โครงการปลูกป่า ชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง

ความเป็นมา
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชดำริที่จะพระราชทานป่าไม้ให้กับปวงชนชาวไทย เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงครองราชย์ได้ 50 ปี เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จึงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2536 ให้ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงาน โครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้มูลนิธิชัยพัฒนา และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันดำเนินการปลูกป่า เพื่อพระราชทาน ให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยให้มีหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมป่าไม้ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาร่วมดำเนินการ ส่วนการดำเนินงานโครงการฯ นั้น ระมัดระวัง อย่าให้มีผลกระทบ กับปัญหาที่ดิน ทำกินของชาวบ้าน และในพื้นที่โครงการปลูกป่า ให้ปลูกแฝกเสริมไปด้วย
           พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินที่ศูนย์ศึกษาห้วยทราย เมื่อวันที่ 22 กรกรฎาคม พ.ศ. 2535 ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระราชดำริ ในการนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหญ้าแฝก ได้ทรงมีพระราชดำริ ให้กรมป่าไม้ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกันดำเนินการและได้มีพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ในเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการฯนี้ โดยให้พิจารณาพื้นที่ตอนบนด้วยว่า อาจสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กๆ ได้ ต่อมามูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้พิจารณาเลือกพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ส่วนดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลูกป่าพระราชทาน โดยให้ชื่อว่า "โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง"

วัตถุประสงค์
           1) เพื่อการอนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ทั้งในด้านป่าไม้ แหล่งน้ำ ดิน รวมทั้งสภาวะ แวดล้อมอื่น ๆ ให้บังเกิดความสมบูรณ์แก่แผ่นดิน โดยการปลูกป่า และจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ ควบคู่กับ การอนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูคุณภาพดินโดยใช้หญ้าแฝก และการจัดหาแหล่งน้ำ
           2) เพื่อเสริมสร้างทัศนคติ และความสำนึกรับผิดชอบ ที่ดีงาม ต่อประเทศชาติ ให้กับประชาชนในท้องถิ่น และให้ประชาชน มีส่วนร่วม ในการพัฒนา ตามโครงการให้มากที่สุด
           3) เพื่อให้ประชาชนยากไร้ ในพื้นที่ สามารถหาประโยชน์ จากป่าไม้ที่ปลูก
           4) เพื่อนำผลงาน การศึกษาทดลอง จากศูนย์การศึกษาพัฒนา และโครงการต่างๆ ตามพระราชดำริมาขยายผล
           5) เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับหญ้าแฝกตามพระราชดำริ

เป้าหมาย
           1) เป้าหมายด้านการจัดการทรพยากรน้ำ ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตายที่มีอยู่เดิม ให้มีปริมาตรความจุประมาณ 3.7 ลบ.ม. โดยจะมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 1,000 ไร่
           2) เป้าหมาย ด้านการจัดการ ทรัพยากรป่าไม้ ระยะที่ 1 ดำเนินการปลูกป่า ร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ 3,500 ไร่ โดยแยกออกเป็น พื้นที่ป่าจำนวน 3,200 ไร่ และพื้นที่ จะจัดสร้าง เป็นสวนพฤกษศาสตร์ จำนวน 300 ไร่ ในจำนวนพื้นที่ เหล่านี้จะใช้เป็นพื้นที่ ที่ศึกษาเกี่ยวกับหญ้าแฝก จำนวน 310 ไร่ ระยะที่ 2 ดำเนินการปลูกป่า ในบริเวณพื้นที่เขา ติดต่อกับพื้นที่ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขต ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ระยะเวลาดำเนินงาน
           การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
                      - ระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2537 -2539 จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ประมาณ 4,794 ไร่
                      - ระยะที่ 2 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 ถึง ปัจจุบัน เป็นการขยายพื้นที่ทำการปลูกป่าในบริเวณภูเขาที่ติดต่อกับพื้นที่โครงการฯ ระยะที่ 1

พื้นที่ดำเนินการ
           ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
           และตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
           ขอบเขตพื้นที่โครงการ 10,300 ไร่

