อธิบดี พด. เปิดประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565 : 60 ปี กรมพัฒนาที่ดิน การเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหน้า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565
โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต

           กรมพัฒนาที่ดินจัดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2565 ระดมสมองนักวิชาการ แลกเปลี่ยนผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดตามเป้าหมาย สอดคล้องแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรม นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการจัดการทรัพยากรดินและที่ดิน เพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565 นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานการประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565 ภายใต้ชื่องาน “60 ปี กรมพัฒนาที่ดินการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหน้า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจากนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ ในฐานะผู้แทนจังหวัดภูเก็ต นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธีเปิดในครั้งนี้ พร้อมด้วย ดร.สถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ของการประชุมฯ ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ผู้อำนวยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด และนักวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน เข้าร่วมประชุม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต

           นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า “การจัดประชุมวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อตอบสนองนโยบายการดำเนินงานวิจัยของกรมฯ ให้ได้เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และพืช รวมทั้งเทคโนโลยีชีวภาพทางดินในการเพิ่มผลิตภาพของดิน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตพืช ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่มีความคุ้มค่าสูงที่สุด โดยมีการนำเสนอ ผลสำเร็จงานวิชาการของกรมฯ ครอบคลุมทุกสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 9 เป้าหมายการพัฒนา การทำงานวิชาการในยุคปัจจุบันของนักวิชาการกรมฯ จะต้องมีความรู้ทางวิชาการที่ดี และมีความทันสมัย ตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งมีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของกรมฯ ที่เกิดจากงานวิจัยในการดำเนินงานโครงการที่สำคัญของกรมฯ เช่น โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอื่นที่เกมาะสม การปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น สำหรับแนวทางการวิจัยในอนาคตจะต้องมีการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาทางด้านการพัฒนาที่ดินในอนาคต และหาแนวทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนานักวิชาการกรมฯ ให้เป็น Smart officer ที่มีความรู้ดี รู้จริง รู้ลึก และรู้คิด ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจกรมฯ ให้มีความก้าวหน้าประสบความสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนางานวิชาการของกรมฯ ให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป”

           ดร.สถาพร ใจอารีย์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า “การประชุมวิชาการในครั้งนี้ เพื่อให้มีการนำเสนอผลงานวิชาการดีเด่นของกรมพัฒนาที่ดินและมีคุณภาพสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมกรมพัฒนาที่ดิน ตามเป้าหมายการพัฒนา 9 เป้าหมาย คือ 1) ด้านการวิจัยเกี่ยวกับพืชอัตลักษณ์ และพืชทางเลือก 2) ด้านการวิจัยบูรณาการที่รองรับ BCG Model 3) ด้านการวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ 4) ด้านการวิจัยเชิงนโยบาย มาตรการ กฎหมาย เพื่อรองรับด้านการพัฒนาที่ดิน 5) ด้านการวิจัยระบบสนับสนุนการตัดสินใจการผลิตและการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพ 6) ด้านการวิจัยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ 7) ด้านการวิจัยเชิงบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 8) ด้านการวิจัยเชิงเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเกษตร 9) ด้านการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยระยะยาวในการบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน การนำเสนอผลงานวิชาการในด้านต่างๆ มีทั้งภาคบรรยาย ภาคนิทรรศการ และเป็นเวทีพบปะของนักวิชาการกรมฯ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัยให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการจัดการทรัพยากรดินและที่ดิน สามารถถ่ายทอดให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ”

           ทั้งนี้ ภายในงานมีการประกวดผลงานวิชาการภาคนิทรรศการ 50 เรื่อง การจัดแสดงสินค้าผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรและหมอดินอาสา การนำเสนอผลงานวิชาการดีเด่น ตามเป้าหมายการพัฒนา 9 เป้าหมาย จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่
           1)ด้านการวิจัยเกี่ยวกับพืชอัตลักษณ์ และพืชทางเลือก เรื่อง สมบัติของดินและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 จังหวัดสุรินทร์ โดย : นางสาวอภันตรี พฤกษพงศ์ กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน
           2)ด้านการวิจัยบูรณาการที่รองรับ BCG Model เรื่อง การใช้ประโยชน์มูลช้างในการผลิตปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงดิน และเพิ่มผลผลิตผักเหมียง โดย : นางสาวสุภาวดี ศรีจำเริญ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12
           3)ด้านการวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เรื่อง การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง กรณีศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย บ้านห้วยน้ำใส หมู่ที่ 9 ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย : นายเอกภพ กันทับ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6
           4) ด้านการวิจัยเชิงนโยบาย มาตรการ กฎหมาย เพื่อรองรับด้านการพัฒนาที่ดิน เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนการใช้ที่ดินเชิงบูรณาการ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลภายใต้กรอบคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) : กรณีศึกษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจังหวัดนครราชสีมา โดย : นางสาววรนุช เอมมาโนชญ์ กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน
           5) ด้านการวิจัยระบบสนับสนุนการตัดสินใจการผลิตและการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพ เรื่อง การทำแผนที่ดินแบบดิจิทัลเพื่อการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของประเทศไทย โดย : นางสาวศศิรินทร์ ศรีสมเขียว กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน 6) ด้านการวิจัยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ เรื่อง การศึกษาการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังด้วยน้ำหมักชีวภาพในชุดดินลพบุรีโดย : นางสาวรวมพร มูลจันทร์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1
           7) ด้านการวิจัยเชิงเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเกษตร เรื่อง การประยุกต์ใช้ LiDAR sensor ร่วมกับระบบ IoT ในการประเมินสภาพแอควิกหรือสภาพการอิ่มตัวด้วยน้ำ (aquic condition) เพื่อการจำแนกดินในสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน จังหวัดร้อยเอ็ด โดย : นางสาวพิชามญชุ์ อินต๊ะโม กองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน
           8) ด้านการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยระยะยาวในการบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน เรื่อง ผลของการจัดการดินต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติดินทางกายภาพที่ปลูกชาน้ำมัน บ้านปางมะหัน จ.เชียงราย โดย : นางสาวชนิดา เกิดชนะ สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน

           และการนําเสนอรางวัลเพื่อยกระดับให้เป็นองค์กร 4.0 ประจําปี 2565 ได้แก่ 1) รางวัล SMART LDD e-Service (ระบบ e-Service ขอรับบริการแผนที่) โดยนางตวงพร บุญยะพรรค สํานักเทคโนโลยีการสํารวจและทําแผนที่ 2) รางวัล Save Energy โดยนายอัศวิน เนตรถนอมศักดิ์ กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน 3) รางวัลการจัดระบบข้อมูล E-Service ตรวจสอบดินเพื่อการเกษตร โดย นายจิราวุฒิ เวียงวงษ์งาม สํานักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน 4) รางวัล Zero Waste โดยนางมนต์ระวี มีแต้ม กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน 5) รางวัลความเป็นเลิศ ของหน่วยงานการพัฒนานวัตกรรม พด.13 ไมคอร์ไรซาสําหรับข้าวโพด โดยนายอรรณพ พุทธโส กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน 6) รางวัล 5 ส ตามแนวทาง Smart Workplace โดยนางสาวพิมพิลัย นวลละออง กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน 7) รางวัล TEAM FOR SOILS โดยนางสาวนัทฐา ทักษ์รัตนศรัณย์ สํานักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 และ 8) รางวัลระบบ บริหารครุภัณฑ์ โดยนางชริยา ใจคํา สํานักงานพัฒนาที่ดินเขต 6

           โดยการจัดงานครั้งนี้ สามารถรับชมผ่านการถ่ายทอดสดผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting และ เพจเฟซบุ๊กกรมพัฒนาที่ดิน และติดตามข้อมูลข่าวสารและผลงานวิชาการในการประชุมครั้งนี้ ได้ที่ https://webapp.ldd.go.th/LDDCon65/index.php

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป