โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน ตามแนวพระราชดำริ
ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร

ความเป็นมา
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีความห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรบริเวณพื้นที่ ห้วยบางทรายตอนบน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร จึงได้พระราชทาน พระราชดำริ เกี่ยวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำ และงานพัฒนาอาชีพ ของราษฎรหลายครั้ง สรุปแนวพระราชดำริ ได้ดังต่อไปนี้

           เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระราชดำรัสกับพลเอกเทียนชัย จันมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เกี่ยวกับงานชลประทาน สรุปความว่า ให้กรมชลประทานตรวจสอบพื้นที่ สภาพการถือครองที่ดิน สภาพน้ำท่าในลำห้วยสายต่างๆ ตลอดจน สภาพการเพาะปลูก และการทำกิน ของราษฎร ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.สมุทรปราการ เพื่อใช้เป็นข้อมูล ประกอบการพิจารณาศึกษา และก่อสร้างแหล่งน้ำ ช่วยเหลือการเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภค ของราษฎร บริเวณดังกล่าว และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันดำเนินการให้เกิดการจัดการในรูปแบบเดียวกับสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตามที่ทรงวางโครงการในแผนที่ มาตราส่วน 1:50,000 ดังนี้
                      1. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพุง เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือราษฎร บ้านคำผักกูด และบริเวณใกล้เคียง
                      2. โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านคำผักกูด เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรบ้านปากช่อง และบริเวณใกล้เคียง
                      3. โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านสานแว้(ห้วยด่าน) เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรที่มีที่ทำกินทางด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ
                      4. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหอย เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรบ้านปากช่องและบริเวณใกล้เคียง
                      5. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพุ เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรบ้านนาหินกอง และบริเวณใกล้เคียง

           เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร แก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน สรุปได้ดังนี้ ควรเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน เนื้อที่ประมาณ 102,000 ไร่ โดยมีคณะกรรมการบริหาร โครงการฯ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการต่างๆ และควรกำหนดพื้นที่โครงการออกเป็นเขตให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม คือ เขตพัฒนาอาชีพเสริม เขตพัฒนาการเกษตร และเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า
           1) เขตที่ 1 (เขตพัฒนาอาชีพเสริม) ได้แก่ พื้นที่ทางตอนบนบริเวณบ้านคำผักกูด บ้านสานแว้ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ซึ่งปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็ก ที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วและที่กำลังก่อสร้าง ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำต่างๆเหล่านั้นมีไม่มากคงไม่เพียงพอส่งช่วยเหลือให้ราษฎรใช้ทำการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับ ในปัจจุบันที่บ้านสานแว้ เป็นที่ตั้งศูนย์ศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จึงควรกำหนดเขตที่ 1 เป็นพื้นที่พัฒนาอาชีพเสริม เนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ไร่
           2) เขตที่ 2 (เขตพัฒนาการเกษตร) ได้แก่ พื้นที่ต่อจากเขตที่ 1 บริเวณบ้านปากช่อง และบ้านนาหินกอง ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร กรมชลประทานควรเร่งพิจารณาและเร่งก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหอยและโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพุ โดยกำหนดขนาดความจุอ่างให้เก็บน้ำให้ได้มากที่สุด จะทำให้มีน้ำเพียงพอส่งช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,300 ไร่ พื้นที่เขตนี้ควรพิจารณาจัดแบ่งเป็นแปลงๆตามขนาดความเหมาะสม เพื่อให้ราษฎรในเขตโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่ทำกินได้เข้าอยู่อาศัย โดยมีการจัดการ ในลักษณะเดียวกับ สหกรณ์การเกษตร หุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
           3) เขตที่ 3 (เขตพัฒนาการเกษตร) ได้แก่ พื้นที่บริเวณบ้านแก่งนาง ต.กกตูม อ.ดงหลวงจ.มุกดาหาร ซึ่งปัจจุบัน ได้รับน้ำ ทำการเกษตร จากโครงการ อ่างเก็บน้ำ ห้วยทา อยู่แล้ว และพื้นที่ที่จะได้รับน้ำจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ เมื่องานก่อสร้างนี้แล้วเสร็จ
           4) เขตที่ 4 (เขตอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า)

ระยะเวลาดำเนินการ
           เริ่ม ปี พ.ศ.2538 จนถึง ปัจจุบัน

พื้นที่ดำเนินการ
           ตั้งอยู่ที่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร
           พื้นที่โครงการทั้งหมด 102,000 ไร่
           พิกัด N 1842109.37 – 185867.84 E 404140.76 – 428953.09 ระวางแผนที่ 5436 IV

ประโยชน์ที่ได้รับ
           1) สามารถอนุรักษ์ป่าที่สมบูรณ์ให้คงสภาพ และฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เพื่อเป็นแหล่งลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
           2) จัดพื้นที่ที่เหมาะสมพร้อมทั้งทำการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในด้านแหล่งน้ำ และที่ทำกินให้แก่ราษฎรในเขตโครงการ จะช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าได้ทางหนึ่ง
           3) สามารถช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรในเขตโครงการให้มีสภาพที่ดีขึ้น
           4) สามารถช่วยให้ราษฎรเกิดความเข้าใจในการรวมกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมในรูป สหกรณ์การเกษตรและหัตถกรรม

หน่วยงานที่รับผิดชอบ สถานีพัฒนาที่ดินมุกดาหาร สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 กรมพัฒนาที่ดิน