที่มีช่องว่างระหว่างหมู่บ้าน / กลุ่มบ้านห่างกันมาก เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตาม แนวชายแดน ไม่สามารถแจ้งเตือนได้ทันเวลา
           3. ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในพื้นที่บริเวณตามแนวชายแดน เนื่องมาจากการปล้นและชิงทรัพย์ จากกองกำลังทหารต่างชาติกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ทำให้มีการ ละทิ้งบ้านเรือน อพยพเข้ามา อยู่ในพื้นที่ภายใน มากขึ้น
           4. ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ไม่มีเส้นทางการคมนาคมเชื่อมต่อหรือมีแต่ไม่สามารถใช้ได้ ตลอดฤดูกาล ทำให้การพัฒนา จากหน่วยงานของรัฐ และเอกชน เข้าไปได้ยากลำบาก
           5. มีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย เนื่องจากความยากจน พื้นที่ทำกินไม่ เพียงพอทำให้ต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก


วัตถุประสงค์
           1 เป็นการตอบสนอง พระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ให้ ราษฎร ชาวไทยภูเขา ที่สมัครใจ ไปเป็นยามชายแดน ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว
           2 จัดตั้งถิ่นฐาน และการปกครองแนวชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีสภาพ พื้นที่ กำหนดให้เป็น หมู่บ้าน ที่ถูกต้อง ตามระเบียบ กฎหมาย
           3 เสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่ และโอกาสของราษฎร ให้มีความพร้อมในด้านการพัฒนา เพื่อให้สามารถ ดำรงชีพ ได้อย่างยั่งยืน และพอกินพอใช้
           4 ปกป้องรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้ง สามารถแจ้งเตือนภัย ให้กับกลุ่มบ้านใหญ่ หรือส่วนราชการ ได้อย่างทันเวลา
           5 พัฒนาคุณภาพชีวิต ของราษฎร ในพื้นที่เป้าหมาย ให้ได้รับการบริการ สาธารณะ ขั้นพื้นฐาน ตามความเหมาะสม


สถานที่ดำเนินการ
           ชื่อหมู่บ้าน บ้านปางคอง ม.12 ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
           - ขอบเขตพื้นที่โครงการ 1,485 ไร่