บทความที่ 37/52
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

              ท่ามกลางสภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เอทานอลกลายเป็นพลังงานทางเลือกที่รัฐบาลและเอกชนให้ความสนใจ ซึ่งการผลิตเอทานอลนั้นจะใช้ผลผลิตมันสำปะหลัง ทำให้แนวโน้มความต้องการผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3 ตันต่อไร่ ซึ่งจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สาเหตุนั้นมาจากดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เพราะการปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่มีการปรับปรุงดินที่เหมาะสม ทำให้ดินเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผลผลิตต่ำลงทุกปี แต่ สุข จรรยาศิริ หมอดินอาสาประจำตำบลธงชัยเหนือ สามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้เฉลี่ยถึง 8 ตันต่อไร่
              ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม สุข เป็นพ่อค้าขายของเร่เดินทางไปหลายที่ จึงมีโอกาสเห็นการทำเกษตรในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะการทำเกษตรแบบผสมผสานคือสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ พอมีเงินจึงเริ่มทำการเกษตรบนพื้นที่ไม่มากนักใน อ.พิมาย จนกระทั่งมีครอบครัวจึงคิดขยายพื้นที่มาอยู่ที่ บ.พันธ์สงวน ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จำนวน 16 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 ไร่ นาข้าว 6 ไร่ มันสำปะหลัง 4 ไร่ บ่อน้ำและที่อยู่อาศัย 4 ไร่
              สุข เล่าให้ฟังว่า “มาอยู่ที่นี่เริ่มแรกทำเกษตรยังไม่ได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวแต่ไม่เคยเผาตอซัง รู้จักหมอดินอาสาจากการอ่านหนังสือเมื่อตอนอยู่ที่พิมาย เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่เกษตรอำเภอให้ไปอบรมเรื่องดินทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา จึงสมัครเป็นหมอดินอาสาเพื่อศึกษาเรื่องดินและการปรับปรุงบำรุงดินให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้ความรู้ก็มาทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองตอนนี้ใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี เหลือเพียงปีละ 2 กระสอบเท่านั้น”
ปุ๋ยอินทรีย์ที่ สุข ผลิตไว้ใช้เองก็มีปุ๋ยหมัก โดยใช้ มูลวัว 300 กก. แกลบ 400 กก. สารเร่งซุปเปอร์พด.1 จำนวน 1 ซอง หมักทิ้งไว้ในที่ร่มประมาณ 45 วัน เมื่อกองปุ๋ยเริ่มเย็นลง ผสม รำละเอียด 100 กก. หินฟอสเฟต 25 กก. โดโลไมท์ 25 กก. หมักทิ้งไว้อีก 25 วัน และยังมีน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตเองเพื่อใช้เร่งการเจริญเติบโต โดยใช้ หัวแครอท 10 กก. หัวไชเท้า 10 กก. ฟักทอง 10 กก. กล้วยน้ำว้า 10 กก. สับปะรด 10 กก. หัวมันสำปะหลัง 10 กก. ผักขม 10 กก. เปลือกถั่วเหลือง 10 กก. ปลาน้ำจืด 3 กก. หอยน้ำจืดในนา 10 กก. น้ำมะพร้าวประมาณ 5 กก. กากน้ำตาล 10 กก. สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 2 ซอง หมักในถังปิดฝาไม่ต้องสนิทตั้งไว้ในที่ร่ม 30 วัน จากนั้น สุข นำน้ำหมักที่ได้ไปทำให้เข้มข้นอีกเพื่อลดปริมาณการใช้ให้น้อยลง โดยกรองเอาแต่น้ำหมัก 5 กก. ผสมน้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร และน้ำสกัดเปลือกมังคุด 5 ซีซี ซึ่งได้จากเปลือกมังคุดบดละเอียดหมักกับเหล้าขาว 20 วัน สามารถนำไปใช้ในปริมาณเพียง 20 ซีซีต่อไร่
              ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพเหล่านี้นำมาใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว สุข บอกว่า “โดยปกติแถวนี้จะเก็บมันสำปะหลังได้ไร่ละ 3 ตัน มากที่สุด 4 ตัน แต่ที่นี่ล่าสุดได้ประมาณไร่ละ 8 ตันกว่า”
              วิธีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังเริ่มจากการปรับปรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสด โดยใช้ปอเทืองหว่านทิ้งไว้ประมาณ 40 วัน เมื่อออกดอกฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพในอัตรา 20 ซีซีผสมน้ำ 15 ลิตร แล้วไถกลบทิ้งไว้ 15 วัน นำกิ่งพันธุ์มันสำปะหลัง แช่น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำอัตราเท่าเดิม แช่ประมาณ 20 นาที นำไปปลูกระยะห่างระหว่างต้น 1.2 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 1 เมตร จากนั้นอีก 45 วัน ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพอัตรา 20 ซีซีผสมน้ำ 20 ลิตร และฉีดพ่นอีก 3 ครั้ง ระยะห่างทุกๆ 20 วัน เมื่อมันสำปะหลังอายุได้ 5 เดือน ทำการใส่ปุ๋ย โดยผสมปุ๋ยเคมีสูตร 13 13 21 จำนวน 1 กระสอบ ปุ๋ยชีวภาพ 3 กระสอบ หินฟอสเฟต 1 กระสอบ โดโลไมต์ 25 กก. ปุ๋ยหมัก 20 กก. รดน้ำหมักชีวภาพให้ปุ๋ยมีความชื้นพอหมาดๆ นำไปใส่โดยฝังบนผิวดินบริเวณรอบๆ โคนต้นมันสำปะหลัง
              สำหรับการป้องกันศัตรูพืชโดยเฉพาะเพลี้ยแป้งที่มักระบาดในไร่มันสำปะหลัง สุข ผลิตสารไล่แมลงโดยใช้ เมล็ดสะเดา 2 กก. ซึ่งควรเก็บตอนเช้า นำมาล้างน้ำผึ่ง ในที่ร่มให้แห้ง จะทำให้สารออกฤทธิ์ ไม่เสียไป หัวกลอย 5 กก. โลติ๊น 1 กก. เมล็ดยี่โถ ? กก. หนอนตายหยาก 1 กก. สารเร่งพด.7 จำนวน 1 ซอง กากน้ำตาล 10 กก. หมักในถังปิดฝาไม่ต้องสนิทตั้งไว้ในที่ร่ม 20 วัน
การนำไปใช้ สุข แนะนำว่า “ควรนำกิ่งพันธุ์มันสำปะหลังไปแช่สารไล่แมลง พร้อมๆ กับการแช่น้ำหมักชีวภาพก่อนที่จะนำไปปลูก โดยใช้อัตราส่วนผสม 20 ซีซีต่อน้ำ 15 ลิตร ซึ่งการแช่กิ่งพันธุ์ก่อนปลูก ช่วยให้เพลี้ยแป้ง ไม่มารบกวน ถ้าหากไม่แช่เมื่อเกิดเพลี้ยแป้งระบาดต้องจ้างคนงานมาฉีดพ่นจะเสียเงินมากกว่า”
              อีกเทคนิคหนึ่งเพื่อช่วยป้องกันการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชของ สุข คือการปลูกพืชสลับชนิดสับเปลี่ยนกันในแต่และแปลงทุกฤดูการเพาะปลูก ตัวอย่างเช่น แปลงนี้ปลูกมันสำปะหลัง พอเก็บเกี่ยวผลผลิต แล้วแปลงนี้จะเตรียมเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดสลับแทนมันสำปะหลัง
              เพียงเท่านี้ผลผลิตมันสำปะหลังก็เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวแล้ว สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการศึกษาดูงานในพื้นที่ติดต่อ สุข จรรยาศิริ หมอดินอาสาประจำตำบลธงชัยเหนือ โทร.085 315 1531 บ.พันธ์สงวน ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ส่วนสารเร่งพด. สำหรับผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารไล่แมลง ติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือสอบถามได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02 579 8515