สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนด้วยเทคโนโลยีชักนำรากลอย ในพื้นที่ จ.สตูล


วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567
ณ พื้นที่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

           วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 นายสุชล แก้วเกาะสะบ้า ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 พร้อมด้วย นายวีระพจน์ เรืองมี ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ณ พื้นที่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยมี นายอิทธิศักดิ์ ขุนทอง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสตูล และเจ้าหน้าที่ในสังกัดร่วมให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมแปลงเกษตรด้วยการใช้นวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงจากการวิจัยและพัฒนาการชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem: RRE) เป็นนวัตกรรมที่สร้างระบบนิเวศให้มีฮิวมัสและสารคีเลต เพื่อให้รากฝอย (fineroot) หาน้ำและแร่ธาตุร่วมกับระบบจุลินทรีย์ในดินอย่างสมดุล และนวัตกรรมการให้น้ำแบบที่ราบลุ่ม (Basin Fertigation : BF) ให้น้ำตามการปิดเปิดปากใบของทุเรียน และสภาพน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อชักนำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมและรสชาติดี นวัตกรรมนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับรากทุเรียนและสิ่งแวดล้อม โดยการปล่อยให้รากลอยจากพื้นไม่เกิน 30 ซม. ให้รัศมีรากลอยไม่เกินทรงพุ่ม แล้วนำใบไม้ เศษวัสดุธรรมชาติมาปิดทับ เมื่อรากดีหากินได้ดี ทำให้ต้นทุเรียนมีสภาพดี ออกติดผลได้ง่าย ทุเรียนออกดอกติดผลเอง บางแปลงมีโรครากเน่าโคนเน่า สามารถฟื้นต้นกลับมามีสุขภาพแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตัวเอง ไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำ ทุเรียนไม่เป็นไส้ซึม มีคุณภาพที่ดี จากระบบนิเวศของรากที่พึ่งพา (Symbiosis) กับจุลินทรีย์ช่วยตรึงธาตุอาหาร เป็นผลให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรไปได้อย่างมาก

           รายงาน :  สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป