โครงการพัฒนาลุ่มน้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ต้นน้ำ น้ำหนาว

ความเป็นมา
           ในพื้นที่อำเภอน้ำหนาวนั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำที่สำคัญในชั้น 1 เอ สภาพปัญหาที่ปรากฏ คือ พื้นที่ลุ่มน้ำมีสภาพเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อคุณภาพลุ่มน้ำ และวิถีการผลิตของชุมชนเป็นปัจจัยเร่งของปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและแผ่นดินถล่มซึ่งเกิดขึ้นทั่วๆไปในพื้นที่ลุ่มน้ำอีกทั้งพื้นที่นี้ยังเป็นต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ได้แก่ ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำหนาว (ต้นน้ำป่าสัก) น้ำพอง น้ำเชิญ (ต้นน้ำชี)และ ห้วยผาลา(ต้นน้ำเลย) การจัดตั้งบ้านเรือนและมีการทำกิน บุกรุกทำลายป่าเป็นจำนวนมากและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่ถูกวิธีบนพื้นที่ลาดชันภูเขาสูงมาเป็นระยะยาวนาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพลุ่มน้ำ รวมทั้งรูปแบบการเพาะปลูกพืชของราษฎรที่ปลูกพืชพาณิชย์เป็นหลัก เช่น ข้าวโพด ขิง เป็นต้น เป็นรูปแบบที่มุ่งเน้นให้เกิดความเสียหายต่อลุ่มน้ำ ตลอดจนยังมีการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้นด้วย
           ในปีพ.ศ. 2544 แกนนำราษฎรอำเภอน้ำหนาวจำนวน 200 คน ไปศึกษาดูงานและเข้ารับการอบรมรูปแบบการพัฒนาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อการเรียนรู้และนำรูปแบบ-ความรู้เพื่อไปใช้ในการแก้ไขปัญหา และหลังจากนั้นสำนักงาน กปร. และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้เดินทางไปติดตามเยี่ยมชมสภาพพื้นที่และแนวทางการนำผลการฝึกอบรมจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ไปใช้ในการพัฒนาชุมชน แกนนำชุมชนได้ขอคำแนะนำและความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ต้นน้ำในเขตอำเภอน้ำหนาว ด้านการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการทำการเกษตรบนพื้นที่ต้นน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และด้านการวางแผนและการดำเนินการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของการทำโครงการที่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
           สำนักงาน กปร. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลเบื้องต้นและได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่อำเภอน้ำหนาว มีสภาพปัญหาที่มีความสำคัญควรที่จะได้จัดทำโครงการดำเนินการในลักษณะดำเนินงานแบบเบ็ดเสร็จตามรูปแบบโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจาพระราชดำริ โดยนำแนวทางการพัฒนาที่ได้จากการศึกษาและพัฒนาตามแนวพระราชดำริเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้เพื่อการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำอำเภอน้ำหนาว โดยมีสภาพปัญหาที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
           1) ประชาชนมีฐานะยากจนและมีภาวะหนี้สินสูง
           2) พื้นที่ลุ่มน้ำน้ำหนาวมีสภาพเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพลุ่มน้ำและวิถีการผลิตของชุมชน รวมทั้งส่งผลต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำและคุณภาพชีวิต
           3) ขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่
           4) ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน

วัตถุประสงค์
           พัฒนาคุณภาพลุ่มน้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้สัมพันธ์ และเอื้อประโยชน์ต่อกันได้อย่างยั่งยืน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอน้ำหนาวได้รับการฟื้นฟู และพัฒนาจนมีสภาพที่สมบูรณ์ เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของราษฎร ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ ทำให้คนสามารถอยู่กับป่าได้

ระยะเวลาดำเนินงาน
           เริ่ม ปี พ.ศ. 2545 จนถึง ปัจจุบัน

พื้นที่ดำเนินการ
           ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4 ตำบล คือ ตำบลหลักด่าน, ตำบลวังกวาง ,ตำบลน้ำหนาว ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์
           พื้นที่ทั้งหมดของโครงการ 280,625 ไร่

ประโยชน์ที่ได้รับ
           1) ทำให้พื้นที่โครงการฯ และบริเวณใกล้เคียงเกิดความชุ่มชื้นขึ้น เป็นการรักษาป่าไม้ธรรมชาติและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
           2) ทำให้พื้นที่โครงการฯ สามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
           3) เพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจตามธรรมชาติแก่ประชาชนทั่วไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
           สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 กรมพัฒนาที่ดิน