มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                หากเกษตรกรในจังหวัดชุมพร หรือในพื้นที่ใกล้เคียงสนใจศึกษาดูงานการทำเกษตรแบบผสมผสาน อยากแนะนำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองมากนัก และการเดินทางสะดวกสบาย ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านทุ่งหงษ์ หมู่ที่ 8 ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร ของสมชาย แสงสว่าง หมอดินอาสาหนุ่มวัย 31 ปี ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องของการปลูกไม้ยืนต้นร่วมกับไม้ผล โดยอาศัยหลักการฟื้นฟูความสมดุลย์ให้ระบบนิเวศ และพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นจุดเรียนรู้งานพัฒนาที่ดิน ของกรมพัฒนาที่ดิน ในโครงการ 80 พรรษา พระภูมินทร์ 80 หมอดิน นำทิศสู่ชีวิตพอเพียง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้วิธีการผลิตสารชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ซึ่งราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
                พื้นที่ 55 ไร่ ในอดีตทำสวนยางพารา และมะพร้าวเพื่อหวังเป็นรายได้หลัก เมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตที่ขายได้เมื่อหักต้นทุนแล้วเหลือเพียงแค่ใช้หนี้สิน หากนำเงินไปใช้หนี้ก็ไม่มีทุนทำการเกษตรในปีต่อไป สมชายคิดว่า “ถ้าทำอยู่อย่างนี้ต่อไปคงไม่รอด มีแต่หนี้สินจะสมทบขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากเรื่องกินเป็นเรื่องสำคัญต้องซื้อกินทุกอย่าง เราต้องจัดการเรื่องกินก่อน ต้องลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน แล้วมาจัดการเรื่องลดต้นทุนการผลิตถึงจะอยู่รอดได้”
               การทำเกษตรแบบผสมผสานและการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จึงเริ่มขึ้นในสวนแห่งนี้ เพื่อสนองความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรกเหลือจากนั้นจึงนำไปขาย โดยเลิกการใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด ผลที่ตามมาคือลดค่าใช้จ่าย อาหารมีกิน ปลอดภัย และได้ระบบนิเวศทางธรรมชาติคืนกลับมา สมชายบอกว่า “ทำเกษตรอินทรีย์มา 13 ปี จนสวนจัดการตัวมันเองได้ การทำสวนแบบผสมผสานเลิกใช้สารเคมีทำให้ระบบนิเวศคืนกลับมา ต้นไม้ในสวนพึ่งพาอาศัยกันเจริญเติบโตได้ แต่เราอย่าคิดเพียงแค่เรื่องปรับปรุงดินแล้วจบเพียงเท่านั้น ทั้งดิน น้ำ และป่าไม้ต้องควบคู่กันไปตลอด”
                ภายในสวนผสมผสานแห่งนี้มีการปลูกไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ พืชผัก เลี้ยวสัตว์ และผลิตปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เอง ผลผลิตมีบริโภคและจำหน่ายได้ตลอดปีการบำรุงดูแลรักษาต้นไม้ในสวนใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ซึ่งผลิตเองโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ทลายปาล์ม เปลือกหมาก เปลือกกาแฟ สามารถนำมาใช้แทนแกลบเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมักได้ ผลิตสารขับไล่แมลงโดยใช้ฝักคูณหมักกับสารเร่งพด.7 กิ่งไม้ผล ไม้ยืนต้นนำมาเผาถ่าน และผลิตน้ำสัมควันไม้ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำใช้เศษปลา ผัก ผลไม้ หมักกับสารเร่งพด.2 และมีการเลี้ยงหมูหลุม ซึ่งภายใน 3 เดือนสามารถขายหมู และได้ปุ๋ยหมัก 380 กระสอบต่อเล้า ขนาด 3x3 เมตร
                การเก็บผลผลิตในแต่ละปี ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม ขายหมากและผลผลิตจากปศุสัตว์ จำพวก ไก่ หมู ปลา พฤษภาคม ถึง สิงหาคม ขายผลไม้ หลังจากนั้นทำการตกแต่งสวน นอกจากนี้ยังมีผลผลิตที่ขายได้ทุกเดือน ได้แก่มะพร้าว และผักต่างๆในสวน เช่น ผักหวาน ผักเหลียง ตำลึง ผักกูด ซึ่งปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บขายและบริโภคได้ตลอด นอกจากนี้ยังมีไม้เศรษฐกิจ เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง มะฮอกกานี กระทุ้งฟ้า ยางนา สมชายบอกว่า “การปลูกไม้ยืนต้นพวกนี้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาสร้างที่อยู่อาศัยได้ โรงเรือนที่ใช้อบรมก็สร้างจากไม้ในสวนนี้ และเพื่อเป็นเงินออมในอนาคต เรียกว่าเป็นบำนาญของชาวบ้าน”
                สนใจศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ ติดต่อสมชาย แสงสว่าง โทร.08-7270-0081 ที่นี่จะทำให้เห็นว่า สิ่งที่ลดต้นทุนในการจัดการทรัพยากรดินทำได้จริง ต้นไม้อยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เหมือนป่าธรรมชาติที่ไม่ใช้ปุ๋ย ใช้ยา ต้นไม้ก็เจริญเติบโตได้ และเราสามารถอยู่รอดได้ถ้ายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง