กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมลงพื้นที่ “โครงการ จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” จังหวัดยโสธร


วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2562
บริเวณโดมด้านหน้าหอประชุมวิถีอิสาน ศาลากลางจังหวัดยโสธร

           วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 10.00 น. นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิด “โครงการ จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” จังหวัดยโสธร และเป็นประธานในพิธีเทิดพระเกียรติองค์ราชัน ถวายความเคารพ เปิดกรวยพานดอกไม้ธูปเทียนแพ เบื้องพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และถวายความเคารพ ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และกล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พร้อมทั้งร่วมร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 10 “สดุดีจอมราชา” หลังจากนั้น กล่าวคำปฏิญาณ “เราทำ ความ ดี ด้วยหัวใจ” โดยพร้อมเพรียงกัน ณ บริเวณโดมด้านหน้าหอประชุมวิถีอิสาน ศาลากลางจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นกิจกรรม ใน “โครงการ จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย”

           โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยแบบบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงาน ในรูปแบบจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งจัดโครงการ ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2562 พร้อมกันเป็นครั้งแรก ณ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง กษตรและสหกรณ์ เดินทางไปเป็นประธานและมอบนโยบายจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ และมีการถ่ายทอดสัญญาณจากจังหวัดอุบลราชธานี ไปยัง 21 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ประสบภัย รวมถึงมีการจัดกิจกรรมเวทีกลางแจ้งเปิดโครงการพร้อมกับจังหวัดอุบลราชธานี ในพื้นที่ 9 จังหวัด ซึ่งมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์เดินทางไปร่วมพิธีเปิดโครงการ ได้แก่ มหาสารคาม อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร มุกดาหาร ร้อยเอ็ด สกลนคร กาฬสินธุ์ และนครพนม

           นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้รับผิดชอบลงพื้นที่จังหวัดยโสธร โดยการลงพื้นที่ “โครงการ จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” ในครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อเร่งฟื้นฟูดูแลเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยโสธร ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้สนับสนุนอุปกรณ์และองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในการปรับปรุงบำรุงดิน ทั้งในช่วงก่อนน้ำลดและหลังน้ำลด เพื่อให้พร้อมสำหรับการผลิต และสนับสนุนให้มีการบำบัดน้ำเสียทั้งในพื้นที่ของเกษตรกรและแหล่งน้ำของชุมชน เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและช่วยให้เกิดการยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรในระยะต่อไป

           สำหรับกิจกรรมจิตอาสา “โครงการ จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” ประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้
           การปล่อยขบวนรถคาราวานรถโมบายเคลื่อนที่ ฟื้นฟูดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย กิจกรรม “ปล่อยปลาลงแหล่งน้ำธรรมชาติ” ณ ลำน้ำทวน บริเวณวิมานพญาแถน อำเภอเมืองยโสธร
           กิจกรรม “การใช้สารบำบัดน้ำเสียและกลิ่นเหม็นที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.6” กิจกรรมหน่วยเคลื่อนเร็ว ณ พื้นที่ประสบภัย อำเภอคำเขื่อนแก้ว
           มอบหญ้าพระราชทาน
          มอบถุงยังชีพสำหรับสัตว์
          หน่วยสัตว์แพทย์เคลื่อนที่
          และหน่วยขนย้าย – อพยพสัตว์

           ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน มีแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัยหลังน้ำลด โดยได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและเสนอแนะแนวทางให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วมขัง ในหลายพื้นที่เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรม กรณีที่น้ำท่วมขังจะทำให้ช่องว่าง หรือรูพรุน ในดินทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กอิ่มตัวด้วยน้ำ ดินจึงอ่อนตัว โครงสร้างของดินง่ายต่อการถูกทำลาย และเกิดการอัดแน่นได้ง่าย สภาพดินเสื่อมจากน้ำท่วมขังหรือกระแสน้ำพัดพาจุลินทรีย์ออกไป สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้น พื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

           1) กรณีที่นาข้าวถูกน้ำท่วมขังจนเสียหายหมด ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ราดเพื่อให้ตอซังย่อยสลายได้เร็วขึ้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถเตรียมพื้นที่ในการทำนานฤดูกาลต่อไปได้
           2) กรณีที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ทันตามฤดูกาล แนะนำให้เกษตรกรปลูกปอเทือง หรือพืชปุ๋ยสดชนิดอื่น โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และทำแผนรับซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือไถกลบให้เป็นปุ๋ยในดิน
           3) เกษตรกรที่ประสงค์จะปลูกผัก สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อการปรับปรุงดินโดยทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และสำหรับเกษตรกรที่สนใจจะปลูกเป็นกลุ่มถาวร จะนำกลุ่มเข้าสู่ระบบการตรวจแปลงแบบมีส่วนร่วม : เกษตรอินทรีย์ที่เรียกว่า PGS
           4) เกษตรกรที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแบบถาวร หมายถึงไม่ต้องการที่จะปลูกข้าวอีกต่อไป หรือจะแบ่งพื้นที่บางส่วนทำเกษตรผสมผสาน หรือปลูกพืชชนิดอื่น กรมพัฒนาที่ดินจะนำเข้าแผนโครงการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน หรือปรับเปลี่ยนการผลิต ใน ปี 2563 โดยมีงบประมาณสนับสนุน
           5) กรณีที่นาข้าวถูกน้ำพัดพาตะกอนมาสะสม ทำให้เกิดผลดีมีแร่ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น หลังน้ำลด แนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชไร่พืชผัก หรือพืชตระกูลถั่ว หรือปุ๋ยพืชสด หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะมีสระน้ำในไร่นา สำหรับใช้ประโยชน์ในนาข้าว หรือปลูกพืชผสมผสาน กรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนสระน้ำในไร่นา และสำหรับพื้นที่ปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นที่ถูกน้ำท่วมขัง ควรเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อช่วยเหลือรากพืชไม่ให้ขาดออกซิเจน และพยายามไม่รบกวนโคนต้นที่มีรากพืช และขยายเชื้อจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 เพื่อป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่า และรดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่เตรียมจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เพื่อเร่งการเจริญของระบบรากพืช สำหรับเกษตรกรที่สนใจและมีความตั้งใจจะเอาใจใส่ดูแลดินของตัวเอง กรมพัฒนาที่ดิน จะมอบบัตรดินดี เพื่อเป็นเครือข่ายการดูแลดินร่วมกันกับกรมพัฒนาที่ดินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และในส่วนพื้นที่น้ำลด กรมพัฒนาที่ดินแนะนำให้ใช้น้ำหมักชีวภาพ (พด.6) ฉีดพ่นบริเวณพื้นที่เพื่อบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่น เกษตรกรสามารถแจ้งผู้นำชุมชน หมอดินอาสา ให้ประสานสถานีพัฒนาที่ดินประจำจังหวัดสนับสนุนน้ำหมักชีวภาพ (พด.6) ที่ได้จัดเตรียมไว้

           การแก้ปัญหาระยะยาว
           1) ศึกษาเส้นทางน้ำ แหล่งน้ำ ระบบกักเก็บ ระบบระบายน้ำ แก้มลิง ระบบส่งน้ำ เพื่อบริหารจัดการทั้งระบบ
           2) ให้ความรู้การจัดการดิน น้ำ พืช พื้นที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยทำแผนการสร้างการรับรู้ทุกภูมิภาคของประเทศ
           3) ทำระบบการเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อรักษาน้ำในดินช่วงฤดูแล้ง และเก็บน้ำลงดินกรณีน้ำไหลหลาก ด้วยวิธีการระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
           4) พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ
           5) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัย 4 โครงการ ได้แก่
                     โครงการจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มน้ำป่าไหลหลาก
                     โครงการปรับปรุงฐานข้อมูลแผนที่น้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก
                     โครงการปรับปรุงประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และข้อมูลสำรวจระยะไกล เพื่อปรับปรุงแผนที่พื้นที่เสี่ยงแล้งซ้ำซาก
                     โครงการคาดการณ์ เฝ้าระวังเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงภัยกรณีดินถล่ม น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก 77 จังหวัด

           โดยทั้งหมดนี้คือมาตรการที่กรมพัฒนาที่ดินเร่งให้การช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัย เพราะมุ่งหวังที่จะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และสร้างการรับรู้การเตรียมการด้านการเกษตรตามหลักวิชาการ รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติ และสามารถกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างรวดเร็ว

           รายงาน :  สำนักอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  สำนักอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป