รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมติดตามการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง


วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

           วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.00 น. นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับคณะ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เปิดโครงการร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2565 “ปลูกป่า รักษ์น้ำ สืบสาน พระราชปณิธาน” และร่วมกิจกรรมปลูกป่า กิจกรรมบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ เพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงให้ความสำคัญในการดูแลรักษาป่าไม้และแหล่งน้ำ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยมีกิจกรรม อาทิ การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติและปรับภูมิทัศน์เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและการท่องเที่ยว การปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดและพันธุ์กุ้ง การซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น

           ช่วงบ่ายองคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังจุดชมธรรมชาติอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน มีขนาดความจุ 3.700 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร ประมาณ 4,400 ไร่ นอกจากสร้างประโยชน์ในด้านการอุปโภคบริโภคและการประกอบอาชีพแล้ว ปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อน ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การปลูกป่า ปั่นจักรยาน และเข้าค่ายกางเต็นท์พักแรม เป็นต้น จากนั้นองคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังแปลงเกษตรของนางสาวรุ่งทิพย์ ดีเด่น บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 8 ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ นางรุ่งทิพย์ทำเกษตรแปลงใหญ่ปลูกกล้วยหอมทองส่งโรงงาน และได้เข้าเป็นสมาชิกของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ เมื่อปี 2557 เริ่มเข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพ การปลูกไม้ผล เป็นต้น ต่อมาจึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลที่มีอายุยืน เริ่มจากการปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์บ้านแพ้ว ปลูกผสมผสานกับพืชและไม้ผลอื่น ๆ เช่น โกโก้ กล้วย มะม่วง ฝรั่ง ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างราคากับผลผลิต และป้องกันปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และได้ใช้น้ำจากโครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งขามฯ โดยรับน้ำผ่านคลองส่งน้ำลงสู่สระพักน้ำบริเวณบ้าน จากนั้นจึงสูบน้ำเข้าสู่ระบบน้ำหยดและสปริงเกอร์ในแปลงเกษตรจึงมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสานได้อย่างต่อเนื่อง

           ต่อจากนั้น องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2506 เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริแห่งแรกในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 60,000 บาท พร้อมกันนี้ราษฎรได้ร่วมกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดิน จำนวน 300 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และในปี 2557 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทานจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักและระบายน้ำอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราษฎรชุมชนเขาเต่า จำนวน 800 ครัวเรือน มีน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค มีแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ประชาชนมาพักผ่อนและทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ส่งผลให้คนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

           วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.45 น. รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เดินทางไปยังเขื่อนเพชร ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับคณะ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน และความก้าวหน้าของ โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการปรับปรุงคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำจำนวน 2 แห่ง คือ 1) อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ดำเนินการเสริมสันทางน้ำล้น (Spillway ) 2) อ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยขุดลอกอ่างเก็บน้ำและลำห้วยต่าง ๆ รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำห้วยแม่ประจันต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ หากแล้วเสร็จก็จะสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบุรี และพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยเป็นประจำ ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 41,875 ครัวเรือน ช่วยเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมในอำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 10,000 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ตำบลท่าไม้รวก ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง และตำบลดอนขุนห้วย ตำบลนายาง ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ พร้อมกันนี้องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนโครงการให้แล้วเสร็จเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรโดยเร็ว จากนั้นคณะฯ ได้ลงพื้นเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเพชรอีกด้วย

           รายงาน :  สำนักรองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักนายกรัฐมนตรี 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป