กรมพัฒนาที่ดินประชุมคณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา ครั้งที่ 1/2565
วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565
จากห้องประชุม 1214 ชั้น 2 อาคาร 6 ชั้น กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ไปยังคณะกรรมการและหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น. นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยนางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ดร.สถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และข้าราชการกรมพัฒนาที่ดิน ให้การต้อนรับ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา ครั้งที่ 1/2565 พร้อมด้วยพลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ที่ปรึกษาโครงการเกษตรวิชญา นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการฯ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) จากห้องประชุม 1214 ชั้น 2 อาคาร 6 ชั้น กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ไปยังคณะกรรมการและหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญาในระยะที่ผ่านมา แผนและผลการดำเนินงานในปี 2565 รวมทั้งพิจารณาเขตการใช้ที่ดินโครงการเกษตรวิชญา และ (ร่าง) แผนปฏิบัติงานโครงการเกษตรวิชญาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 2570)
โครงการเกษตรวิชญา เป็นโครงการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังบ้านกองแหะ ตำบลโปงแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544 ทรงพระราชทานที่ดิน จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปดำเนินการในลักษณะคลินิกเกษตร ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน เป็นศูนย์อบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติและมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ในอดีตสภาพพื้นที่บ้านกองแหะ เป็นพื้นที่ภูเขาหัวโล้น ทรัพยากรป่าไม้เสื่อมโทรม ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พื้นที่เกิดการชะล้างพังทลาย ราษฎรทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย จากปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ทรงมีพระราชดำริให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการสำรวจและวางแผนการใช้ที่ดินรวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ได้แนวทางหรือวิธีการที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพด้านการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ จากการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญาจนถึงปัจจุบัน สภาพป่าในพื้นที่โครงการเปลี่ยนแปลงจากป่าเสื่อมโทรมกลายเป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และการใช้ที่ดินเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบการใช้ประโยชน์ คณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา จึงพิจารณาการปรับเปลี่ยนเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงการเกษตรวิชญา ดังนี้ 1. พื้นที่ทรงงาน จำนวน 32 ไร่ สภาพพื้นที่เดิมได้รับการฟื้นฟูและปัจจุบันได้จัดให้เป็นเขตป่าไม้ปลูกไม้ยืนต้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ 2. พื้นที่ศูนย์สาธิตการเรียนรู้เกษตรบนพื้นที่สูง จำนวน 138 ไร่ คงไว้เป็นพื้นที่ศูนย์สาธิตฯ 70 ไร่ สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ จะได้จัดให้เป็นเขตป่าไม้ 3. พื้นที่จัดให้เกษตรกรทำกิน จำนวน 139 ไร่ พิจารณาให้เป็นที่ทำกินสำหรับเกษตรกร 95 ไร่ (เป็นพื้นที่เกษตรกรทำกิน 60 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 35 ไร่) พื้นที่ที่เหลือจัดให้เป็นเขตป่าไม้ 4. พื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน จำนวน 123 ไร่ ได้ทำการฟื้นฟูสภาพป่าและจัดทำเป็นธนาคารอาหารชุมชน เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ที่สำคัญ 5. พื้นที่ป่าไม้ เดิมเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูเป็นสภาพป่าสมบูรณ์ และพื้นที่ส่วนหนึ่งกรมป่าไม้ได้จัดทำโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ เป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ เดิมมีพื้นที่จำนวน 918 ไร่ ได้เพิ่มพื้นที่เป็น 1,062 ไร่ ทำให้มีพื้นที่ป่าไม้ในโครงการเกษตรวิชญาเพิ่มมากขึ้น
จากแนวพระราชดำริดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะ โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร อย่างเป็นรูปธรรมตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานชื่อโครงการ แห่งนี้ว่า เกษตรวิชญา มีความหมาย ปราชญ์แห่งการเกษตร อีกทั้ง อันจะเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธาน ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการในพระราชดำริทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎรอย่างยั่งยืนต่อไป
รายงาน : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน
ภาพ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน
ชมห้องภาพ
ก่อนหน้า : รายการหลัก : ถัดไป