นักวิจัยกรมพัฒนาที่ดินเจ๋ง คว้ารางวัลสาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ปี 2566


วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566
ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

           ผลงานวิจัย “ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์และรูปแบบผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม” เจ๋ง ช่วยแก้ปัญหาทุกข์เกษตรกรจากไส้เดือนฝอยรากปมระบาด กรมพัฒนาที่ดิน คัดเลือกให้รับรางวัลชนะเลิศภาคบรรยาย สาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ในการประชุมวิชาการ ประจำปี 2566 “พื้นฟูปฐพี สร้างสรรค์ดินดี ด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน” นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า เนื่องจาก ไส้เดือนฝอยรากปม เป็นศัตรูพืช ที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น พืชหัว พืชผัก ไม้ผล พืชเส้นใย ไม้ดอก ไม้ประดับ และธัญพืช เป็นต้น ซึ่งทำความเสียหายกับพืชมากมายในหลายพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ใน การควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม เป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม และมีต้นทุนต่ำ ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน จึงมีการศึกษาวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์และรูปแบบในการใช้ประโยชน์กับพืช เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ที่เป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ส่งเสริมแก่เกษตรกรต่อไป ในการนี้นักวิชาการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วย นางสาวดารารัตน์ โฮตาก้า, นางนวลจันทร์ ชบา, นางสาวพนิดา ปรีเปรมโมทย์ จึงได้ดำเนินการวิจัย ภายใต้หัวข้อ “ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์และรูปแบบผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม” “การศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์และรูปแบบผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ถือเป็นอีกผลงานการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดินที่เกิดผลสำเร็จ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำองค์ความรู้ไปแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน จึงคัดเลือกให้การวิจัย “ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์และรูปแบบผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม” ได้รับรางวัลชนะเลิศภาคบรรยาย สาขาเทคโนโลยี ชีวภาพทางดิน ในการประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2566 “ฟื้นฟูปฐพี สร้างสรรค์ดินดี ด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางดิน และทิศทางวิชาการ เพื่อพัฒนาที่ดินสู่การใช้ประโยชน์ที่ดิน 15 ล้านไร่ ตามวิสัยทัศน์ องค์การอัจฉริยะทางดินเพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

           ด้าน นางสาวดารารัตน์ โฮตาก้า นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการเลี้ยงเพิ่มปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม พร้อมศึกษาวัสดุรองรับและวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม และศึกษาอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในมะเขือเทศ สภาพโรงเรือนทดลอง โดยดำเนินการศึกษาวิจัย ระหว่างปี 2562 – 2564 ณ ห้องปฏิบัติการ และโรงเรือนทดลอง กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ประกอบด้วย 4 การทดลอง โดยการทดลองที่ 1 ศึกษาการอยู่ร่วมกันของจุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอย 2 สายพันธุ์ ประกอบด้วย Bacillus megaterium NW 7-A3 และ B. Subtilis NT 2-2 ผลการทดลอง พบว่า จุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมทั้ง 2 สายพันธุ์ ที่นำมาทดสอบการอยู่ร่วมกันด้วยวิธีการขีดเชื้อแบบตัดกัน (cross streak assay) ไม่มีการสร้างสารปฏิชีวนะต่อกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้

           นางสาวดารารัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการทดลองที่ 2 ศึกษาอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญและเพิ่มปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ผลการทดลอง พบว่า อาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญของแบคทีเรียทั้ง 2 สายพันธุ์ คือ tryptic soy broth ให้ค่าความขุ่นสูงสุดที่ 24 ชั่วโมงเท่ากับ 2.498 ขณะที่การทดลองที่ 3 ศึกษาวัสดุรองรับและรูปแบบผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ผลการทดลองพบว่า แบคทีเรีย 2 สายพันธุ์ มีปริมาณเชื้อ และอยู่รอดได้ดีที่สุดในรูปแบบผงแห้งที่ใช้วัสดุรองรับทัลคัมและคาโอลิน โดย B. megaterium NW 7-A3 มีปริมาณเชื้อเริ่มต้น 5.13 x 1014 และ 4.5 x 1014 เซลล์ต่อกรัม ตามลำดับ และ B. subtilis NT2-2 มีปริมาณเชื้อเริ่มต้น 4.43 x 1014 และ4.37 x 1014 เซลล์ต่อกรัม ตามลำดับ” “สำหรับการทดลองที่ 4 เป็นการศึกษาวิธีการ และอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์แบคทีเรียควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในมะเขือเทศสภาพโรงเรือน ผลการทดลอง พบว่า การใช้ผลิตภัณฑ์แบคทีเรียรูปแบบผงแห้งวิธีรองก้นหลุม ทำให้จำนวนปมราก และค่า Gall index ลดลงมากกว่าการใช้วิธีราดลงดิน ส่วนวิธีการราดลงดินอัตรา 200 กรัม ละลายน้ำ 20 ลิตร มีผลทำให้ปริมาณไส้เดือนฝอยรากปม ระยะทำลายในดินลดลงต่ำที่สุด” นางสาวดารารัตน์ กล่าว

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป