รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อนุวัชร โพธินาม ติดตามการดำเนินงานโครงการแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรกรรม จังหวัดลำปาง


วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567
ณ ตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

           วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567 นายอนุวัชร โพธินาม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ พร้อมด้วยนายเอนก ดีพรมกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด ลงพื้นที่จังหวัดลำปางเพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ลุ่มน้ำย่อยห้วยแม่สามขา ลุ้มน้ำสาขาน้ำแม่จาง และลุ่มน้ำหลักแม่น้ำวัง ณ ตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวตามแบบมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำทางวิธีกล สำหรับการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ทั้งการจัดการพื้นที่บนแปลงเกษตรกรรม (On Site) เพื่อการจัดการน้ำไหลบ่าไม่ให้มีความรุนแรงในการพัดพามวลดินในแปลงเกษตรให้ไหลไปกับน้ำ โดยอาศัยการปรับโครงสร้างพื้นที่แปลงเกษตร ได้แก่ ขั้นบันไดดินแบบต่อเนื่อง ปรับระดับพื้นที่นา (Land Leveling) เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งคือการจัดการควบคุมการไหลของน้ำในลำน้ำ (Off Site) เพื่อควบคุมความเร็วการไหลไม่ให้มีความเร็วมากจนเกิดการกัดเซาะลำน้ำ (Channel Erosion) เพื่อชะลอการไหลของน้ำด้วยการปรับความลาดชันของลำน้ำเดิม พร้อมก่อสร้างฝายชะลอน้ำเป็นช่วง ๆ เพื่อลดความเร็วของกระแสน้ำ และรักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน

           นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน โดยสร้างบ่อดักตะกอนขนาดใหญ่ทำหน้าที่ดักตะกอนและเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยท่อและคลองส่งน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชของพื้นที่เกษตรกรรมในโครงการ นับตั้งแต่ดำเนินโครงการมาจนถึงขณะนี้ปรากฎผลสำเร็จที่ชัดเจน จากกรณีผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นโนรู (NORU) เมื่อปี 2565 ทำให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยระบบบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำด้วยมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำไหลบ่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่โครงการดังกล่าวได้รับความเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง

           การดำเนินโครงการฯ สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้คุ้มค่ามากขึ้น ลดการสูญเสียหน้าดินที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตภาคการเกษตร และเก็บรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคการเกษตรซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมตรงตามศักยภาพของพื้นที่ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้กับเกษตรกรอีกด้วย จากผลสำเร็จของโครงการนี้จะนำไปเป็นโมเดลต้นแบบการแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรกรรมในอีกหลายพื้นที่ต่อไป

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  สำนักรองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป