บทความที่ 25/52
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               สมุนไพรไล่แมลง ภูมิปัญญาไทยจากอดีตที่ถูกลืมเลือนในยุคเกษตรกรรมเคมี ที่ต้องการผลผลิตรูปลักษณ์สวยงามตามความต้องการของตลาด แต่แอบแฝงด้วยพิษร้ายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
พิษร้ายจากสารเคมีทำให้ ชูชัย นาคเขียว เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชผักและไม้ผลใน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ต้องหันหลังให้กับสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด หลังจากร่างกายทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนตรวจพบว่าป่วยเนื่องจากมีสารเคมีตกค้างในเลือดมีอัตราเสี่ยงถึงชีวิต จึงตัดสินใจหยุดทำการเกษตรหันหน้าเข้าหาวัดจนได้เรียนรู้ประโยชน์ของสมุนไพรชนิดต่างๆ ชูชัย เล่าว่า “หนีสารเคมีเข้าไปบวชที่วัดโคกบำรุงราษฎร์ รักษาตัวโดยใช้สมุนไพรชนิดต่างๆ จึงได้เรียนรู้การใช้สมุนไพรรักษาโรค คิดว่าหากนำมาประยุกต์ใช้ในการเกษตรต้องไม่เกิดอันตรายต่อคน เพราะสมุนไพรไม่สะสมในร่างกาย”
               หลังจากสุขภาพร่างกายเริ่มดีขึ้น ชูชัย กลับมาทำการเกษตรอีกครั้งโดยหาวิธีหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด โดยนำสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่ได้รับความรู้จากวัด นำมาเพิ่มพูนประสบการณ์ โดยเรียนรู้เพิ่มเติม และทดลองด้วยตนเอง จนผลิตเป็นสารไล่แมลงได้สำเร็จ ซึ่ง ชูชัย ได้แบ่งสมุนไพรสำหรับไล่แมลงออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน ได้แก่ ตะไคร้หอม ใบเสือหมอบ ใบกระเพราผี ข่าแก่ ลูกมะกรูดแก่ ยาฉุน ใบน้อยหน่า เปลือกประดู่ บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร ลูกหัวลำโพง ต้นติดหางหมูหางวัว
               กลุ่มที่สองสมุนไพรเบื่อเมา ได้แก่ ต้นสบู่แดง เมล็ดสะเดา เมล็ดมันแกว เมล็ดมะกล่ำตาหนู หนอนตายหยาก ต้นใบฟ้าทะลายโจร ต้นหางไหลขาว ต้นหางไหลแดง หัวกลอย กลุ่มที่สามสมุนไพรหอมระเหย ได้แก่ ใบยูคา เมล็ดละหุ่ง ใบต้นเมนทอล การบูร น้ำยางไม้เผาถ่าน ต้นใบสะระแหน่ กลุ่มที่สี่สมุนไพรที่ยับยั้งการลอกคราบ ได้แก่ ฟักคูณแก่ เมล็ดสะเดาแก่ เปลือกซาก พริกไทย ดีปลีแก่ หัวแห้วหมู่แก่ และกลุ่มสุดท้ายสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการขับถ่าย ได้แก่ เมล็ดสลอด เมล็ดสบู่ดำ เมล็ดสบู่แดง ต้นแหยะ ยาดำ เปลือกว่านหางจระเข้
               เมื่อแบ่งสมุนไพรออกเป็นกลุ่มต่างๆตามคุณสมบัติแล้ว ชูชัย นำมาผลิตเป็นสารสกัดสมุนไพรไล่แมลงซึ่งได้คิดค้นออกมาหลายสูตร สำหรับสูตรที่ได้รับความนิยม คือ สารสกัดสมุนไพรควบคุมกำจัดหนอนและแมลงที่ผลิตจากสมุนไพรทั้ง 5 กลุ่ม โดยใช้กลุ่มละไม่ต่ำกว่า 5 อย่าง อย่างละ 2 กก. นำมาย่อยให้เล็กที่สุดใส่ลงในเครื่องกลั่นที่ ชูชัย คิดค้นขึ้นมา ใส่น้ำให้ท่วมสมุนไพรแล้วกลั่นออกมา นำไปใช้ในอัตราส่วน 15-30 ซีซีผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบทุกๆ 3-7 วัน
               ชูชัย บอกว่า “สารสกัดสมุนไพรสามารถปราบปราม และควบคุมปริมาณการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้ ใช้สะดวก ประหยัดเพราะต้นทุนต่ำ ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม ไม่มีพิษตกค้างในผลผลิตการเกษตร”
ด้วยความต้องการที่จะลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรทำให้ ชูชัย ได้มีโอกาสได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินราชบุรีและตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีเพิ่มเติม และนำมาถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจ
               หลังจากได้รับความรู้จากการเป็นหมอดินอาสา จึงได้ผลิตสารฮอร์โมนพืชสกัดจากปลาน้ำจืดสมุนไพรไทย โดยใช้ส่วนผสม ปลา 30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. น้ำ 10 ลิตร และ สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง นำส่วนผสมมาปั่นรวมกันให้ละเอียด หมักไว้ 15 วัน ก่อนนำไปกลั่นใส่หัวไชเท้า 2-3 กก. และกวาวเครือขาว 3 กก. เพื่อช่วยขยายขนาดของผลผลิต
               สำหรับการผลิตสารสกัดสมุนไพรสูตรต่างๆ หากสนใจสามารถมาศึกษาดูงานหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ ชูชัย บอกว่า “อยากให้เกษตรกรทำใช้กันเอง ถึงแม้เคยถูกข่มขู่จากบริษัทขายสารเคมีถึงที่บ้านก็ไม่กลัว พอมีความรู้ทางด้านนี้ก็อยากช่วยทั้งผู้ใช้และผู้บริโภคให้ปลอดภัย เพราะรู้ถึงอันตรายจากสารพิษที่เคยได้รับมาก่อน”
               ชูชัย นาคเขียว สะสมประสบการณ์ ศึกษาภูมิปัญญานำสมุนไพรไทยกลับมาสู่การทำเกษตรกรรมอีกครั้ง...
               ติดต่อ หมอดินอาสาชูชัย นาคเขียว ได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดสารพิษ ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โทร.032 361026, 032 246370, 081 8804520 และสถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี โทร.032 373717