โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ความเป็นมา
           ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อันเป็นพื้นที่ ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้เป็นที่หลวงเมื่อปี 2466 และปี 2467 เดิมพื้นที่แห่งนี้มี สภาพป่าไม้ เป็นที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าประเภท เนื้อทราย อยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า "ห้วยทราย" ต่อมาราษฎรได้เข้ามา อาศัยทำกิน บุกรุกแผ้วถางป่า และได้ประกอบอาชีพ ตามยถากรรม ภายในเวลาไม่ถึง 40 ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง ทำให้ฝน ไม่ตกต้อง ตามฤดูกาล และมีปริมาณลดน้อยลง จนมีลักษณะ เป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษาจนเกิดความไม่สมดุลย์ทางธรรมชาติ การพังทลายของผิวดินค่อนข้างสูง ประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ ปลูกสับปะรด ซึ่งต้องใช้สารเคมีมาก ทำให้คุณภาพของดินตกต่ำลงไปอีก พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า "หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทราย ในที่สุด" เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ได้พระราชทานพระราชดำริ กับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี และนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ ให้พัฒนา เป็นศูนย์ศึกษา การพัฒนา ด้านป่าไม้ เอนกประสงค์ จัดให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ ได้ประโยชน์และไม่ทำลายป่าไม้อีกต่อไป มุ่งที่จะศึกษา รูปแบบการพัฒนา เกษตร ควบคู่ไปกับ การปลูกป่าจัดหาแหล่งน้ำ ศึกษาวิธีการ และระบบป้องกันไฟไหม้ป่าใน "ระบบป่าเปียก" ให้ราษฎรสร้างรายได้ จากผลิตผลป่าไม้ และปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่ไปด้วย และให้ราษฎร ที่เข้ามาทำกิน โดยมิชอบ ได้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อที่จะได้รับ พระราชทาน ที่ดินทำกินต่อไป

วัตถุประสงค์
           1) เพื่อสาธิตวิธีการ ปรับปรุงบำรุงดิน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การใช้ปูนมาร์ล โดโลไมท์ เป็นต้น
           2) เพื่อศึกษาแนวทาง ในการเพิ่มผลผลิตพืช ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ สารป้องกันกำจัดแมลงจากพืชสมุนไพร เป็นต้น
           3) เพื่อเผยแพร่วิธีการ อนุรักษ์ดินและน้ำ ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างคันดินเบนน้ำ(Diversion) คันดินกักเก็บน้ำ(Check Dam) คันดินกั้นน้ำ(Terracing) เป็นต้น
           4) เพื่อเผยแพร่วิธีการ ใช้ประโยชน์หญ้าแฝก ในรูปแบบต่างๆ เช่น การปลูกหญ้าแฝกในร่องน้ำขวางความลาดเทของพื้นที่ แบบวงกลม ครึ่งวงกลมรอบโคนต้นไม้ เป็นต้น
           5) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการพัฒนาที่ดิน ตามแนวพระราชดำริ ให้กับเกษตรกร ประชาชน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนนักวิชาการที่มีความสนใจ

ระยะเวลาดำเนินงาน
           เริ่ม ปี พ.ศ. 2545 ถึง ปัจจุบัน

พื้นที่ดำเนินงาน
           ศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนา กองบัญชาการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจ ตระเวรชายแดน ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
           พื้นที่ทั้งหมด 22,627 ไร่

ประโยชน์ที่ได้รับ
           1) หลังจากที่ดำเนินการ พัฒนาปรับปรุงที่ดิน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ดินในพื้นที่ มีปริมาณ อัตราการชะล้างพังทลาย การสูญเสียหน้าดินลดลง จนส่งผลให้ดิน มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น สามารถทำการเกษตรกรรมได้
           2) คุณภาพของดินทางด้านกายภาพและทางเคมีดีขึ้น ทำให้ดิน มีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มมากขึ้น มีผลทำให้ราษฎร ในพื้นที่ ไม่ต้องบุกรุก ทำลายป่า เพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตรต่อไป
           3) เป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการพัฒนา ปรับปรุงดิน ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จนเป็นต้นแบบ ที่เกษตรกร และประชาชน ในพื้นที่ ได้มาเรียนรู้ แล้วนำไปปฏิบัติ ในพื้นที่ของตนเอง

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
           สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี สำนักงานพัฒนาที่เขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน