โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนครนายก (คลองท่าด่าน)

ความเป็นมา
          เขื่อนขุนด่านปราการชล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มก่อสร้าง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงดำริว่า "…การสร้างแหล่งน้ำผิวดินเพื่อกักเก็บรวบรวมทรัพยากรน้ำไว้ ประกอบกับการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อควบคุมระดับน้ำจะบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ทั้งยังช่วยป้อนน้ำ ให้กับพื้นที่การเกษตร ได้อย่างพอเพียง ชะล้างความเป็นกรดให้หมดไปจากผืนดิน ท้ายสุดผลประโยชน์ ก็จะตกกับชาวไร่ชาวนา และประชาชนโดยถ้วนหน้า…"
          เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน พิจารณา วางโครงการ เพื่อก่อสร้าง เขื่อนขุนด่านปราการชลบริเวณบ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก เพื่อบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำนครนายกที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และช่วยราษฎรให้มีน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภค – บริโภค รวมทั้งเพื่อการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วย โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน
          "…มีคนบอกว่าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ ข้อนี้เป็นความคิดที่ผิด หรือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะหากโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ เมืองไทยไม่เจริญ พระราชดำรินั้นก็เป็นความคิดของพระราชา ถ้าความคิดของพระราชาแก้ไขไม่ได้ ก็หมายความว่าเมืองไทยมีความก้าวหน้าไม่ได้ ฝายตามพระราชดำริลูกนั้น ได้บริการประชาชนมาเป็นเวลานานแล้ว และก็ได้ผลคุ้มค่ามาแล้ว ตอนนี้มีความจำเป็นที่จะสร้างโครงการใหม่แทนโครงการพระราชดำริเดิมนี้ก็ต้องอนุญาต ฉะนั้นได้บอกกับทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนใหม่ว่าอนุญาตให้รื้อโครงการตามพระราชดำริเดิม จะได้สบายใจกัน มิฉะนั้นเดี๋ยวจะหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรืออะไรทำนองนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เกิดเดือดร้อนกันทั่วประเทศ จึงต้องบอกว่าอนุญาต แม้ไม่มีสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้รื้อฝายนั้นและสร้างเขื่อนอันใหญ่โตสูงและจุน้ำถึง 240 ลูกบาศก์เมตร เขื่อนนี้จะช่วยให้สามารถทำการเพาะปลูกเป็นจำนวนแสนไร่ และไม่ต้องสร้างระบบเพราะระบบมีอยู่แล้ว..."
          "โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย แต่ถ้าดำเนินการเดี๋ยวนี้ อีก 5 – 6 ปีข้างหน้า เราสบาย และถ้าไม่ทำ อีก 5 – 6 ปีข้างหน้า ราคาค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินการก็จะสูงขึ้นอีกเป็น 2 เท่า 3 เท่า ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไป ก็จะไม่ได้ทำ เราก็จะต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราจะอพยพไปไหนไม่ได้..."
          "…ฉะนั้นการที่มาเล่าให้ฟังว่าคิดจะสร้างเขื่อนนครนายกนี้ ก็เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต เพื่อที่จะต้องไม่เสียใจว่า ทำไมเมื่อ 6 ปีก่อนนั้นไม่ได้ทำ ความจริงเรื่องแม่น้ำนครนายกก็ตาม แม่น้ำป่าสักก็ตามได้มีการศึกษาเป็นเวลาแรมปีแล้ว แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติ เพราะกลัวคนจะโจมตี ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราเสียใจ เสียใจว่าไม่ได้ทำ จนต้องมาเผชิญกับภัยแล้ง ถ้าไม่ได้กลัว กล้าทำเมื่อ 6 ปี ก็น่าจะสร้างมาได้มากแล้ว ที่จริงวางโครงการมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว…"
          (พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536)
          เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินตรวจ ภูมิประเทศที่จะสร้างเขื่อน "บ้านท่าด่าน" (น้ำตกเหวนรก)
          วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรฝายคลองท่าด่านซึ่งก่อสร้างแล้วตามพระราชดำริ
          วันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไป จ.นครนายกอีกครั้ง เพื่อทอดพระเนตรโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำนครนายก
          วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปได้ว่า "...ให้พิจารณาสร่งอ่างเก็บน้ำคลองท่าด่าน ที่ บ.ท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก โดยเร่งด่วน เนื่องจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้อยู่ในบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขา สามมารถแบ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ราษฎรทางตอนล่างได้เป็นจำนวนมาก..."
          วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเก็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน ณ โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังจากที่ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว ได้เสด็จฯไปประทับยังอาคารรับรองเพื่อเสวยพระกระยาหาร พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเปี่ยมไปด้วยความเบิกบานพระราชหฤทัยด้วยรอยยิ้ม แสดงถึงความพอพระราชหฤทัยในผลการดำเนินงานของหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดำเนินโครงการเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เห็นเป็นรูปธรรมซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว
          วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนนี้แห่งนี้ว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล (KHUN DAN PRAKARNCHON DAM)

