พัฒนาที่ดินสมุทรปราการ ถ่ายทอด การปลูกผักปลอดสารพิษบนกระเบื้อง


วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองบางเสือตาย หมู่ที่ 7 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

           วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 โดย นางสาวอัจฉรา ยุบลศรี เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน และนางสาวจันทร์จิรา แก้วเรือง นักวิชาการเกษตร เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษบนกระเบื้อง ในโครงการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ของศูนย์เครือข่ายและ ศพก. ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอบางพลี กิจกรรมย่อยเพิ่มศักยภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กิจกรรมหลักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองบางเสือตาย หมู่ที่ 7 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และใน วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านคลองบางเสือตาย หมู่ที่ 7 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตร ศพก. เครือข่ายในพื้นที่ได้นำความความรู้ที่ได้ไปพัฒนาตนเองและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

การปลูกผักปลอดสารพิษบนกระเบื้อง โดยผสมวัสดุปลูกพืชบนกระเบื้องและไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ มีขั้นตอนการผลิตดังนี้ การเตรียมดินหมัก ใช้มูลสัตว์ 1 ส่วน หน้าดิน 2 ส่วน และน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 4 ลิตรต่อน้ำ 50 ลิตร หมักเป็นเวลา 30 วัน การเตรียมดินปลูก ใช้แกลบเผา/มูลไก่อบแห้ง/ขุยมะพร้าว/มะพร้าวสับ อย่างละ 1 ส่วน ปูนโดโลไมท์/เปลือกไข่ไก่ 5 กิโลกรัม และดินหมัก 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน การดูแลระหว่างปลูก เพิ่มธาตุอาหาด้วยน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ทุกๆ 5-10 วัน และหลังการเก็บเกี่ยว ให้พักดินโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 จำนวน 1 ซอง ผสมรำละเอียด 5 กิโลกรัม หมักไว้ 7 วัน นำมาคลุกเคล้ากับดินปลูก ทิ้งไว้ 7 วัน ใส่ปูนโดโลไมท์ 3 กิโลกรัม (กรณีมีปัญหาเรื่องดินเปรี้ยวดินกรด) ส่วนวิธีการปลูกผักก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำเมล็ดหว่านบนแปลงเพาะกล้าพักทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ เมื่อเมล็ดงอก นำมาใส่ถาดหลุมแล้วพักทิ้งไว้อีก 1 อาทิตย์ หลังจากนำต้นกล้าที่เพาะในถาดหลุมมาปลูกในร่องกระเบื้องที่ใช้ปุ๋ยหมักสูตรสารเร่ง พด.1 มาผสมกับกากมะพร้าว และเศษเปลือกไข่(ถ้ามี) เพื่อทำเป็นดินที่ใช้ปลูกผัก การปลูกผักจะมีระยะห่าง 20x20 เซนติเมตร หลังจากนั้นก็ดูแลผักด้วยน้ำหมักชีวภาพสูตร พด.2 และสารไล่แมลง พด.7 สลับกัน โดยทั้งปุ๋ยหมักและน้ำหมักที่คุณพิทักษ์นำมาใช้ล้วนแล้วแต่เป็นสารอินทรีย์ทั้งสิ้น การผลิตชนิดผักขึ้นกับความต้องการของตลาด ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกาด กวางตุ้ง ผักสลัด เริ่มจากการปลูกบริโภคในครัวเรือน เหลือส่งขายตลาดชุมชน โรงพยาบาล โรงเรียน และวัด

           รายงาน :  สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป