สื่อมวลชนสัญจร ปี 2561 "การพัฒนาที่ดินโครงการหลวง ด้วยศาสตร์พระราชา จากยอดดอยสู่ความยั่งยืนของชุมชน" เพื่อสร้างการรับรู้ "วันดินโลก"


วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
บ้านเมืองอาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

           วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 คณะสื่อมวลชนสัญจรกรมพัฒนาที่ดิน นำโดย นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมสื่อมวลชนรวม 30 คน เดินทางไปยังพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ศูนย์ย่อยบ้านเมืองอาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนาที่ดินบนพื้นที่สูง การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และการส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ โดยนำศาสตร์พระราชาของในหลวง ร.9 มาใช้ คือ ก่อนทำการเกษตรในแต่ละพื้นที่ จะต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินเสียก่อน เนื่องจากดินในอดีตทำการเกษตรไม่ได้ พืชผักตาย เพราะดินเป็นกรด โดยศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาดินเป็นกรด โดยใช้ปูนโดโลไมท์ ในการปรับสภาพดิน จนทำให้ค่า Ph ของดินอยู่ที่ 6-6.5 ซึ่งเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช อีกทั้ง ทางด้านศูนย์และชุมชนได้มีการจัดทำระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง มีระบบส่งน้ำชลประทาน และสร้างเส้นทางลำเลี้ยงน้ำลงไปยังพื้นที่ทางการเกษตรของเกษตรกร ทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตรตลอดทั้งปี

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ทำงานในเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือที่มีปัญหาเรื่องการชะล้างพังทลายของดิน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปดูแลไม่ให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน การเก็บรักษาน้ำไว้ในดิน รวมถึงการปรุงดินให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้โดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งกระบวนการปรุงดินคือการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน และการปรับโครงสร้างดิน ทำให้ดินร่วนซุย สอนเกษตรกรในพื้นที่ถึงวิธีการทำปุ๋ยหมัก การทำระบบน้ำให้แก่เกษตรกร วางระบบจากฝาย สู่บ่อพักของเกษตรกร ทำให้ในแต่ละปี แม้เกษตรกรจะปลูกพืชซ้ำๆ ดินก็ไม่เสื่อมสภาพลง เพราะเกษตรกรมีการปรับปรุงบำรุงดินทุกครั้งหลังการปลูกผัก รวมถึงสอนให้เกษตรกรรู้จักการบริหารจัดการ ต่อยอดงานด้านต่างๆ ไว้ใช้เองในอนาคต รวมถึงสอนให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการภาคการเกษตร มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้เพิ่มขึ้น

ด้านนายวัชรินทน์ พชรบัณฑิต ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้ ทำไร่เลื่อนลอย ห่างไกลความเจริญ ไม่มีความรู้เรื่องการทำการเกษตร จนเมื่อศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง เข้ามาก็ได้มาดูแลในเรื่องของดินว่า ดินในบริเวณนี้เป็นดินชนิดอะไร เหมาะสมกับการปลูกพืชอะไร ซึ่งเมื่อพบว่าดินเป็นดินกรด ทางด้านของกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาแนะนำเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน การปรับโครงสร้างดิน และการสนับสนุนปูนโดโลไมท์ ทำให้สภาพดินดีขึ้น รวมถึงได้สอนวิธีการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ ช่วยเหลือเรื่องการวางระบบน้ำ ทำให้การปลูกผักได้ผลดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ปลูกผักได้โรงเรือนละ 5,000 บาทเป็น 10,000 บาท ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีเงินเหลือเก็บ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับคนในพื้นที่

           รายงาน :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
           ภาพ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน 
ชมห้องภาพ

ก่อนหน้ารายการหลัก •: ถัดไป