วัตถุประสงค์
          1) เพื่อเป็นแหล่งต้นทุนของโครงการเขื่อนทดน้ำนครนายกและโครงการฝายท่าด่าน โดยสามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 185,000 ไร่
          2) เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของเขต จ.นครนายก
          3) เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค – บริโภค 5,400 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า 357 ล้านบาท/ปี
          4) เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวทำให้การเกษตรได้ผลผลิตดี

เป้าหมาย
          1) เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถกักเก็บและจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบให้แก่พื้นที่เกษตรกรรม 185,000 ไร่ โดยมีเกษตรกรกว่า 9,000 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์
          2) แก้ไขปัญหากินเปรี้ยวและจัดการดินในพื้นที่รับน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ
          3) พัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่โครงการฯ เพื่อยกระดับการดำรงชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ระยะเวลาดำเนินการ
          เริ่มก่อสร้างเขื่อน ปี พ.ศ.2540 – 2547 และดำเนินการต่อเนื่องในปัจจุบัน

พื้นที่ดำเนินการ
          บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งพื้นที่โครงการ ที่เป็นเป้าหมาย ในการวางแผน การพัฒนาพื้นที่ แหล่งน้ำ และแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวใน จ.นครนายก มีขอบเขตพื้นที่ โครงการรอบ คลุมพื้นที่ 4 อำเภอ 19 ตำบล ของ จ.นครนายก พื้นที่โครงการ 291,210 ไร่ ได้แก่
                    - อ.เมืองนครนายก ประกอบด้วย ต.ดงละคร ต.ดอนยอ ต.ท่าช้าง ต.สาริกา ต.หินตั้ง ต.ศรีนาวา ต.ศรีจุฬา ต.นครนายก ต.วังกระโจม และ ต.ท่าทราย
                    - อ.ปากพลี ประกอบด้วย ต.เกาะโพธิ์ ต.ปากพลี ต.ท่าเรือ ต.หนองแสง และ ต.เกาะเพลวง
                    - อ.องครักษ์ ประกอบด้วย ต.ทรายมูล ต.บางสมบูรณ์ และ ต.บางลูกเสือ
                    - อ.บ้านนา ประกอบด้วย ต.บางอ้อ
          และพื้นที่ 2 อำเภอ 3 ตำบล ของ จ.ปราจีนบุรี ได้แก่ อ.เมืองปราจีนบุรี ประกอบด้วย ต.วัดโบสถ์ อ.บ้านสร้าง ประกอบด้วย ต.บางพลวง และ ต.บ้านสร้าง

ขั้นตอนการดำเนินงาน
          1) ก่อนก่อสร้างได้ดำเนินการจัดหาที่ดิน พร้อมจ่ายเงินทดแทนค่าที่ดินและสินทรัพย์ รวมทั้งเงินชดเชย การจัดที่ดิน เพื่อการอพยพ ให้กับราษฎร ที่ได้รับผลกระทบ
          2) เริ่มก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 พร้อมระบบส่งน้ำ เป็นเขื่อน คอนกรีต บดอัด ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย สามารถ กักเก็บน้ำ ได้ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำ และระบบระบายน้ำมีพื้นที่รวม 185,000 ไร่ คลองส่งน้ำรวมยาว 41.440 กม. พร้อมปรับปรุงเส้นทางคมนาคม
          3) สำรวจทรัพยากรดินเพื่อจัดทำแผนที่ดิน ในการแก้ไขปัญหา ดินเปรี้ยว โดยการใช้น้ำ ชะล้างความเปรี้ยว ของดิน ควบคู่กับการใช้ปูนมาร์ล
          4) จัดทำแผนพัฒนาและส่งเสริมอาชีพในพื้นที่รับประโยชน์โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2549-2553 เป็นเครื่องมือชี้นำ การดำเนินงาน ประสานงาน จัดสรรทรัพยากร และติดตาม ผลการดำเนินงาน เพื่อให้การบริหาร จัดการน้ำคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ในทุกด้าน ประชาชน ได้รับการพัฒนา เพื่อยกระดับการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตอยู่ดีมีสุขออย่างยั่งยืน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
          1) ผลผลิตพืช เพิ่มขึ้น เนื่องจาก กรดในดิน เจือจางลงตอบสนอง ต่อการเจริญเติบโต
          2) ราษฎรมีอาชีพ มีงานทำมีรายได้ พอเลี้ยงตนเอง และครอบครับของพืช
          3) เพิ่มศักยภาพ ของพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้นำมาใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้เต็มที่
          4) เป็นการเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพืชให้แก่ดินแก้ไขปัญหาโครงสร้างดินที่แน่นทึบ
          5) ราษฎรนำความรู้ ด้านการเกษตร และนำไปใช้ ในพื้นที่ตนเอง ได้อย่างเหมาะสม และถูกต้อง ตามหลักวิชาการ

หน่วยงานรับผิดชอบ
          - กรมชลประทาน
          - กรมพัฒนาที่ดิน
          - กรมประมง
          - สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก กรมส่งเสริมการเกษตร
          - กรมวิชาการเกษตร
          - สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
          - กรมศิลปากร
          - กรมประชาสัมพันธ์
          - จังหวัดนครนายก