ขั้นตอนการดำนินงาน
           1) ขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2537-2539) พื้นที่ดำเนินงานประมาณ 4,794 ไร่ สามารถแบ่งพื้นที่เพื่อดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ดังนี้
                      1.1) พื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย มีเนื้อที่ 1,000 ไร่
                                 - ปี พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชดำริ ให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย ซึ่งมีความจุของน้ำได้ไม่มากเนื่องจากสภาพอ่างค่อนข้างตื้น จึงสร้างระบบเก็บกักน้ำ และสามารถนำน้ำ จากอ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม มาเพิ่มเป็นต้นทุน ในอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย มีความจุประมาณ 3.7 ล้าน ลบ.ม. จะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ ประมาณ 4,000 ไร่
                      1.2) พื้นที่ป่าและพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ผสมผสานกับการปลูกหญ้าแฝก มีเนื้อที่ 3,500 ไร่ ซึ่งจะแยกเป็นพื้นที่ ได้ดังนี้
                                 - ทำการปลูกป่า 3,200 ไร่ - สวนพฤกษศาสตร์ 300 ไร่
           จากสภาพของปัญหา ในเรื่องของคุณภาพดิน สภาพเนื้อดินเป็นดินทราย และดินตื้น ง่ายต่อการกัดกร่อนและมีความสามารถในการอุ้มน้ำไว้ได้น้อย บางพื้นที่พบว่าดินเกิดการแน่นทึบ และมีหินโผล่ และบางพื้นที่ เกิดการกัดเซาะ เป็นร่องลึก ตามบริเวณร่องน้ำธรรมชาติ และทางระบายน้ำ
           ดังนั้น กิจกรรม ในการพัฒนานี้ จะเกี่ยวข้อง กับการฟื้นฟูสภาพดิน จึงได้ดำเนินการ ใช้ระบบหญ้าแฝก ร่วมกับระบบการอนุรักษ์ดิน และน้ำ ร่วมกับการปลูกป่า โดยทำการปลูกหญ้าแฝก ตามแนวระดับขวาง ความลาดชัน ของพื้นที่
           สำหรับในพื้นที่ ความลาดชันน้อย ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถว มีระยะห่างตามแนวดิ่ง (Vertical interval) 1 เมตร ส่วนพื้นที่ลาดชันปานกลาง ใช้ระยะตามแนวดิ่ง 1.5 เมตร
           พื้นที่ภูเขาใช้ระยะตามแนวดิ่ง 4 เมตร และบริเวณที่เป็นร่องน้ำหรือร่องห้วย ได้ดำเนินการสร้างบ่อดักตะกอน (Check dam) เพื่อเป็นแหล่งน้ำรับน้ำ และตะกอนดิน ที่ถูกชะล้าง ไม่ให้ถูกพัดพา ไปสะสม ในแหล่งน้ำตอนล่าง
           นอกจากนี้ในบางพื้นที่ จะใช้ในการศึกษารูปแบบการจัดการกระบวนเกษตร โดยการนำรูปแบบ และเทคโนโลยี ในกระบวนการเกษตร มาประยุกต์ใช้ เพื่อฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยการปลูกพืชยืนต้น ซึ่งเป็นไม้โตเร็วอเนกประสงค์ ที่มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจน เช่น กระถินณรงค์ และสะเดา ร่วมกับ การปลูกพืชเศรษฐกิจประเภทไม้ผล และพืชเศรษฐกิจประเภทล้มลุก เช่น ถั่วต่างๆ พืชคลุมดินและพืชบำรุงดิน
                      1.3) พื้นที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหญ้าแฝก มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 310 ไร่
                                 เป็นพื้นที่ใช้ในการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับหญ้าแฝก และการขยายพันธุ์หญ้าแฝก รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์รวมพันธุ์ไม้สมุนไพร ไม้หายาก และอื่นๆ
           2) ขั้นตอนการดำเนิน ระยะที่ 2
           เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 เป็นพื้นที่บริเวณภูเขา ที่ติดต่อกับพื้นที่ระยะที่ 1 ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีเนื้อที่ 1,919 ไร่ และในเขตพื้นที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ 3,515 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง มีเนื้อที่ประมาณ 10,300 ไร่

ประโยชน์ที่ได้รับ
           1) จะได้ให้มีพื้นที่ปลูกป่าที่เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น และจะทำให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการ อนุรักษ์ป่าและธรรมชาติมากขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ของประเทศชาติด้วย
           2) ประชาชนที่บุกรุกทำลายป่า จะได้เห็นความสำคัญของป่าไม้ และมีความเป็นที่ดีขึ้น
           3) จะได้รูปแบบ การฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม โดยการปลูกป่า ผสมผสาน กับการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ นำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีสภาพคล้ายกันทั่วประเทศ
           4) เป็นการฟื้นฟูทรัพยากรที่ดิน ให้เกิดประโยชน์ อย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์ดีขึ้น
           5) เป็นแหล่งศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ ระบบนิเวศน์วิทยา การอนุรักษ์ดินและน้ำ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ sและประชาชนทั่วไป
           6) เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อน

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
           สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน