รมช.ธรรมนัส ลงพื้นที่ติดตามโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (Zoning by Agri - Map) ตำบลยอดชาด อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม


วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563
ตำบลยอดชาด อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม

           วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อติดตามงานโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (Zoning by Agri - Map) ตำบลยอดชาด อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม โดยมี นางสาวเบญจพร  ชาครานนท์  อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หมอดินอาสา รวมถึงเกษตรกรที่เข้าโครงการฯ ให้การต้อนรับ ณ แปลงต้นแบบของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปี 2563 นายปรีชา นาสมรูป มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 16 ไร่

           ร้อยเอก ธรรมนัส เปิดเผยว่า .. “ในส่วนของการจัดสรรที่ดิน สปก. ได้เดินหน้าแจกไปแล้วทั้ง 72 จังหวัด ส่วนที่ดินแปลงไหนเป็นของนายทุนหรือหมดสัมปทานก็จะทำการยึดคืนและจัดสรรให้พี่น้องเกษตรกรต่อไป ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินนั้น ต้องรับภารกิจในการจัดระบบของดินและน้ำ ปรับรูปแบบแปลงนา พืชไร่พืชสวน ให้มีผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพดีและต้นทุนต่ำ ตอนนี้ทั้ง 72 จังหวัดที่อยุ่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้เริ่มดำเนินการไป 95% ประมาณ 39 ล้านไร่ แต่ถ้าหากพี่น้องเกษตรกรยังขาดที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็จะมีนโยบายใช้เงินกองทุนในการซื้อที่ดินเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และได้มีการประกาศกฎกระทรวงว่าในพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชุมชน ก็จะสามารถให้ทำการเช่าได้ และนำเงินเข้ากองทุน เพื่อนำไปต่อยอดในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป”

           กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการโครงการฯ นี้มาตั้งแต่ ปี 2559 เพื่อจูงใจให้กับเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของตลาด บนพื้นฐานของความสมัครใจของเกษตรกร และให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 2,500 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 133 ราย โดยในพื้นที่ตำบลยอดชาด อำเภอวังยาง มีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 500 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 34 ราย  ซึ่งมีกิจกรรมในพื้นที่ คือ ทำนา  ปลูกไม้ผล (ลิ้นจี่/ลำไย) ปลูกไม้ยืนต้น  เลี้ยงสัตว์ (หมู/โคขุน/ไก่/เป็ด/ห่าน)  เลี้ยงปลา ผลสำเร็จของโครงการนี้ คือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกร ดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนการผลิต  โดยมีหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมบูรณาการ  เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน ให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนการผลิต  ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความเหมาะสมต่อการทำการเกษตรแบบผสมผสาน สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากพืชเดิม

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป