โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ความเป็นมา
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการน้อมเกล้าถวายที่ดินจำนวนประมาณ 700 ไร่ จากราษฎร อดีตเป็นนายตำรวจยศสัญญาบัตร ซึ่งแต่เดิม ทำเป็นฟาร์มปศุสัตว์ และปลูกพืชไร่ มีการใช้ที่ดิน อย่างผิดวิธี ทำให้หน้าดินเสียหาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เกิดสภาพความแห้งแล้งโดยทั่วไปจนไม่สามารถปลูกพืชได้ หรือผลผลิตลดลง เมื่อพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปทอดพระเนตร จึงได้พระราชทาน พระราชดำริ ในการปรับปรุงที่ดิน เสื่อมโทรม แห่งนี้ ให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้ รวมทั้งทรงยังแนะนำ ให้ปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ หลังจากที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน พระราชดำริ ในการปรับปรุงพื้นที่ แห่งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2526 หน่วยงานต่างๆ ได้สนองพระราชดำริ ด้วยการศึกษาทดลอง เพื่อหาวิธีการปรับปรุงดิน ในพื้นที่ ให้กลับนำมาใช้ประโยชน์ ในการเกษตร ได้อีก และเป็นแนวทาง ในการปรับปรุงดิน ให้แก่ราษฎร ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ตลอดจน เป็นรูปแบบ สำหรับใช้เป็นแนวทาง ในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีปัญหาคล้ายๆกับที่ดินแห่งนี้
           ในการสำรวจ หาข้อมูลเบื้องต้น ทางดิน นั้น ได้สำรวจในปี พ.ศ. 2543 และเพิ่มเติมแปลงที่ราษฎร น้อมเกล้าถวายอีก(ทิศเหนือ) ในปี พ.ศ. 2545 การสำรวจครั้งนี้ เป็นการสำรวจดิน แบบละเอียด(detailed soil survey) ใช้ภาพถ่ายบอลลูน มาตราส่วน 1 : 2,000 แผนที่แนวระดับ มาตราส่วน 1 : 2,000 เป็นแผนที่พื้นฐาน ในการสำรวจ และแผนที่ภูมิประเทศ ของกรมแผนที่ทหาร ศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้น แล้วทำการสำรวจดิน ในสนามโดยการใช้สว่าน เจาะดินลึกประมาณ 180 เซนติเมตร หรือถึงขั้นสัมผัสหิน ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 50 เมตร (ในอัตราเฉลี่ย 6 ไร่ต่อหลุม) แบ่งชั้นดินทุกหลุม เจาะหลุม แล้วบันทึกข้อมูล เช่น เนื้อดิน สีดิน การระบายน้ำ ความลาดชันของพื้นที่โครงสร้างของดิน วัตถุต้นกำเนิดดิน ปริมาณก้อนหินหรือหินโผล่ การกร่อนของดิน ความเป็นกรดด่าง ตลอดจนพืชพรรณ เป็นต้น และทำการจำแนกดิน
           ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก สำหรับพื้นที่นั้น พลตำรวจตรีทักษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ได้น้อมเกล้าถวายที่ดินบริเวณตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ประมาณ 694-2-38 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นฟาร์มปศุสัตว์ ที่ดินถูกชะล้างพังทลาย และทำให้เสื่อมโทรม จนเกือบใช้ประโยชน์ไม่ได้ อีกทั้งได้มีการขุดลูกรัง ไปใช้ประโยชน์อีกด้วย และความทราบถึงพระองค์ท่าน ในวันที่ 4 มกราคม 2528 ได้พระราชทาน พระราชกระแส กับหม่อนเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ ซึ่งนำความกราบบังคับทูลเกี่ยวกับ โครงการการศึกษา วิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม เขาชะงุ้มฯ พระองค์ท่านได้มีพระราชกระแสดังนี้
           - แนวทางการฟื้นฟู ให้พัฒนาแหล่งน้ำ เป็นที่ปลูกไม้ยืนต้น ให้มีความชุ่มชื้น สวยงามตามธรรมชาติ
           - ให้ใช้ชื่อโครงการฯ ตามที่เสนอไปคือ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟู ที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
           - การศึกษาปรับปรุงบริเวณที่ดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก โดยวิธีการเสริมสร้าง แหล่งน้ำปรับปรุงบ่อดิน แก้ปัญหาดินลูกรัง และจัดระดับให้เหมาะสมเพื่อให้มีน้ำใช้
           ต่อมา นายสี วรรณเทวี ได้น้อมเกล้าถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 63-1-3 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ โครงการศึกษา วิธีการฟื้นฟูที่ดิน เสื่อมโทรม เขาชะงุ้ม ทางทิศเหนือ ให้กับมูลนิธิ ชัยพัฒนา พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชกระแส กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิ ชัยพัฒนา ให้พัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าว เป็น 3 ส่วน คือ ให้ฟื้นฟูสภาพป่า ดำเนินการ พัฒนา และปล่อยไว้ ในสภาพเดิม
           นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ อีกส่วนหนึ่ง ที่อยู่ติดกับ พื้นที่โครงการ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา จัดซื้อเพิ่มเติม มีจำนวน 91-3-81 ไร่ ดังนั้น ในขณะนี้พื้นที่โครงการ มีจำนวนทั้งสิ้น รวมทั้งสิ้น 849-3-22 ไร่

วัตถุประสงค์
           1) ศึกษาทดลอง วิธีการปรับปรุง ดินเสื่อมโทรม
           2) พัฒนาพื้นที่ เพื่อใช้ในการเกษตร ให้เหมาะสม กับศักยภาพของพื้นที่
           3) เป็นแหล่ง ศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เกี่ยวกับการพัฒนา ที่ดิน เสื่อมโทรม
           4) เป็นแหล่ง ศึกษา ดูงาน

ระยะเวลาดำเนินงาน
           เริ่ม ปี พ.ศ.2529 ถึง ปัจจุบัน

พื้นที่ดำเนินการ
           บ้านเขาเขียว-เขาเสด็จ หมู่ที่ 2 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
           พิกัด E 576000 N 1416500 ระวางแผนที่ 4936 III
           ขอบเขตพื้นที่โครงการ 849 ไร่ พื้นที่ขยายผล 45,018 ไร่

ประโยชน์ที่ได้รับ
           1) พื้นที่โครงการฯ ได้รับการพัฒนาฟื้นฟู ปรับปรุงที่ดินเสื่อมโทรม ให้เป็นศูนย์ศึกษา ขนาดย่อม เพื่อการเผยแพร่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เหมาะสม ให้กับเกษตรกร ในบริเวณใกล้เคียง ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะวิธีการ ปรับปรุงบำรุงดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด
           2) ความอุดมสมบูรณ์ ของพื้นที่ โครงการ จากการพัฒนา และอนุรักษ์ สภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ ให้เป็นไป ตามระบบนิเวศ
           3) เป็นแหล่งพักผ่อน หย่อนใจ ตามธรรมชาติแก่ประชาชนทั่วไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
           สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน
           หน่วยงานร่วมดำเนินการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตรกรมวิชาการเกษตร วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกรมปศุสัตว์ กรมประมง