มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                น้ำส้มคว้นไม้ ของเหลวสีน้ำตาลมีกลิ่นควันไฟที่ได้มาจากการควบแน่นของควันที่เกิดจากการผลิตถ่าน ณ อุณหภูมิที่เหมาะสมโดยมีคุณสมบัติมีฤทธิ์เป็นกรดและมีสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อพืช น้ำส้มควันไม้แตกต่างจากสารที่ได้จากการหมักและสังเคราะห์อื่นๆ คือมีสารประกอบที่หลากหลายโดยเฉพาะฟีนอล มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อได้ดีเมื่อนำเจือจาง 200 เท่า จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และต่อต้านเชื้อแบคทีเรียจะเพิ่มปริมาณขึ้น เนื่องจากได้สารอาหารจากกรดน้ำส้ม น้ำส้มควันไม้จึงใช้ในการเกษตรได้ดีในการใช้ฆ่าเชื้อรา ป้องกันโรค และไล่แมลง
                มนัส พุ่มมะปราง หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ต.เขาพระ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี คือผู้ทำการศึกษาอย่างจริงจังในการผลิตน้ำส้มควันไม้ ทั้งจากการอบรม หรือหาความรู้เพิ่มเติมทางอินเตอร์เนต จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ ได้รับเชิญให้ไปสาธิต และผลิตเตาน้ำส้มควันไม้ในจังหวัดต่างๆมากมาย
                จากอาชีพครูของมนัส เปลี่ยนเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าว ทำให้ได้ทราบถึงพิษภัยของสารพิษที่ตกค้างอยู่ในผลผลิต จึงเริ่มหันเหสู่วิถีทางของเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากพื้นที่นาข้าวของตนเอง ทดลอง ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับสารอินทรีย์ทุกอย่าง ทั้งปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจนมาถึงน้ำส้มควันไม้ และเมื่อมีโอกาสได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่x6Jpของสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรีทำให้ทราบถึงภาระหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน มนัสตัดสินใจสมัครเข้าเป็นหมอดินอาสาเพื่อขอรับการถ่ายทอดวีธีการปรับปรุงดินอย่างถูกวิธี และเพื่อเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง
                 เมื่อเข้าเป็นหมอดินอาสาได้ไม่นานนัก มนัส พุ่มมะปราง ก็มีผลงานที่น่าสนใจ ในการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาในการพัฒนาที่ดิน โดยการใช้สารเร่งพด.2 สำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำของกรมพัฒนาที่ดิน นำมาหมักกับปลา พืชผักและผลไม้ ได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำ นำมาผสมร่วมกับน้ำส้มควันไม้เพื่อนำมาฉีดพ่นในนาข้าว และแปลงพืชผักต่างๆ เพื่อฆ่าเชื้อรา ป้องกันโรคพืช เร่งการเจริญเติบโตของพืช และขับไล่แมลง
                 สำหรับสูตรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่งพด.2 ของมนัส ในชื่อที่ตั้งเองว่า “สุดเขียว”เพื่อใช้ผสมร่วมกับน้ำส้มควันไม้ เริ่มจากการทำน้ำหมักแคลเซียมโดยนำน้ำซาวข้าว นมสด และเปลือกไข่ทุบละเอียด หมักไว้ 7 วัน ทำน้ำหมักพืชสีเขียว ประกอบด้วย พืชผักอวบน้ำ 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน สารเร่งพด.2 1 ซอง หมัก 20 วัน และทำน้ำหมักปลา ประกอบด้วย เศษปลา 1 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน สารเร่งพด.2 1 ซอง หมัก 1 เดือน เอาแต่น้ำของน้ำหมักทั้งหมดมาผสมกัน
                 เมื่อได้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ “สุดเขียว” ใช้ปริมาณ 120 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร น้ำส้มควันไม้ 100 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร แล้วนำมาผสมรวมกัน ฉีดพ่นในนาข้าว ทุก 45 วัน ในแปลงพืชผัก ทุกสัปดาห์ ช่วยไล่เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจั่กจัน เพลี้ยไฟ ด้วงมัดผัก เพลี้ยอ่อน เป็นต้น ลดต้นทุนค่ายาฆ่าแมลง และฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น
                 หากเกษตรกรสนใจขอคำปรึกษาได้ที่ คุณมนัส พุ่มมะปราง หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน อยู่เลขที่ 122 หมู่ที่ 2 ต.เขาพระ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โทร.081–3415775 ยินดีให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการผลิตน้ำส้มควันไม้ และปุ๋ยอินทรีย์น้ำ “สุดเขียว” หรือจะทดลองนำไปใช้ ก็มีจำหน่วยในราคาถูก แต่หากต้องการสารเร่งพด. 2 สำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำขอรับได้ฟรี ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด สอบถามได้ที่ 02-5798515