บทความที่ 36/52
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               “อยากทำเกษตร เพราะชอบปลูกต้นไม้ คิดว่าซักวันต้องทำสวนผลไม้ให้ได้” ทิพย์ พุฒเหมือน บอกเล่าให้ฟังถึงความต้องการในอดีต จนวันนี้พื้นที่ 17 ไร่ หมู่ 5 บ้านไทย ต.เที่ยงแท้ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท กลายเป็นสวนผสมผสานและแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท
               ก่อนที่จะมาทำอาชีพเกษตร ทิพย์ ประกอบอาชีพเป็นพนักงานของบริษัท ในตำแหน่ง นายช่างซ่อมเครื่องจักรกลหนัก ได้รับค่าจ้าง 20,000 บาทต่อเดือน เมื่อเก็บเงินได้จึงลาออกจากบริษัทมาเปิดอู่ซ่อมเครื่องจักรกลหนักส่วนตัว และเริ่มหาไม้ผลมาปลูกในพื้นที่ว่าง ทิพย์ เล่าว่า “เริ่มแรกทำเกษตรเป็นอาชีพเสริมเพราะชอบถึงไม่ค่อยมีประสบการณ์แต่ก็ไม่เคยกลัวขาดทุน เพราะมีงานซ่อมเครื่องจักรอยู่แล้วมีอู่เป็นของตัวเองรายได้ดีพอสมควร ได้เงินมาก็นำไปปรับปรุงสวน ซื้อกิ่งพันธุ์มาเพิ่มเติม”
               มะม่วงคือไม้ผลที่ ทิพย์ ให้ความสนใจเป็นอย่างแรก เพราะเมื่อก่อนมะม่วงเขียวเสวยและมะม่วงน้ำดอกไม้ขายได้ราคาดีจึงอยากปลูกบ้าง โดยไปตามหาซื้อกิ่งพันธุ์ที่กรุงเทพ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้คำแนะนำจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้ไปซื้อกิ่งพันธุ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี ทิพย์ เล่าว่า “ศูนย์ขยายพันธุ์พืชจังหวัดปราจีนบุรีพาไปซื้อกิ่งพันธุ์ และได้แนะนำให้รู้จักกับกิ่งพันธุ์กระท้อน มะปราง ตอนนั้นเริ่มคิดเปลี่ยนใจไม่อยากปลูกมะม่วงแล้ว เริ่มคิดว่าต้องหาไม้ผลที่ไม่มีในจังหวัดชัยนาท ต้องทำที่คนอื่นทำไม่ได้จะได้ไม่ซ้ำใครและปลูกในแบบผสมผสานเพื่อจะได้มีผลผลิตหลายๆอย่าง”
               สวนผสมผสานกำลังจะไปได้ดีแต่อู่ซ่อมเครื่องจักรก็ต้องปิดกิจการลง ทิพย์ บอกว่า “ที่นี่มีอู่ซ่อมเปิดแข่งกันมากขึ้น งานน้อยลง แรงงานไม่มีหายาก” แต่เนื่องจากมีความสนใจทางการเกษตรและกล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างจากการทำเกษตรแบบเดิมๆ ที่ใช้สารเคมีและปลูกพืชชนิดเดียวเหมือนกับคนอื่นๆ ทิพย์ เริ่มมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการทำเกษตรมากขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตร 17 ไร่ เป็นพื้นที่ทำนา 4 ไร่ ที่อยู่อาศัยพร้อมสระน้ำ 1.5 ไร่ ไม้ผล 6 ไร่ เลี้ยงปลาในร่องสวน 3 ไร่ และอื่น ๆ อีก 2.5 ไร่ ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีการใช้ประโยชน์ตามลักษณะเกษตรทฤษฎีใหม่ จนกระทั่งปี 2540 ทิพย์ ได้รับคัดเลือกจากเกษตรอำเภอให้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฏีใหม่ ได้รับการอบรมและแต่งตั้งเป็นวิทยากรโดยใช้พื้นที่ของตนเองเป็นแปลงเรียนรู้ฝึกอบรมเรื่องเกษตรทฤษฏีใหม่ให้กับเกษตรกร
               ในปี พ.ศ.2544 สถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นและความสามารถในการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร จึงได้เสนอให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแปลงเรียนรู้ในเรื่องการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ พร้อมทั้งแต่งตั้งให้ ทิพย์ พุฒเหมือน เป็นหมอดินอาสาประจำตำบลเที่ยงแท้ และหมอดินอาสาดีเด่นระดับจังหวัดชัยนาท และสนับสนุนให้เป็นจุดเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพชนิดต่างๆ โดยใช้ในนาข้าว พืชผัก ไม้ผล บ่อปลา และร่องสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อสลายตอซังฟางข้าว การทำนาปลอดภัยจากสารเคมี ช่วยลดต้นทุนการผลิตและได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำและเพื่อการฟื้นฟูดิน รวมทั้งเป็นศูนย์บริการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน เช่น สารเร่งจุลินทรีย์ กล้าหญ้าแฝก เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และน้ำหมักชีวภาพชนิดต่างๆ
                ปัจจุบันสวนผสมผสานตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ของ ทิพย์ เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง ได้รับประกาศนียบัตรและโล่เกียรติยศต่างๆ มากมาย จากเดิมเป็นจุดเรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบล มาเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงประจำอำเภอสรรคบุรี และที่ ทิพย์ พุฒเหมือน ภาคภูมิใจที่สุดคือ ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมใน โครงการ “๘๐ พรรษา พระภูมินทร์ ๘๐ หมอดิน นำทิศสู่ชีวิตพอเพียง” ซึ่งเป็นการคัดเลือก 80 หมอดินอาสาจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
                จากนายช่างใหญ่ที่คิดปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรก กลับกลายมาเป็นผู้นำชุมชนด้านการเกษตร สร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับครอบครัว ทิพย์ บอกว่า “เมื่อก่อนคิดว่าทำเกษตรอย่างนี้สู้ทำอู่ซ่อมไม่ได้ เดี๋ยวนี้คิดกลับกัน ถึงไม่มีงานไม่มีรายได้ก็มีกิน สามารถอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเองและยังรู้จักการให้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
                สนใจดูงานติดต่อ ทิพย์ พุฒเหมือน ได้ที่ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 5 บ้านไทย ต.เที่ยงแท้ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท หรือที่ สถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท โทร.056 466184