โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแม่ส่วยอู
พระราชดำริและความเป็นมา
           เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ได้มีพระราชกระแสรับสั่ง กับผู้บัญชาการทหารบกและคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ "ให้หน่วยงานราชการต่างๆ ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขา ด้วยการให้ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิม โดยไม่ต้องอพยพมายังพื้นที่ราบเพื่อให้ราษฎรได้อาศัยอยู่ในถิ่นฐานเดิม สามารถดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติมา ภายใต้การดูแลช่วยเหลออย่างใกล้ชิด และสามารถควบคุมประชากรได้ ด้วยการให้ความรู้ด้วยการปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย และปฏิบัติตามกฎหมายไทย ตลอดจนการได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธาร และให้ความร่วมมือกับทางราชการ ในการช่วยเหลือด้านความมั่นคง"
           และเมื่อ 22 มีนาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริกับ พลเอกนิพนธ์ ภารัญนิตย์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในขณะนั้น ณ เรือนประทับแรมปางตองจังหวัดแม่ฮ่องสอนความว่า "ให้พิจารณาหาแนวทาง ในการดำเนินงานจัดตั้งหมู่บ้านในรูปแบบ บ้านยามชายแดนด้านทิศตะวันตก ของตัวเมือแม่ฮ่องสอน เพื่อพัฒนาราษฎร ในพื้นที่ให้เข้มแข็ง มีส่วนรวมรักษาอธิปไตยของชาติอย่างมีระบบ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ"
           เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาทกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งพื้นที่ ตั้งแต่ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ ทางตอนเหนือลงมาถึงทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งยังมีช่องว่างสำคัญโดยระยะทางตามแนวชายแดนประมาณ 23 กิโลเมตร ไม่มีหมู่บ้านใกล้แนวชายแดนเลยซึ่งแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของบ้านแม่ส่วยอู(เดิม) และบ้านขุนห้วยเดื่อ(เดิม) มีราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงแดงอาศัยมาก่อน แต่เนื่องจาก เป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนมีการวางทุ่นระเบิดและกับระเบิดไว้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีการรุกล้ำอธิปไตยเนื่องจากความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดน เป็นเหตุ ให้ราษฎรละทิ้งบ้านเรือนอพยพข้ามาอยู่พื้นที่เขตภายใน พื้นทีดังกล่าววัดระยะทางถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 10 กิโลเมตรโดยไม่ผ่านหมู่บ้านใดเลย พิจารณาดูแล้วน่าจะเป็นจุดล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศ คณะทำงานโครงการฯ จึงได้คัดเลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้านโดยใช้ชื่อว่า "โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน"
           กรมพัฒนาที่ดินโดย สถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน เป็นหน่วยงานหนึ่งในคณะทำงาน ได้ร่วมเข้าสำรวจพื้นที่ กำหนดขอบเขต และวางแผนการใช้ที่ดิน ตลอดจน จัดทำระบบอนุรักษ์ดิน และน้ำ และส่งเสริมความรู้งานพัฒนาที่ดินเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2546 นับว่าเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จในปี 2553 สถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน ได้สนอง พระราชเสาวนีย์ สมเด็จพรนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามรูปแบบ "หมู่บ้ายยามชายแดน"

สภาพปัญหาหลักของพื้นที่โครงการ
           1. เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากการสู้รบ อยู่ติดชายแดนประเทศพม่า สภาพพื้นที่เป็นภูเขาลาดชัน เส้นทาง คมนาคมใช้ได้บางฤดูกาล
           2. พื้นที่เกษตรกรรมไม่เหมาะสม มีการชะล้างพังทลายของดินสูง
           3. ผลผลิตข้าวไม่เพียงพอแหล่งน้ำมีน้อย เนื่องจากอยู่บนพื้นที่สูง
           4. ราษฎรยากจน มีการศึกษาต่ำ การสื่อสารภาษาไทยได้ไม่ดี
           5. ราษฎรขาดความรู้/ทักษะในการผลิตพืชผลเกษตร และการตลาด

วัตถุประสงค์
           1. เพื่อจัดตั้งถิ่นฐานถาวรตามแนวชายแดนไทย – พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้มีสภาพเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย แนวชายแดน ให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหา การกระทบกระทั่ง และความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้
           2. เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่และโอกาสของราษฎรให้มีความพร้อมในหารพัฒนาด้านต่างๆ ให้สามารถดำเนินชีพอยู่ได้อย่างยั่งยืน
           3. เพื่อให้ราษฎร มีศักยภาพ ในการปกป้อง รักษา ความปลอดภัย ในชีวิต และทรัพย์สิน ของตนเองได้ รวมทั้ง สามารถแจ้ง เตือนภัย ให้กับ กลุ่มบ้านใหญ่ หรือส่วนราชการ ได้อย่างทันเวลา
           4. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในพื้นที่เป้าหมาย ให้ได้รับบริการ สาธารณะขั้นพื้นฐานตามเหมาะสม
           5. เพื่อบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในลักษณะ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามแนวทาง การอยู่ร่วมกัน ของคนกับป่า

สถานที่ดำเนินการ
           บ้านแม่ส่วยอู หมู่ที่ 8 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
           - ขอบเขตพื้นที่โครงการ 13,371ไร่