เฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส


วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

           วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยข้าราชการกรมพัฒนาที่ดิน เฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงาน การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แปลงศึกษาทดลอง วิจัย และการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงติดตามงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เมื่อปี พ.ศ. 2537 จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ ความว่า “...นำแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เป็นทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยว...”

           อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และข้าราชการกรมฯ ประจำศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานการแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ จำนวน 23 ไร่ ออกเป็น 10:20:30:40 คือ ที่อยู่อาศัย ถนน คอกปศุสัตว์ : แหล่งน้ำ : นาข้าว : พืชไร่ พืชสวน ซึ่งผลผลิตจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้ให้ผลตอบแทนตลอดทั้งปี คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 212,370 บาทต่อปี ในส่วนของการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำ ได้เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำให้เพียงพอ ทำร่องสวนให้น้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงพื้นที่แปลงเกษตร และหล่อน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีการระบายน้ำส่วนเกินในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตกชุก

           นางสาวเบญจพร กล่าวว่า หากเชื่อมโยงกิจกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แปลงศึกษาทดลอง วิจัย และการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดที่เกษตรกรในพื้นที่โครงการดำเนินงาน กับหลักของทฤษฎีใหม่ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข แล้วจะเห็นว่า 'ความพอประมาณ' คือ การวางแผนจัดการพื้นที่ให้เหมาะกับแรงงานและทรัพยากรที่มี 'มีเหตุมีผล' คือ มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมและเลือกชนิดพืช สัตว์ตามสภาพพื้นที่และความถนัด 'มีภูมิคุ้มกัน' คือ การมีกิจกรรมที่หลากหลาย วางแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับช่วงฤดูกาล 'มีความรู้' คือ รู้เรื่องการจัดการดิน น้ำ ตลาด การผลิต และหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ส่วน 'คุณธรรม' ก็คือ ความอดทน ขยัน เพียรพยายาม และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์และพื้นฐานสำคัญให้แก่เกษตรกรและประชาชนในการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่ดีกินดี นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

           รายงาน :  สำนักอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  สำนักอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป