กรมพัฒนาที่ดิน แนะแผนรับมือภัยดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝน พร้อมแนวทางฟื้นฟูดินในพื้นที่การเกษตร


วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2567
สามารถติดตามได้ที่ เว็บไซต์: http://irw101.ldd.go.th หรือทาง Facebook: ncarp disaster

           นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน (Climate Change) ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย สำหรับในประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์ดินถล่ม สร้างความเสียหาย และการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนหลายครั้ง โดยที่สำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2531 เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช และปี พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ดินถล่มขนาดใหญ่ที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งภายหลังเกิดเหตุส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสูญหาย ทรัพย์สินและบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยดินโคลนถล่ม จะมีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน อยู่ใกล้ลำน้ำ เป็นทางของน้ำป่าไหลผ่าน มีรอยดินเลื่อนหรือแยกจากการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นบ่อยครั้ง ประกอบกับเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือนานกว่า 6 ชั่วโมง ก่อนเกิดเหตุดินโคลนถล่มจะมีสัญญาณความผิดปกติของธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำและลำห้วยเพิ่มสูงขึ้น น้ำมีสีขุ่นมากกว่าปกติ เปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา ดินมีสภาพอิ่มน้ำ หรือชุ่มน้ำมากกว่าปกติ

           กรมพัฒนาที่ดิน มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร จึงแนะแนวทางและมาตรการรับมือกับภัยดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันและช่วยลดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1) ก่อนเกิดภัย ให้หมั่นสังเกตความผิดปกติของธรรมชาติดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีประวัติดินถล่ม เกิดน้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้ง หากได้รับสัญญาณเตือนภัย ให้อพยพไปในพื้นที่สูงและมั่นคง ตามเส้นทางที่จัดเตรียมไว้ ระยะที่ 2) เพิ่มศักยภาพพื้นที่ให้สามารถรับมือกับภัยดินถล่มที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การทำขั้นบันไดดิน ทำคันคูรับน้ำขอบเขา สร้างฝายชะลอความเร็วน้ำ ปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้รากของหญ้าแฝกช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย รวมทั้งปลูกพืชหมุนเวียน ระยะที่ 3) รักษาฟื้นฟูสภาพดิน ปลูกพืชคลุมดิน ไม่ตัดไม้ทำลายป่าปลูกไม้ยืนต้นบริเวณป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมเพื่อรักษาหน้าดินและชะลอความแรงของน้ำ ป้องกันดินถล่มในระยะยาว ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้ติดตามสถานการณ์ และข้อมูลพยากรณ์อากาศ พร้อมเฝ้าระวังและแจ้งข่าวสารให้กับเกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้นอย่างรู้เท่ากันสถานการณ์ โดยสามารถติดตามได้ที่ เว็บไซต์: http://irw101.ldd.go.th หรือทาง Facebook: ncarp disaster

           รายงาน :  กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
           ภาพ :  กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
           ข้อมูล :  กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป