บทความที่ 35/52
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง
ดินใครบ้างไม่รู้จัก
ซึ่งคนจากหลากหลายอาชีพอาจจะรู้จักมากน้อยแตกต่างกันไป แต่สำหรับ สละ นิราภรณ์
บอกว่า เกษตรกรต้องรู้จักดินเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย
ต้องคอยดูแลรักษาและเพิ่มเติมในสิ่งที่ต้องการ
พื้นที่ใน ต.พุคำจาน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
อดีตเป็นผืนป่ารกชื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีต้นไม้หลากหลายชนิดขึ้นปกคลุม
ช่วงแรกมีเกษตรกรจำนวนไม่มากนักที่เข้ามาทำกินในพื้นที่แห่งนี้
เนื่องจากการเดินทางลำบากและยังต้องเสี่ยงกับการป่วยเป็นไข้มาเลเรีย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ดอนขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งต้องเดินทางไปไกลเพื่อตักน้ำมาใช้อุปโภคบริโภค
สละ นิราภรณ์ เกษตรกรครอบครัวชาวนาที่ทำไร่ทำนามาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งมีครอบครัว
สิ่งหนึ่งที่ต้องการจากการทำอาชีพเกษตรเหมือนเกษตรกรรายอื่น ก็คือทำอย่างไรถึงจะหนีความยากจนไปได้
สละ เล่าว่า เมื่อก่อนทำนาก็พออยู่ได้มีข้าวมีปลากินแต่มีรายได้ไม่มากนัก
พอเก็บเงินได้จึงมาอยู่ที่นี่เมื่อก่อนที่บริเวณนี้ราคาไร่ละไม่กี่บาท
เป็นป่ารกยุงเยอะคนกลัวไข้ป่า แต่ดินดีคิดว่าจะมาหาความรวยจากที่นี่
เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ดอนเหมาะสำหรับปลูกพืชไร่ สละ
เลือกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพราะคิดว่าต้องขายได้ราคาดีเนื่องจากมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดในขณะนั้นแต่เกษตรกรหลายรายก็คิดเช่นเดียวกัน
ข้าวโพดเริ่มปลูกมากขึ้นส่งผลให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นเพื่อแข่งขันกันเพิ่มผลผลิต
ผลผลิตข้าวโพดที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นทำให้ราคารับซื้อต่ำลง ส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็นเริ่มส่งผลให้ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลง
ขาดอินทรียวัตถุแห้งแข็งกระด้างไม่อุ้มน้ำ ทำให้ผลผลิตลดต่ำลงเรื่อยๆ
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการปลูกพืชชนิดเดียวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดโรคพืชและแมลงศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น
จนกระทั่งรู้จักกันดีว่าที่นี่เป็นแหล่งจับตั๊กแตนปาทังก้าไปบริโภคกันเป็นที่แรก สละ
บอกว่า ผลผลิตลดลง ราคารับซื้อต่ำลง
แต่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ก็กลายเป็นหนี้นายทุน อยู่ไม่ได้ต้องออกไปศึกษาเรียนรู้
อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาอยู่นิ่งไม่ได้
ด้วยลักษณะที่มีความเป็นผู้นำและต้องการเรียนรู้ สละ
ให้ความร่วมมือกับทางราชการทุกๆ
หน่วยงานที่ให้โอกาสในการเข้าอบรมเรียนรู้งานด้านการเกษตร เพื่อนำมาปฏิบัติและถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่
สละ เริ่มเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดพืชชนิดเดียวซ้ำๆกันในพื้นที่ทุกๆปี เป็นมันสำปะหลัง
และงา หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป
โดยสลับกับถั่วเขียวเพื่อไถกลบลงดินเป็นปุ๋ยพืชสดปรับโครงสร้างของดินที่แน่นทึบให้ดีขึ้น
และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี ที่สำคัญคือการนำดินไปตรวจวิเคราะห์
สละ บอกว่า ผลผลิตน้อย ราคาต่ำ
เราต้องลดต้นทุนจึงจะอยู่ได้
ถ้าใส่ปุ๋ยมากๆโดยไม่รู้ว่าดินต้องการธาตุอาหารอะไรบ้างก็ไม่เกิดประโยชน์ ยิ่งดินไม่ดีก็เหมือนนำปุ๋ยไปวางอยู่บนดินมันก็ระเหยไปหมด
พืชไม่ได้ประโยชน์เสียเงินค่าปุ๋ยมากขึ้นแต่ผลผลิตไม่เพิ่ม ทางแก้คือต้องศึกษาเรื่องดินนำดินไปตรวจวิเคราะห์เพื่อหาว่าขาดธาตุอาหารใดหรือมีมากน้อยเพียงใด
ควรเพิ่มธาตุอาหารใดถึงจะพอกับความต้องการของพืชที่ปลูกเพื่อมีการใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม
และควรใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด
ร่วมด้วยเพื่อช่วยเพิ่มธาตุอาหารและปรับโครงสร้างในดิน เป็นการช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี
และลดต้นทุนการผลิตลงได้
ซึ่งขณะนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปขึ้น เรียกว่า
โปรแกรมการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง เพื่อให้คำแนะนำการจัดการดินและการใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน
สำหรับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
โดยเกษตรกรจะต้องเก็บตัวอย่างดินจากแปลงของตนเองเพื่อส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ แล้วนำผลวิเคราะห์ที่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่สถานีพัฒนาที่ดินที่ตั้งอยู่ในจังหวัดทราบ
เจ้าหน้าที่จะป้อนข้อมูลลงในโปรแกรม ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยคำนวนสูตรปุ๋ยในรูปแบบต่างๆ
เพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารที่ต้องใส่ลงในดินตรงตามความต้องการของพืช
เมื่อรู้จักดินดีแล้วผลผลิตในไร่ก็เพิ่มมากขึ้นต้นทุนการผลิตลดต่ำลง เมื่อประสบผลสำเร็จแล้ว
สละ นิราภรณ์ ในฐานะหมอดินอาสาจึงนำความรู้ที่ได้ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรที่สนใจ จนได้รับคัดเลือกจากกรมพัฒนาที่ดิน
เป็นหมอดินอาสาที่ชนะเลิศ ด้านการจัดการดินบนพื้นที่ดอน ประจำปี 2552
หากสนใจศึกษาดูงานสามารถติดต่อ สละ นิราภรณ์ ได้ที่ ม.8 ต.พุคำจาน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
สำหรับวิธีเก็บตัวอย่างดินเพื่อตรวจวิเคราะห์ และรายละเอียดของ
โปรแกรมการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือที่
ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02
579 8515