บทความที่ 2/53
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               “ดินไม่กินปุ๋ย” ภาษาที่ชาวบ้านเรียกดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินแข็งไม่ร่วนซุย สังเกตจากการปลูกพืชไม่เจริญเติบโตแคระแกร็นหรือโตเป็นหย่อมๆ แม้จะใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเพื่อเร่งการเจริญเติบโตไปแล้วก็ตาม
                ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นกับพื้นที่ทำการเกษตรของ เฉลิม รัตนะภานุกูลพันธ์ ที่หมู่ 5 ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก หลังจากนำดินที่ขุดขึ้นมาจากสระน้ำมาปรับพื้นที่ทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสม บนพื้นที่ 10 ไร่ โดยแบ่งเป็น สระน้ำและร่องสวน 4 ไร่ ปลูกไม้ผล 5 ไร่ ที่อยู่อาศัยและพืชผักสวนครัว 1 ไร่ และยังมีพื้นที่ปลูกข้าวอีก 28 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ถือครอง 4 ไร่ พื้นที่เช่า 24 ไร่ ปัญหาดินไม่กินปุ๋ยทำให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ เฉลิม ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยการใช้ สารอินทรีย์ชนิดต่างๆ
                เมื่อได้เป็นตัวแทนของหมู่บ้านเข้าร่วมเป็นหมอดินอาสา เฉลิม ได้รับการอบรมกิจกรรมพัฒนาที่ดินหลายอย่าง แต่ที่สนใจและถนัดเป็นพิเศษก็คือการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารไล่แมลงศัตรูพืช โดยใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพสารเร่งซุปเปอร์ พด. ของกรมพัฒนาที่ดิน หลังจากผลิตแล้วนำมาทดลองใช้ในไร่นาสวนผสมทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่สนใจของเกษตรกรในหมู่บ้าน เฉลิม เล่าว่า “ชาวบ้านเห็นว่าผลผลิตดีขึ้นก็สนใจ แรกๆแนะนำวิธีทำให้ไม่ค่อยมีใครสนใจก็แจกจ่ายให้นำไปทดลองใช้ เมื่อเริ่มเห็นผลดีก็มาขอกันมากขึ้น จนรับภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตไม่ไหวจึงต้องทำขาย ขายดีมากสร้างรายได้เสริมให้กับตัวเอง แต่มาระยะหลังส่วนใหญ่มาขอเรียนรู้กันมากขึ้น เราเป็นหมอดินอาสาต้องการสอนให้อยู่แล้ว ตอนนี้เริ่มทำเองกันได้แล้ว”
                หมอดินอาสาเฉลิม ได้นำหลักการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ของกรมพัฒนาที่ดิน มาประยุกต์เพิ่มเติมโดยคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางอาหารสูงหาได้ในท้องถิ่น โดยมีแนวคิดว่าพืชก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ต้องการอาหาร ที่มีทั้งอาหารหลักและอาหารเสริมเช่นเดียวกับมนุษย์ โดยเฉพาะพืชในช่วงก่อนและระหว่างการตั้งท้องหรือกำลังติดผลอ่อนก็ต้องการอาหารบำรุงเป็นพิเศษ จึงจะทำให้ผลผลิตสูง
                สูตรน้ำหมักชีวภาพที่ทำขึ้นจะใช้หลักการความรู้ที่ได้จากการอบรมต่างๆจากการเป็นหมอดินอาสามาผสมผสานกัน เช่น สูตรแรก ใช้รกหมู 30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. สับปะรด 10 กก. น้ำ 10 ลิตร สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง หมัก 60 วัน ใช้อัตราน้ำหมัก 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน และฉีดพ่นครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุได้ 45 วัน สำหรับไม้ผลใช้ฉีดพ่นต้นพืชก่อนออกดอกเพื่อช่วยเร่งตาดอก และช่วงติดผลอ่อน สูตรที่สอง นมโคสด 10 ลิตร หัวไชเท้าสับละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ 5 ลิตร ยาคูล 1 ขวด เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด แป้งข้าวหมาก 1 ก้อน สารเร่งซุเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง หมักไว้ 45 วัน ใช้เพื่อขยายทรงผลของกระท้อน โดยฉีดพ่นที่ต้นและผลเมื่อผลกระท้อนขนาดเท่าลูกปิงปอง ใช้อัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
                สูตรผลิตน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงศัตรูพืชที่เหมาะกับการใช้ไล่แมลงศัตรูพืชแต่ละชนิด และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตเครื่องกลั่นช่วยกลั่นให้บริสุทธิ์เพื่อใช้สะดวกและเก็บได้นาน เช่น สูตรไล่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใช้ใบยูคาลิปตัส ใบสะเดา บอระเพ็ด ตะไคร้หอม รวมกัน 30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. น้ำ 50 ลิตร สารเร่งพด.7 จำนวน 1 ซอง หมัก 60 วัน นำไปกลั่นก่อนใช้หรือใช้เลยก็ได้ ฉีดพ่นกันเพลี้ยระบาดใช้อัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 50 ลิตร สูตรฆ่าแมลงและหนอนม้วนใบข้าว ใช้หางไหลแดง หนอนตายหยาก กลอย ตะไคร้หอม อย่างละ 10 กก. กากน้ำตาล 10 กก. น้ำ 50 ลิตร สารเร่งพด.7 จำนวน 1 ซอง ใช้ในอัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบนต้นถ้าถูกหนอนโดยตรงทำให้หนอนตาย
                จากกระบวนการคิด การสังเกต การลองผิดลองถูกในสิ่งใหม่ๆ เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รู้ในสิ่งที่ถูกต้องโดยทดลองด้วยตนเอง จนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่ มีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นประจำ จากผลงานความสำเร็จทำให้ เฉลิม รัตนะภานุกูลพันธ์ ได้รับเลือกจากกรมพัฒนาที่ดินเป็นหมอดินอาสาดีเด่นชนะเลิศ สาขาการผลิตและการใช้สารสกัดชีวภาพ ปี 2552
                สนใจเรียนรู้การผลิตและการใช้สารสกัดชีวภาพของ หมอดินอาสาเฉลิม รัตนะภานุกูลพันธ์ ติดต่อได้ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 5 ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก โทร.081 605 9097 หากต้องการสารเร่งพด. สามารถติดต่อขอรับได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือสอบถามได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02 579 8515