...คว้ารางวัล การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มณฑป กรุดเจริญ
เรียบเรียง
จากเหตุการณ์ดินถล่มในพื้นที่ บ้านน้ำต๊ะ บ้านน้ำลี อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์
ทำให้ สำเริง เค้าอ้น เกิดคำถามกับพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง
ซึ่งมีลักษณะลาดเทคล้ายกับพื้นที่ประสบภัย มีวิธีใดบ้างที่สามารถป้องกันดินถล่มได้
แล้วก็ได้รับคำตอบจาก สถานีพัฒนาที่ดินอุตรดิตถ์ โดยวิธีการสร้างขั้นบันไดดินและปลูกหญ้าแฝก
สำเริง เค้าอ้น ไม่ใช่ชาวอุตรดิตถ์
แต่มีครอบครัวและพื้นที่ทำสวนไม้ผลที่ระยอง เมื่อสิบกว่าปีก่อนมีโอกาสมาอุตรดิตถ์ รู้สึกชอบอากาศ
และทิวทัศน์ ที่ต่างจากบ้านเกิด จึงตัดสินใจทำสวนไม้ผลที่บ้านวังหัวดอย ต.น้ำหมัน
อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เริ่มแรกปลูกลำใย ทุเรียน
โดยอาศัยประสบการณ์ความรู้จากการทำสวนที่ระยอง แต่สภาพพื้นที่นั้นต่างกัน
ผืนดินแห่งนี้มีสภาพลาดเท ขาดแหล่งน้ำ และเกิดปัญหาราคาลำใยตกต่ำ สู้ทำต่อไปไม่ไหว
จึงเปลี่ยนมาปลูกยางพารา พร้อมกับคิดหาวิธีป้องกันดินถล่ม
และการรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดิน
หลังจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์
เมื่อปี 2549 ทาง สถานีพัฒนาที่ดินอุตรดิตถ์ ได้เข้าดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตรที่ประสบภัย
ให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้อีกครั้ง และเพื่อเป็นการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นอีก
ทางสถานีพัฒนาที่ดินจึงต้องการพื้นที่
เพื่อสร้างจุดเรียนรู้งานจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อดินถล่ม เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้
ถึงแม้ สำเริง จะไม่ได้เป็นหมอดินอาสาแต่ก็สนใจงานพัฒนาที่ดิน เมื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดินแล้วจึงตกลงใช้พื้นที่ของตนให้เกิดประโยชน์
สร้างเป็นจุดเรียนรู้เพื่อให้ผู้สนใจที่ทำการเกษตรบนพื้นที่สูงได้เข้ามาดูงาน
สำเริง ล้มไม้ผลบางส่วนที่ปลูกอยู่ เพื่อปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได
ทำคันคูรับน้ำรอบเขาระยะห่างระหว่างแถว 8 เมตร
ระยะในแนวดิ่งประมาณ 1.5 เมตร
แล้วปลูกหญ้าแฝกตามขอบคันคูรับน้ำรอบเขา
ส่วนตรงกลางคันคูรับน้ำรอบเขาก็ปลูกยางพาราและไม้ผล ตรงขอบคันดินลงหญ้าแฝกเป็นแถวระยะห่างระหว่างต้น
5-10 เซนติเมตร
การทำขั้นบันไดดินร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก
ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและลดการไหลบ่าของน้ำฝน ลดการสูญเสียธาตุอาหารพืช
รักษาความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ เนื่องจากหญ้าแฝกมีระบบรากที่ลึก สามารถดูดความชื้นจากใต้ดินมาสู่ผิวดิน
ทำให้ผิวดินมีความชุ่มชื้น
และใบหญ้าแฝกสามารถนำมาคลุมโคนต้นไม้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นได้ ลดปัญหาการขาดน้ำในฤดูแล้ง
การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ลาดชันเป็นงานหนัก แต่ก็ไม่เกินความพยายาม
ทั้งยังคอยดูแลและปลูกซ่อมแซมอยู่ตลอด เพื่อให้ผู้มาดูงานได้รับความรู้
และเห็นประโยชน์ของหญ้าแฝกอย่างแท้จริง สำเริง เค้าอ้น จึงเป็นอีกบุคคล
ที่ได้รับโล่พระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จากการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประเภทการปลูก
: บุคคล
ทุกวันนี้พื้นที่ 40 ไร่ ของ สำเริง เค้าอ้น
เป็นจุดสาธิตการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยการใช้หญ้าแฝกปลูกขวางความลาดเทของพื้นที่ร่วมกับวิธีกล
เป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำของชุมชนที่ทำการเกษตรในพื้นที่ภูเขาในอำเภอท่าปลา
และเป็นจุดเรียนรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป
ต้องการความรู้เพิ่มเติมหรือขอรับการสนับสนุนกล้าหญ้าแฝก
สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด สำนักงานพัฒนาที่ดินทั้ง 12 เขต หรือที่ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน
โทร.02 579 8515