ติดตามคณะองคมนตรี ขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่จังหวัดสระบุรี


วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
จังหวัดสระบุรี

           วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ โดยมีนางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร เป็นอนุกรรมการฯ ร่วมติดตามงานและรับฟังการบรรยายในพื้นที่

           ในเวลา 9.00 น. เดินทางถึงกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานแก่งคอย–บ้านหมอ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยมีนายชั้น โสภา เป็นประธานคณะกรรมการจัดการชลประทานแก่งคอย-บ้านหมอ พื้นที่ชลประทาน 86,700 ไร่ อยู่ในพื้นที่เขตอำเภอแก่งคอย 10,300 ไร่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 16,430 ไร่ อำภอเมืองสระบุรี 7,200 ไร่ อำเภอเสาไห้ 31, 350 ไร่ อำเภอพระพุทธบาท 8,635 ไร่ และอำเภอบ้านหมอ 12, 785 ไร่ ทั้งนี้มีจำนวนตัวแทนขององค์ประกอบคณะกรรมการจัดการชลประทาน 1 คณะ ประกอบด้วย จำนวนกลุ่มพื้นฐานผู้ใช้น้ำชลประทาน 30 กลุ่ม และจำนวนกลุ่มบริหารการผู้ใช้น้ำชลประทาน 8 กลุ่ม ซึ่งในปี 2563 ได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม และ ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ โดยคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทานแก่งคอย-บ้านหมอ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประจำปี 2563 โดยคณะกรรมการจัดการชลประทานแก่งคอย-บ้านหมอ ได้มีการวางแผนการส่งน้ำร่วมกับชลประทาน ด้วยการจัดการส่งน้ำระบบชลประทานแบบเป็นโซน มีระเบียบกฎเกณฑ์การใช้น้ำอย่างชัดเจน และมีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดแผนการส่งน้ำและหาแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการใช้น้ำชลประทานที่เกิดขึ้นในระหว่างการส่งน้ำของแต่ละเดือนและแต่ละฤดูกาลเพื่อส่งน้ำในการทำการเกษตร ส่งผลให้สามารถส่งน้ำให้กับผู้ใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง และกลุ่มผู้ใช้น้ำมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างดี

           จากนั้น องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ โดยผู้แทนกรมชลประทานได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาวฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ พร้อมด้วยระบบท่อส่งน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำและส่งไปช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกทางตอนล่างในเขตตำบลห้วยบง และตำบลเขาดินพัฒนา ซึ่งขาดแคลนน้ำใช้ในการทำนาตลอดจนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความจุเก็บกักเพียง 880,306 ลูกบาศก์เมตร และในช่วงฤดูแล้งจะมีอัตราการระเหยและรั่วซึมของน้ำค่อนข้างสูง จึงได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมระบบท่อส่งน้ำ เพื่อสูบน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ของโครงการสูบน้ำแก่งคอย – บ้านหมอ แล้วส่งให้แก่พื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว ฝั่งซ้าย และเติมน้ำลงในอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ “อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ” ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรทำนาในบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนได้จำนวน 2,500 ไร่ และในช่วงฤดูแล้งส่งน้ำช่วยเหลือการปลูกพืชไร่ได้จำนวน 500 ไร่ รวมทั้งยังสามารถใช้น้ำสำหรับการอุปโภค – บริโภค และการเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย ร่วมปล่อยปลาตะเพียน และปลาแก้มช้ำ เพื่อเป็นแหล่งผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดไว้สำหรับบริโภคและเสริมรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ และเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ชมแปลงสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริแห่งแรก และแปลงการทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริในเรื่องการพัฒนาแบบใหม่ โดยให้จัดตั้งศูนย์บริการพัฒนาตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นต้นแบบ สาธิตการพัฒนาด้านการเกษตร โดยประสานความร่วมมือระหว่างราษฎรกับรัฐ เผยแพร่อาชีพและจริยธรรมแก่ประชาชน ดังนั้นภายในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ จึงจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นต้นแบบการจัดการที่ดินและน้ำขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการแบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกร้อยละ 30 เป็นแหล่งน้ำ ส่วนที่สองร้อยละ 30 เป็นนาข้าว และอีกร้อยละ 30 เป็นไม้ผล พืชไร่ พืชสวน และสุดท้ายร้อยละ 10 เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชสวนครัว โดยในปี 2540 ได้เริ่มนำแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ มาขยายผลสู่ประชาชนบริเวณพื้นที่รอบวัดมงคลชัยพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ สามารถบริหารจัดการที่ดินและน้ำในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 123 ราย และขยายไปสู่การรวมกลุ่มสหกรณ์ซึ่งมีสมาชิก รวม 95 คน มีเงินทุนหมุนเวียน 270,000 บาท

           ในช่วงบ่ายองคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังบ้านนางจันทร์หล้า ชัยชาติ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำ น้ำพระทัยในหลวง ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาวฯ บรรยายสรุปผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนา โอกาสนี้ได้เยี่ยมชมกิจกรรมทางการเกษตรของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งนอกจากจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมีรายได้ที่มั่นคงตามพระราชประสงค์อย่างแท้จริง

           รายงาน :  สำนักรองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  สำนักรองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป