ศูนย์ปฏิบัติการโครงการจัดพัฒนาที่ดินฯตามพระราชประสงค์หนองพลับ – กลัดหลวง

ความเป็นมา
           โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์ "หนองพลับ" เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นว่า เกษตรกรไทย มักปลูกพืช กันในช่วงฤดูฝน เท่านั้น ส่วนในฤดูแล้ง ก็มักไม่ยอมทำ การกสิกรรม ด้วยเหตุที่เชื่อกันว่า ฤดูแล้ง นั้น จะขาดแคลนน้ำ ปลูกพืชไม่ได้โครงการฯ นี้มีพระราชประสงค์ จะทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า หากมีการกักเก็บน้ำไว้แล้ว ก็จะสามารถเพาะปลูกได้ ดังที่ได้มีพระราชดำรัส ในการพระราชทานสัมภาษณ์ แก่ เลขาธิการ กปร. และผู้บริหาร กปร. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เกี่ยวกับโครงการหนองพลับ สรุปได้ว่า โครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ จัดทำขึ้น เมื่อเห็นว่าพื้นท ี่ที่จะเพาะปลูก ได้ แม้จะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ก็ตาม และในท่ามกลาง ความเชื่อที่ว่า ฤดูแล้งไม่ใช่ระยะการเพาะปลูก ก็ตาม พระองค์ได้พระราชทาน คำแนะนำ ให้สร้างอ่างเก็บน้ำ ไว้ใช้เพื่อการเกษตร ยามเมื่อฝนทิ้งช่วง ซึ้งเป็นผล ให้ทรงพอพระราชหฤทัย ที่ทรงพบว่า " หน้าแล้งก็ยังทำได้ ยังทำกินได้ "
           นอกไปจากนี้ โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หนองพลับ ยังเกิดจากสาเหตุที่ทรงพบว่า ยังมีราษฎรอยู่อีกเป็นจำนวนมากที่ขาดที่ดินทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง และได้บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินขอรัฐโดยพลการเพิ่มมากขึ้นทุกที ซึ่งการกระทำเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการบุกรุก ทำลายป่าไม้ของชาติแล้ว ราษฎร ยังไม่สามารถ ที่จะดำรงชีพ โดยการประกอบ เกษตรกรรม อย่างเป็นการถาวร ได้อีกด้วย ดั้งนั้น จึงมีพระราชประสงค์ ที่จะทดลอง ดำเนินการโครงการ พัฒนาที่ดิน แผนใหม่ ซึ่งรัฐบาล ได้น้อมเกล้า น้อมกระหม่อม ถวายที่ดิน ทำกิน ของรัฐ ในหุบเขา ซึ่งมีอาณาบริเวณ ติดต่อกัน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในจังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นแหล่งสำหรับราษฎร ใช้เป็นที่ประกอบอาชีพ ทางเกษตรกรรม
โดยมีสิทธิครอบครอง ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ การซื้อขายที่ดินนั้นๆ
           ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราโชบายหลักและวิธีการที่สำคัญ คือ
           1) ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกบริเวณพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ดินดีเหมาะในการเพาะปลูก ให้ดำเนินการจัดพัฒนาที่ดินให้แก่ราษฎร ส่วนที่สอง สภาพของ และความอุดมสมบูรณ์ ด้อยกว่าส่วนแรก ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ก็ให้ดำเนินการ พัฒนาเป็นที่เลียงสัตว์
           2) ที่ดินที่ได้รับการพัฒนาแล้ว และจัดสรรให้ราษฎรเข้าประกอบอาชีพและอยู่อาศัยนั้น มีพระราชประสงค์ ที่จะยัง มิให้มีกรรมสิทธิ์ ในที่ดิน ด้วยทรงคาดการณ์ว่า ในอนาคต อาจมีนายทุน เข้าไปกว้านซื้อที่ดิน จากราษฎร หรือกรณีที่สมาชิกสหกรณ์เสียชีวิต ที่ดินอาจถูกแบ่ง เป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ทำให้ผิดหลักการพัฒนาที่ดิน อย่างไรก็ตาม ทายาทของสมาชิกสหกรณ์ ที่เสียชีวิต สามารถทำกิน ไปได้ชั่วลูกหลาน เมื่อกิจการสหกรณ์ เจริญขึ้น ให้จัดตั้ง เป็นสหกรณ์อเนกประสงค์ ส่งเสริมสาธารณูปการ ในท้องที่ ตั้งโรงงานขนาดเล็ก เพื่อแปรรูปผลิตผล ให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป
           3) ให้ราษฎรในโครงการฯ เลือกคณะกรรมการขึ้น ทำหน้าที่ ปกครองดูแล การประกอบอาชีพ ให้บังเกิดผล โดยรับคำแนะนำ ทางวิชาการ จากเจ้าหน้าที่ ของส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง ในงานแต่ละด้าน
           4) ให้กันบริเวณโครงการฯ เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ เพื่อตั้งเป็นศูนย์โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ประสานงาน ระหว่างราษฎร ในโครงการฯ กับส่วนราชการต่างๆ ช่วยเหลือราษฎรในโครงการฯ ค้นคว้าทางวิชาการ รวมทั้งผลิตพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนโครงการฯ และราษฎรในจังหวัดใกล้เคียง
           5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯ โดยมี หม่อมหลวงเดชสนิทวงค์ องคมนตรีเป็นประธาน และต่อมาในระหว่างปี พุทธศักราช 2522 - 2537 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการฯ

วัตถุประสงค์
           1) เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการผลิตสูงสุด
           2) เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยตลอดไป
           3) เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักช่วยตนเองและได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในทางที่เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนร่วม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

เป้าหมาย
           พัฒนาที่ดิน ให้แก่เกษตรกร มีการใช้ที่ดิน ในด้านการเกษตร อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์สูงสุด และมีที่ดินเป็นของตนเอง มีอาชีพหลักอย่างมั่นคง และมีรายได้เพิ่มขึ้น

ระยะเวลาดำเนินงาน
           เริ่ม ปี พ.ศ. 2515 ถึง ปัจจุบัน

พื้นที่ดำเนินการ
           บ้านสหกรณ์ 1-11 ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
           ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ และตำบลกลัดหลวง อำเภอท่าย่าง จังหวัดเพชรบุรี
           พิกัดที่ E580120 N 1391950 ระวางแผนที่ L7018 4934 III
           ขอบเขตพื้นที่โครงการ 65,000 ไร่

ขั้นตอนการดำเนินงาน
           หลักการในการจัดที่ดินให้ราษฎรมีดังนี้
                      1) ดินที่อุดมสมบูรณ์จะจัดให้สมาชิกโครงการเข้าทำกินและอยู่อาศัย ดินที่ไม่สมบูรณ์จะพัฒนาเป็นทุ่งหญ้า
                      2) ที่ดินที่พัฒนาแล้วจะจัดให้สมาชิกโครงการฯ ครอบครัวละ 20-25 ไร่ โดยอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ และจะให้มีรายได้สุทธิเฉลี่ยครอบครัวละไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท
                      3) ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ให้ถือครองได้ชั่วลูกหลาน
                      4) ให้มีคณะกรรมการสมาชิก เพื่อปกครองตนเอง
                      5) ผู้ที่เป็นสมาชิกโครงการฯ จะต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ และดำเนินงานสหกรณ์ ในรูปสหกรณ์เอนกประสงค์
                      6) จัดให้มีหมู่บ้านประมาณ 70-100 ครอบครัว โดยมีที่อยู่อาศัยเป็นกลุ่ม รวมมีแปลงทำกินอยู่บริเวณรอบ๐ แต่ไม่ห่างที่อยู่อาศัยเกิน 3 กิโลเมตร
                      7) กันที่ดินไว้เพื่อเป็นป่าของโครงการฯ ตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ 20% ของเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 13,000 ไร่
                      8) มีศูนย์โครงการฯ สังกัดกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อเป็นศูนย์กลางดำเนินงานการติดต่อของสมาชิกและส่วนราชการอื่นๆ

           วิธีการดำเนินการ
                      1) กรมพัฒนาที่ดินในฐานะเจ้าของเรื่อง จะเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย และแผนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
                      2) ดำเนินการพัฒนาที่ดิน เช่น การเปิดป่า ปรับพื้นที่และไถพรวนในปีของการดำเนินการ
                      3) ดำเนินการจัดสร้างถนน บ่อน้ำ ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
                      4) แบ่งพื้นที่ตามขนาดของแปลงตามที่กำหนด ตามแผนผังของหมู่บ้านสหกรณ์
                      5) ดำเนินการรับสมัคร และคัดเลือกราษฎรเข้าเป็นสมาชิกโครงการฯ จัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัยและทำกิน
                      6) จัดหาแหล่งน้ำให้สมาชิกโครงการฯ รวมทั้งสถานีอนามัย และโรงเรียน ฯลฯ

ประโยชน์ที่ได้รับ
           1) สมาชิกโครงการฯ มีที่ดินทำกิน และอยู่อาศัย เป็นหลักแหล่ง ครัวเรือนละ 20-25 ไร่และถือคลองที่ดิน ชั่วลูกชั่วหลาน โดยไม่มีกรรมสิทธิ์
           2) สมาชิกโครงการฯ ใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่จัดสรรให้ เพื่อทำการเกษตร ในด้านการผลิต ได้ประโยชน์สูงสุด มีรายได้และลดต้นทุนการผลิต
           3) สมาชิกโครงการฯ รู้จักช่วยตนเอง และได้ช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน ในทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยรวมกลุ่มตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร ในการรับซื้อและจำหน่าย สินค้าเกษตร การออมทรัพย์ และให้สินเชื่อ เพื่อใช้การลงทุน ในรูปปันผล ให้กับสมาชิกโครงการ
           4) ทรัพยากรดิน ในพื้นที่โครงการฯ ได้รับการฟื้นฟู ให้เหมาะสมในการปลูกพืชชนิดต่างๆ โดยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต จากกรมพัฒนาที่ดินในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และปลอดภัยจากสารพิษ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
           สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน