โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
ความเป็นมา
           เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ราษฎรได้น้อมเกล้าถวายที่ดินหมู่ที่ 2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ พระองค์ได้เสด็จฯทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว และทรงมีพระราชดำริกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหน่วยงานราชการต่างๆ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาตัวอย่าง สาธิตการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจเข้าชมศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม จากพระราชดำริข้างต้น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน ได้ประชุมปรึกษาหารือกันมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าของเรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารและกรรมการที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา" คณะกรรมการบริหารฯ ได้ทำหนังสือ ในนามของ กรมพัฒนาที่ดิน กส.1801/1094 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 ถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความ กราบบังคมทูล พระกรุณาขอรับ พระราชทาน ชื่อของศูนย์ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่การดำเนินงานโครงกาสนองพระราชดำริสืบไป และทางสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งให้ทราบตามหนังสือที่ รล.002/3041 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2523 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา" เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2524 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติ ให้แต่งตั้งเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงคณะกรรมการบริหารของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนใหม่ เรียกว่า "คณะกรรมการ บริหาร โครงการศูนย์ศึกษา การพัฒนาเขาหินซ้อน" ประกอบด้วย หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานต่างๆหลายกระทรวงทบวงกรม รวมทั้งภาค เอกชนเป็นกรรมการและเลขานุการ และทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ จ.ฉะเชิงเทรารับผิดชอบต่อพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ ดูแลให้ความปลอดภัยแก่บุคคลและสนับสนุนการดำเนินงานที่ร่วมกันดำเนินงานอยู่ โดยคณะกรรมการบริหารฯ ได้พิจารณาจำแนกพื้นที่ ภายในศูนย์ศึกษาฯ ตามความเหมาะสม พร้อมทั้งมอบหมาย ให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ และเหมาะสมกับท้องถิ่น
           นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยที่เกี่ยวกับที่ดินที่ราษฎร อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี น้อมเกล้าฯ ถวายให้เป็นที่ดินส่วนพระองค์ เนื้อที่ 86 ไร่ และกรมพัฒนาที่ดินได้รับแจ้งหนังสือจากราชเลขาธิการ ตามหนังสือที่ รล.0007/9937 ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2524 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สถานที่ดังกล่าวจัดตั้งเป็นสาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโปรดเกล้าฯ ให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และกรมประมง ร่วมกันพิจารณาดำเนินการ ดังนั้น นับตั้งแต่เริ่มตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้มีราษฎรที่มีจิตศรัทธาน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 497 ไร่ ผนวกกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมดของศูนย์ศึกษาการพัฒนเขาหินซ้อน 1,227 ไร่เศษ นอกจากนี้ราษฎร ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินรวม 3 แปลง จำนวน 145 ไร่ ดำเนินการจัดทำในลักษณะ "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ" คือ ทำทั้งการสาธิตเพื่อเป็นตัวอย่างและให้บริการพัฒนาแก่ราษฎรด้วย โดยใช้ชื่อว่า "ศูนย์บริการพัฒนาบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี" ซึ่งอยู่ในข่ายความรับผิดชอบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอีกประการหนึ่ง นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพื้นที่ส่วนที่ติดกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนประมาณ 642 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยและทดสอบการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแน่นอนขึ้นเป็นการสนับสนุนศูนย์ศึกษาฯอีกด้านหนึ่งด้วย คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนได้กำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชดำริที่ได้รับพระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้และได้แบ่งพื้นที่หลักเป็นจำนวน 4 พื้นที่ กล่าวคือ
           1) พื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 1,227 ไร่เศษ ผนวกกับพื้นที่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ประมาณ 642 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ที่ทำการศึกษาวิจัย และทดสอบพัฒนา ด้านการเกษตร รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 1,869 ไร่
           2) ต.บ้านซ่อง และ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 84 ไร่
           3) พื้นที่ราษฎรรอบนอกศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำโจนเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จำนวน 14 หมู่บ้าน ในเขต ต.เขาหินซ้อน และ ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 56,000 ไร่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริวาร
           4) อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 145 ไร่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการพัฒนาในเขต จ.ปราจีนบุรี เป็นศูนย์บริวารของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน นอกจากพื้นที่หลักดังกล่าวแล้ว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนยังทำหน้าที่ในการถ่ายทอดวิชาการแผนใหม่ทั้งด้านการเพาะปลูกพืช การปศุสัตว์ การประมง การพัฒนาที่ดิน รวมทั้งด้านศิลปาชีพให้แก่เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจ ทั้งใน จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกและภาคกลางด้วย

วัตถุประสงค์
           1) เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรในบริเวณลุ่มน้ำห้วยเจ๊กและห้วยน้ำโจน ซึ่งอยู่ในเขต ต.เขาหินซ้อน และ ต.เกาะขนุน มีพื้นที่ประมาณ 56,000 ไร่ มีรายได้พอเพียงต่อการยังชีพ คือ ประมาณ 20,000 บาท/ครอบครัว/ปี และจะใช้พื้นที่เป็นพื้นที่พัฒนาตัวอย่าง เพื่อให้ศึกษาแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นอื่นๆต่อไป
           2) เป็นแหล่งศึกษาวิชาการในการหาลู่ทางพัฒนาการเกษตรและอาชีพของเกษตรกรในภาคตะวันออก โดยเฉพาะใน จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี
           3) เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่เกษตรกร

ระยะเวลาดำเนินการ
           เริ่ม ปี พ.ศ.2522 จนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ดำเนินการ
           หมู่ที่ 1-14 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม หมู่ที่ 5,7,8,13,15 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม ขอบเขตพื้นที่โครงการจำนวน 1,895 ไร่ และพื้นที่ขยายผล 153,383 ไร่
           พิกัด N 1519827 - 1522807 E 770380-772254 ระวางแผนที่ 5236 I,II 5336 III,IV

ประโยชน์ที่ได้รับ
           1) ราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ ได้รับการพัฒนาด้านการเกษตรแผนใหม่ที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะการเกษตรผสมผสาน การเกษตรทฤษฎีใหม่ การเลี้ยงสัตว์และการประมง
           2) ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น
           3) มีการฟื้นฟูสภาพป่า ลดสภาวะโลกร้อน
           4) มีการส่งเสริมการทำศิลปหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
           สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 กรมพัฒนาที่ดิน