บทความที่ 32/52
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               พื้นที่บนดอยสูงทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ การทำเกษตรกรรมส่วนใหญ่ปลูกข้าวไร่และข้าวโพดเป็นหลัก เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องสมาชิกในครอบครัวแต่ วินัย แซ่ลี เกิดความคิดที่แตกต่างออกไปจากนั้น

               บริเวณพื้นที่ไม่ไกลจากบ้านกิ่วกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย หากมองไปรอบๆ จะเห็นเนินสูงต่ำบริเวณนั้นปลูกข้าวโพด และข้าวไร่ หรือไม่ก็พื้นที่ว่างเปล่าโล่งเตียนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ซึ่งอาจเป็นเพราะดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เมื่อขาดคำแนะนำการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกวิธีจึงถูกปล่อยทิ้งร้างไม่เกิดการใช้ประโยชน์ ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ
               พื้นที่ขาดการปกคลุมของพืชเพื่อช่วยชะลอความเร็วของน้ำและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน หากฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเกิดอุบัติภัยน้ำท่วมดินถล่มได้
               วินัย แซ่ลี ชาวม้งผู้เติบโตที่บ้านกิ่วกาญจน์เห็นสภาพเช่นนี้ตั้งแต่เด็กจนมีครอบครัว เมื่อเริ่มต้นทำการเกษตรบนพื้นที่ 19 ไร่ ก็ไม่พ้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำพวก ข้าวโพด และข้าวไร่ เหมือนกับชาวม้งในหมู่บ้านผ่านไป 10 ปี ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม จนกระทั่งเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินเชียงรายมาถึงที่นี่ วินัย เล่าว่า “ทำกินพออยู่ได้แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น คิดอยากเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ให้ดินดีขึ้น ลดการซื้อสารเคมี แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่จากพัฒนาที่ดินเข้ามาแนะนำให้ส่งตัวแทนไปอบรมเป็นหมอดินอาสาแต่ชาวบ้านไม่สนใจคิดว่าเสียเวลาทำมาหากิน เราจึงตัดสินใจเข้าเป็นหมอดินอาสาเพื่อจะได้ความรู้ใหม่ๆมาบอกชาวบ้าน”
               เมื่อเป็นหมอดินอาสา วินัย มีโอกาสดูงานการทำเกษตรบนพื้นที่สูงในที่อื่นๆ จนได้รู้จักกับหญ้าแฝกแต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจถึงประโยชน์และไม่ค่อยมั่นใจว่าจะปลูกได้ แต่เมื่อได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัส เกี่ยวกับประโยชน์ ของการปลูกหญ้าแฝก ทางสารคดีโทรทัศน์ ทำให้ตัดสินใจลงมือปลูกทันที วินัย บอกว่า “ชาวบ้านถามว่าปลูกแฝกอย่างนี้ดียังไง เห็นในหลวงท่านบอกให้ปลูกในทีวี แต่ยังไม่อยากปลูกให้เราลองก่อน แต่เรามั่นใจแล้วถ้าในหลวงสั่งอย่างนี้ต้องดี ต้องทำตามท่านสั่ง”
               ในปี 2549 วินัย เริ่มปลูกหญ้าแฝก ซึ่งได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนกล้าหญ้าแฝกจากสถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย โดยปลูกเป็นแถวขวางความลาดเทของพื้นที่ในแปลงยางพาราที่พึ่งปลูกได้ไม่นานนัก วินัย ดูแลหญ้าแฝกอย่างสม่ำเสมอมีการปลูกซ่อมแซมหญ้าแฝกที่ตายลงไปและทุกๆ 1 เดือน จะตัดใบหญ้าแฝก เพื่อช่วยให้หญ้าแฝกแตกหน่อขยายกอแน่นขึ้น ส่วนใบหญ้าแฝก ที่ตัด นำมาคลุมโคนต้นยางพารา และแถวของหญ้าแฝก เพื่อเป็นการรักษาความชุ่มชื้น ให้แก่ดิน ในช่วงฤดูแล้ง ผ่านไป 2 ปี หญ้าแฝกแตกกอเรียงเป็นแถวชิดแน่น เมื่อฝนตกแถวหญ้าแฝกจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนกำแพงที่ช่วยชะลอความเร็วของน้ำ รากหญ้าแฝกช่วยดูดซับน้ำลงในดินทำให้ดินมีความชุ่มชื้น และป้องกันหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ให้ถูกชะล้างไปกับน้ำ
               เมื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินไว้ได้ ต้นยางพาราที่ปลูกก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับแปลงข้างๆที่ปลูกยางพารามาก่อนแต่ไม่ได้ปลูกหญ้าแฝก วินัย บอกว่า “ยางพาราที่ปลูกติดกันเป็นของพี่เราเองปลูกมาก่อน 1 ปี ไม่ได้ปลูกหญ้าแฝกใส่ปุ๋ยเท่าไรก็ยังโตไม่เท่าของเรา เราปลูกหญ้าแฝก ฝนตกกันดินกันปุ๋ยไว้ไม่ให้ไหลไปกับน้ำไม่ต้องใส่ปุ๋ยมาก น้ำไหลช้าลง ดินก็ไม่ถล่ม ยางพาราโตเร็ว พื้นที่ก็ไม่เสีย”
               หลังจากเห็นผลสำเร็จของงาน หญ้าแฝกก็กลายเป็นที่สนใจของชาวบ้านกิ่วกาญจน์มากขึ้น แต่ผลสำเร็จจากความมุ่งมั่นของชาวม้งคนหนึ่งไม่ได้แอบซ่อนอยู่บนดอยสูงเท่านั้น วินัย แซ่ลี ได้รับเลือกให้รับรางวัล จากการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2551 ประเภทการปลูก:บุคคล ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องความอุตสาหะในการใช้ประโยชน์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ
               สิ่งที่ วินัย แซ่ลี คิดต่างออกไปจากการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของครอบครัวก็คือ การเลี้ยงดูผืนดินทำกินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
               เกษตรกรที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก หรือต้องการกล้าหญ้าแฝก สามารถติดต่อได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 579 8515