...คว้ารางวัล “การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                อ้อย และมันสำปะหลัง คือ พืชส่วนใหญ่ที่เพาะปลูกในพื้นที่ บ้านสระแก้ว ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เนื่องจากสภาพดินไม่ค่อยที่จะเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดอื่น สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ น้ำระเหยและซึมลงดินในระยะเวลารวดเร็ว และยังเป็นพื้นที่ลาดเทเกิดการชะล้างหน้าดินทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์
                แต่ในพื้นที่ดินทรายดังกล่าว วิกูล กงสะเด็น ตั้งใจเปลี่ยนจากการปลูกอ้อย และมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตต่ำลงเรื่อยๆ มาทำการเพาะปลูกไม้ผล โดยอาศัยประสบการณ์ 9 ปี จากการเป็นลูกจ้างในสวนที่นครปฐม ปลูกไม้ผลพวก พุทรา ฝรั่ง ชมพู่ แต่ก็ไม่ได้ผล ไม้ผลไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ผลแคระแกร็น เพราะปัญหาในเรื่องของสภาพดิน ทำให้วิกูลต้องขวนขวายหาความรู้ด้านการปรับปรุงดินจากแหล่งต่างๆ
                จนกระทั่ง ปี 2548 วิกูลได้รับความรู้จากหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในเรื่องการปลูกหญ้าแฝก ช่วยรักษาให้ดินชุ่มชื้นได้ตลอดปี จึงเริ่มหาความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกเพิ่มเติม และเริ่มปลูกหญ้าแฝก โดยได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนกล้าหญ้าแฝกจาก สถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่น ด้วยความสนใจและตั้งใจทำการปลูกหญ้าแฝกอย่างจริงจัง ไม่นานนักผืนดินจำนวน 8 ไร่ ที่ปลูกไม้ผลซึ่งส่วนใหญ่ปลูกพุทราเป็นหลักก็มีสภาพเปลี่ยนไป หญ้าแฝกเริ่มทำหน้าที่ของพืชมหัศจรรย์ ช่วยให้ดินมีสภาพดีขึ้นสามารถรักษาความชุ่มชื้นในดินได้นาน ช่วยดักตะกอนดิน และปุ๋ยไม่ให้ไหลไปกับน้ำยามหน้าฝน
                 หลังจากปลูกหญ้าแฝกผลผลิตในสวนก็เพิ่มขึ้น วิกูล ได้เก็บข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อเป็นบทพิสูจน์ในเรื่องนี้ ก่อนดำเนินการปลูกหญ้าแฝก ผลผลิตพุทราได้จำนวน 732 กก./ไร่ หลังดำเนินการปลูกหญ้าแฝกผลผลิตพุทราเพิ่มขึ้นเป็น จำนวน 915 กก./ไร่ เมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น วิกูล ก็ได้เผยแพร่ความรู้การใช้ประโยชน์หญ้าแฝกให้เกษตรกรคนอื่นๆ โดยการเข้าเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน และสวนของเขาก็ได้รับคัดเลือกจากสถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่นให้เป็น จุดเรียนรู้การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ปลูกไม้ผล
                 การปลูกหญ้าแฝกในจุดเรียนรู้แห่งนี้ เป็นวิธีการปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลทุกแถว หรือเว้น 1-2 แถวจึงปลูกหญ้าแฝก 1 แถว ที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล และปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมโดยให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล ประมาณ 1.5-2 เมตร และให้รูปครึ่งวงกลมหงายรับน้ำที่ไหลบ่ามาเพื่อกักเก็บน้ำและตะกอนดิน ในขณะที่ไม้ผลยังเล็กสามารถตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นได้ เมื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นร่มเงาจะคลุมพื้นที่หญ้าแฝกจะตายกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป นอกจากนี้ วิกูล ยังมีแปลงหญ้าแฝกที่ปลูกไว้เพื่อนำมาซ่อมแซมหญ้าแฝกที่เสียหายหรือตายไป และแจกจ่ายให้เกษตรกรที่สนใจด้วย
                 ความสำเร็จจากการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในพื้นที่ของตนเอง และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกร รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้และแจกจ่ายกล้าหญ้าแฝกให้ผู้ที่สนใจได้รู้จักกับพืชมหัศจรรย์นี้ ทำให้ วิกูล กงสะเด็น ได้รับการเสนอผลงานเข้าสู่ การประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2550 และคว้ารางวัล ประเภทการปลูก : บุคคล “รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวดโครงการหญ้าแฝก ภูมิใจที่ได้ปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำริของในหลวง ซึ่งทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดี หน้าดินไม่ถูกชะล้างเพราะมีหญ้าแฝกกั้นอยู่ เหมือนอยู่พื้นที่เรียบๆ ทั้งที่มีการลาดเท ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น”
                 หญ้าแฝกนั้นยังมีวิธีการใช้ประโยชน์อีกหลายรูปแบบ หากเกษตรกรสนใจขอรับความรู้เพิ่มเติมได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด และสำนักงานพัฒนาที่ดินทั้ง 12 เขต หรือ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02 579 8515