บทความที่ 31/52
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง
คำถามที่เกิดขึ้นในใจของเกษตรกรหลายคนเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
คือจะทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างไร ถ้าเรี่ยวแรงเริ่มถดถอยลงเมื่อเข้าสู่วัยชรา รัตน์
จาสมุทร อาจมีคำตอบที่พอเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรวัยเกษียณได้
ลุงรัตน์ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเริ่มจากทำนาตั้งแต่อายุ 17 ปี เพื่อช่วยครอบครัวส่งน้องเรียนจนจบวิทยาลัยพิษณุโลก จากนั้นจึงยึดการทำนาเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวมาโดยตลอดบนพื้นที่
13 ไร่ ใน ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
โดยใช้มูลสัตว์ต่างๆที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นปุ๋ยให้กับต้นข้าว จนเริ่มรู้จักสารเคมีต่างๆที่เข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับการทำการเกษตรในช่วงปี2530
ซึ่งข้าวราคาดีทำให้เกษตรกรต้องการที่จะได้ผลผลิตจำนวนมาก สารเคมี
จึงกลายเป็น ปัจจัยสำคัญ สำหรับ การทำ เกษตรกรรม
ลุงรัตน์ เล่าว่า สารเคมีเข้ามาช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอยู่
2-3 ปี หลังจากนั้นเริ่มลดลงเรื่อยๆ ใช้อยู่7-8 ปี ดินเริ่มเสื่อมโทรมลงเพราะใช้แต่สารเคมีอย่างเดียว โรคและแมลงเพิ่มขึ้น
ขอคำแนะนำจากใครก็ยังไม่พ้นให้ทดลองใช้สารเคมี
ในปี 2538 ลุงรัตน์
ได้รับคำแนะนำจากเกษตรอำเภอให้ปรึกษาการแก้ปัญหาเรื่องดินเสื่อมโทรมกับสถานีพัฒนาที่ดิน
ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการรับสมัครเกษตรกรที่สนใจเป็นหมอดินอาสามาทำการอบรมวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน
เพื่อเป็นผู้ช่วยให้กับกรมพัฒนาที่ดินในการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการพัฒนาที่ดินอย่างถูกต้องและยั่งยืน
หลังจากอบรมเป็นหมอดินอาสาจึงนำความรู้มาทดลองผลิตปุ๋ยหมักใช้ในการเกษตรโดยลดการใช้สารเคมีลง
และแบ่งพื้นที่ 6 ไร่ ทำเป็นสวนผลไม้ ลุงรัตน์ บอกว่า ทำนาอย่างเดียวขายข้าวราคาไม่ค่อยดีและขายยากจึงแบ่งพื้นที่มาปลูกไม้ผลเพราะขายง่ายกว่ามีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน
เริ่มแรกปลูกมะม่วงเพียงอย่างเดียวเมื่อเจอปัญหาราคาถูก ลุงรัตน์
จึงคิดทำสวนผสม โดยได้รับคำแนะนำจาก คุณธงชัย บุญเรือง
เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย ให้ปลูกพืช 5 ระดับ
ในสวนผสม เริ่มจากพืชที่ใช้กินหัวหรือราก พืชผักสวนครัว พืชทรงพุ่ม พืชยืนต้น และพืชไม้เลื้อย
สวนผสมแห่งนี้จึงประกอบไปด้วยพืชหลายอย่าง เช่น มะม่วง ส้มโอ ลำไย เกาลัด
มะคาเดเมียม ผักหวาน กาแฟ พริกไทย ซาโยเต้ ผักสวนครัว และสมุนไพรอีกหลายชนิด ซึ่งเรื่องการดูแลจัดการไร่นาสวนผสม
ลุงรัตน์ บอกว่า ลดการใช้สารเคมีลงเรื่อยๆ จนระยะเวลา
5 ปีที่ผ่านมาไม่ต้องใช้แล้ว ผลผลิตเพิ่มขึ้น
อย่างส้มโอพอเลิกใช้สารเคมีได้ 2 ปี ส้มโอออกผลตลอดทั้งปี
สำหรับสารอินทรีย์ที่ใช้ทดแทนสารเคมีในไร่นาสวนผสมแห่งนี้
ใช้ปุ๋ยหมักผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 น้ำหมักชีวภาพผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์
พด.2 และสารป้องกันแมลงศัตรูพืช พด.7 ซึ่งสารเร่ง
พด. ต่างๆ เป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการช่วยย่อยสลายเศษวัสดุต่างๆ
ที่นำมาหมัก เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อพืชได้เร็วขึ้น
วิธีการจัดการสวนอย่างง่ายๆ ของ ลุงรัตน์
เริ่มจากดายหญ้านำมากองรวมไว้กับเศษใบไม้ กองละประมาณ 200
กก. แล้วใช้น้ำหมักชีวภาพ 2 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร รดกองหญ้าหมักทิ้งไว้
20 วัน จึงรดน้ำหมักชีวภาพอีกครั้งพร้อมกลับกองหญ้า หมักทิ้งไว้อีก 20
วัน ก็จะย่อยสลายนำไปใส่โคนต้นไม้ และในแปลงผัก ซึ่ง ลุงรัตน์
จะกองหญ้าหมักไว้เป็นจุดๆ ทั่วทั้งสวนเพื่อไม่เปลืองแรงงานและเสียเวลาในการขนย้าย
การบำรุงไม้ผลให้ใบงามและแตกยอด ใช้น้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่
หากต้องบำรุงผลให้เปลี่ยนส่วนผสมจากหอยเชอรี่เป็นผลไม้แทน ลุงรัตน์ บอกว่า วัสดุที่ใช้ทำน้ำหมักใช้ผลไม้สุกที่ร่วงหล่นในสวนไม่ต้องซื้อ
ส่วนหอยเชอรี่ไม่ต้องไปหาเองให้เหนื่อยให้คนเก็บมาให้แลกกับน้ำหมักที่เราทำเสร็จแล้ว
สำหรับผักสวนครัว ผสมเศษหญ้าหมักขณะเตรียมแปลงผัก หว่านปุ๋ยหมัก 500
กก./ไร่ หากดินเสื่อมโทรมมากใช้อัตรา 1,000 กก./ไร่
หลักจากปลูกผัก 15 วัน ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่ 1
ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร
ส่วนนาข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวปล่อยทิ้งให้ตอซังแห้งแล้วไถกลบ
หว่านปุ๋ยหมักแล้วไถพรวนกับดินให้เข้ากัน หลังจากปลูกข้าว 15 วัน
ปล่อยน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่เข้มข้นหยดลงในร่องน้ำเข้าแปลงนาอัตราส่วน 5
ลิตรต่อแปลงนาขนาด 10x10 วา
เมื่อข้าวตั้งท้องเปลี่ยนมาใช้น้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ในอัตราเท่าเดิม
ผลผลิตในสวนผสมแห่งนี้ขายราคาถูกเพราะพ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อต้องเก็บเอง
สร้างรายได้พออยู่พอกินให้กับเจ้าของ ไม่เหนื่อยจนเกินไปเพราะไม่ได้ทำเพื่อหวังรวย
และปลอดภัยจากสารเคมีได้สุขภาพดีเป็นของแถม เป็นแนวทางที่ไม่ยากเกินไปของ รัตน์
จาสมุทร หมอดินอาสา วัย 67 ปี
ติดต่อศึกษาดูงานหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ รัตน์ จาสมุทร
ได้ที่หมู่ที่ 5 บ้านสันสลี ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
โทร.084 8035754 ส่วนรายละเอียดสารเร่งพด. สามารถติดต่อได้ที่
สถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย โทร.053 706165