อีกหนึ่งผู้รับโล่พระราชทานการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มณฑป กรุดเจริญ
เรียบเรียง
ปลูกหญ้าแฝกก็เหมือนได้วัคซีนป้องกันโรค กันไว้ก่อน
ดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง คำพูดประโยคนี้
คอยชี้แนะให้เกษตรกรที่เข้ามาขอรับความรู้เรื่องหญ้าแฝก จาก นิมิตร ทักโลวา เสมอ
แต่ก่อนที่จะรู้จักกับหญ้าแฝก ผืนดินของนิมิตรก็เคยเป็นโรคร้ายมาก่อน
ผืนดินที่เป็นมรดกจากบรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ นิมิตร ทักโลวา ที่บ้านนางัว ต.นางัว
อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี เป็นเพียงที่ดินรกร้างประมาณ 21 ไร่
มีสภาพเป็นพื้นที่ลาดชัน นิมิตร เลือกทำการเกษตร
เริ่มจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ประสบความล้มเหลวจากปัญหาโรคโคนเน่า
จึงเปลี่ยนมาปลูก ฝรั่ง ลำไย มันสำปะหลัง สภาพดินที่ปลูกลำไยและฝรั่งเมื่อใส่ปุ๋ยและรดน้ำจะซึมลงดินน้อย
ไหลเทอย่างรวดเร็วสู่พื้นที่ต่ำ ทำให้ใบเหี่ยว เจริญเติบโตช้า
ต้องรดน้ำหลายครั้งใช้น้ำมาก บ่อน้ำที่ใช้ก็ตื้นเขินเป็นเลนสูบน้ำไม่ขึ้น น้ำมีกลิ่นเหม็น
เนื่องจากดินถูกชะล้างลงไปในบ่อ
ในช่วงหน้าแล้งต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำจากระยะทางไกล ส่วนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังผลผลิตได้เพียง
1-2 ตันต่อไร่ พื้นที่ยังถูกน้ำฝนชะล้างพังทลาย เกิดเป็นร่องยาวลึกแยกผืนดินออกเป็น
2 ส่วน
หน้าดินถูกชะล้างออกไปเกือบหมดดินแข็งต้องไถพรวนซ้ำหลายรอบถึงจะปลูกมันสำปะหลังได้
ปลายปี 2545 นิมิตรไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง
อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่นี่เขารู้จักกับ หญ้าแฝก
ที่เห็นจากแปลงสาธิตทดลองปลูกหญ้าแฝกระหว่างแถวมันสำปะหลัง เพื่อเปรียบเทียบการป้องกันการชะล้างหน้าดินในพื้นที่
1 ไร่ต่อ 1 ปี ซึ่งพบว่า
ในพื้นที่ลาดชันไม่มีการปลูกหญ้าแฝก ดินถูกชะล้าง 6-8 ตันต่อไร่ต่อปี
ส่วนพื้นที่ลาดชันที่ปลูกหญ้าแฝก ดินถูกชะล้างเพียง 80 กก.ต่อไร่ต่อปี
แต่ไม่ได้หญ้าแฝกกลับมาและไม่รู้ว่าจะขอรับได้ที่ไหน
จนเมื่อปี 2547 ได้รับการแนะนำจากหมอดินอาสาที่มาดูงานเรื่องการชะล้างหน้าดินในพื้นที่ลาดชัน
นิมิตร ตัดสินใจสมัครเป็นหมอดินอาสาและเริ่มปลูกแฝกในพื้นที่ของตน
โดยขอรับการสนับสนุนกล้าหญ้าแฝกจากสถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี นำมาปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมห่างจากโคนต้นไม้ผล
2.5 เมตร ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดินในสวน สามารถลดการให้น้ำในฤดูแล้งได้
ผลผลิตไม้ผลเพิ่มขึ้นจาก 5-6 ตันต่อปี เป็น 10 ตันต่อปี ปลูกรอบขอบสระน้ำ
เมื่อน้ำไหลมาสามารถกรองตะกอนดินให้ติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝกส่วนน้ำจะค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่สระช่วยให้น้ำใสสะอาด
และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดดินรอบๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย ปลูกตามแนวขวางความลาดชันของพื้นที่
และในแปลงมันสำปะหลัง แปลงข้าวโพด และปลูกขวางในร่องลึกป้องการชะล้าง นิมิตรยังทดลองปลูกมันสำปะหลังห่างจากแถวหญ้าแฝกประมาณ
30 เซนติเมตร จำนวน 50 ต้น ระหว่างต้นห่างประมาณ
1 เมตร ผลปรากฎว่า ต้นมันสำปะหลังมีขนาดใหญ่ แตกยอดอ่อนบ่อย อายุประมาณ
16 เดือน ขุดหัวมันสำปะหลังต้นหนึ่งมาชั่งได้ประมาณ 20
กก.
ด้วยความเพียรจนประสบผลสำเร็จ นิมิตร ทักโลวา เป็นอีก 1 ใน 11 บุคคล
ที่ได้รับโล่พระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวทางพระราชดำริ
รู้สึกเหมือนได้สนองพระคุณพระองค์ท่าน
ปัจจุบัน นิมิตร ยังคงทดลองใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในวิธีต่างๆ
และเผยแพร่ผลสำเร็จให้แก่ผู้สนใจ ไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้น
ในพื้นที่โรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม เขาได้ลงมือทำแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก เนื้อที่ประมาณ
1 งาน เป็นจุดเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง
เป็นการปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตขึ้นเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ในวันข้างหน้าจะได้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นวัคซีนป้องกันผืนดินทำกินต่อไป
ต้องการความรู้เพิ่มเติมหรือขอรับการสนับสนุนกล้าหญ้าแฝก
สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด สำนักงานพัฒนาที่ดินทั้ง 12 เขต หรือที่ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02 579 8515