พด. เร่งขับเคลื่อนศูนย์เครือข่าย CESRA “ศูนย์เซียนดิน" เพื่อพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่


วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

           กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจากตัวแทนภาคีเครือข่ายกว่า 120 คน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคเกษตรกร และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) และบูรณาการความคิดเห็นแบบมีส่วนร่วมสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการศูนย์เครือข่าย CESRA ในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

โดยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานที่ประชุม ได้กล่าวถึง ความเป็นมาและความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) และแนวทางการขยายศูนย์เครือข่าย CESRA หรือที่เรียกว่า “ศูนย์เซียนดิน” ในระดับพื้นที่ โดยผลักดันให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ส่งเสริม ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร พัฒนาที่ดิน ภูมิปัญญาท้องถิ่นตามภูมิสังคม สนับสนุนการวิจัย และขยายผลสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ได้กล่าวถึง การจัดตั้งสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งประเทศไทย (Thai Soil Partnership -TSP) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ 7 ภาคีเครือข่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับดินในทุกมิติ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม เกษตรกร และภาคประชาชน เพื่อบูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรดิน การขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาทรัพยากรดินสู่พื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมตามสภาพภูมิสังคม ตลอดจนสนับสนุนและผลักดันกิจกรรมที่เชื่อมโยงสู่การขจัดความอดอยาก หิวโหย (Zero Hunger) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้แนวทางการขับเคลื่อน “ศูนย์เซียนดิน” ผ่านกลไกสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งประเทศไทย (TSP) ในการสร้างความตระหนักรู้ พร้อมน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” เพื่อการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน และผลักดันการขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก ซึ่งประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอย่างมาก คือ 1) หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน และมลพิษทางดิน (soil pollution) 2) หยุดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ (soil erosion) เพื่ออนาคตของลูกหลาน 3) ส่งเสริมการอนุรักษ์และการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพทางดิน (soil biodiversity)

“การขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานจะเกิดความสำเร็จได้ ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคน ข้อมูล ยุทธศาสตร์ การอำนวยการ และการพัฒนาเครือข่าย ซึ่งจะต้องบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายภายในประเทศก่อน ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งพันธมิตรความร่วมมือทรัพยากรดินของประเทศ หรือ Thailand Soil Partnership หรือ TSP เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือไปยัง ASP และทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนต่อไป” ... นายวิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

           รายงาน :  สำนักอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  สำนักอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป