กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ร่วมเสวนา “มะม่วงคุณภาพ จุลินทรีย์ดิน ระบบดินและน้ำ เพื่อสร้างคุณค่าและราคา” เสริมนวัตกรรม พด. สร้างดินดี


วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2565
ห้องประชุมวัฒนา สวรรยาธิปัติ ชั้น 4 อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

           วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน (กทช.) ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากรการเสวนา ในหัวข้อ “มะม่วงคุณภาพ จุลินทรีย์ดิน ระบบดินและน้ำ เพื่อสร้างคุณค่าและราคา” ในงานนวัตกรรมยกระดับมะม่วง และผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ร่วมกับหมอดินอาสา เจ้าของภูมิปัญญาการผลิตมะม่วง 4 ท่าน ได้แก่ 1) นายกิตติภพ มงคล หมอดินอาสาประจำอำเภอ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2) นายสายันต์ โฉมเชิด หมอดินอาสาประจำตำบล จังหวัดชัยนาท 3) นายทนงศักดิ์ นิลน้อย หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน จังหวัดสุพรรณบุรี และ 4) นางวัฒนา จาจิรัตน์: หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน จังหวัดสระแก้ว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมีดร.มนต์ระวี มีแต้ม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาฯ ณ ห้องประชุมวัฒนา สวรรยาธิปัติ ชั้น 4 อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

           สาระสำคัญจากเสวนาครั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินมีส่วนสำคัญ ในการส่งเสริมเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินเพื่อ จัดการพื้นที่ปลูกมะม่วง ได้แก่ การชี้เป้าหมายพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการปลูกมะม่วง การให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยรายแปลง การปรับปรุงดิน การบำรุงดิน การสร้างแหล่งน้ำ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งปูนโดโลไมท์เพื่อแก้ปัญหาดินกรด และผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคและแมลง สารบำบัดน้ำเสีย และการรักษาสภาพนิเวศวิทยาของพื้นที่ปลูกด้วยหญ้าแฝก ซึ่งส่งผลให้ มะม่วงมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต ที่ดีทั้งปริมาณและคุณภาพ ในส่วนของหมอดินอาสาได้เล่าประสบการณ์ของการตนเองในการจัดการพื้นที่ซึ่งมีลักษณะของดินและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงและองค์ความรู้ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้ถ่ายทอด ให้กับหมอดินอาสา ในการจัดการดินทั้งการใช้ปูนโดโลไมท์ ปุ๋ยพืชสด การใช้จุลินทรีย์ในการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ทดแทนปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพง แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เทคนิคการใช้เทคโนโลยีชีวภาพต่างๆ ช่วยให้มะม่วงมีการเจริญเติบโตที่ดีมีระบบรากแข็งแรง ซึ่งจะช่วยให้มีประสิทธิภาพในการดูดธาตุอาหารขึ้นไปบำรุงลำต้นใบเกิดดอกและผลที่มีคุณภาพ รสชาติตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการหาช่องทางการตลาดที่ทันสมัย โดยการเสวนาในครั้งนี้ ทำให้เกิดภาคีเครือข่ายหมอดินอาสาผู้ปลูกมะม่วงด้วยระบบอินทรีย์โดยการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ของกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน และจะได้สร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป

           รายงาน :  กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน  กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน  กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป