บทความที่ 21/2552
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               “เพราะไม่รู้จักพอเพียงกิจการโรงสีข้าวจึงขาดทุน ตั้งหลักแทบไม่ได้และไม่รู้จะเริ่มต้นใหม่ได้อย่างไร” บุญสืบ เดชสอน เล่าให้ฟังถึงอดีตที่ประสบความล้มเหลว แต่เมื่อเริ่มได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่างๆ รวมทั้งแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงจากสื่อต่างๆ บุญสืบ เชื่อว่าหากมุ่งมั่นศึกษาเรียนรู้และนำมาปฏิบัติได้จะสามารถกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง
               ไม่นานนักพื้นที่ว่างเปล่าไร้ประโยชน์บริเวณรอบๆ โรงสีข้าวประมาณ 10 ไร่ ของ บุญสืบ เดชสอน ที่ 49 ม.5 ต.ดงพระราม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ก็กลายเป็นแปลงเพาะปลูกพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เป็นต้น ซึ่งเป็นผักปลอดสารพิษเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเองเป็นหลักในการปรับปรุงดินและเร่งการเจริญเติบโต ที่เป็นผักปลอดสารพิษเพราะ บุญสืบ รู้ถึงอันตรายจากสารพิษตกค้างเป็นอย่างดีจากร่างกายที่ทรุดโทรมสุขภาพไม่ค่อยดี เนื่องจากผลของการใช้สารเคมีทำการเกษตรจำนวนมากในอดีต จึงต้องการปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง และนำไปขายเพื่อให้ผู้อื่นได้ผลผลิตที่ปลอดภัย
               ผลผลิตถูกนำไปขายตามตลาดเล็กๆ จนเป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการบริโภคผักปลอดสารพิษและได้รับความสนใจจากหน่วยงานราชการทำให้ บุญสืบ ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมจัดตั้งกลุ่มเกษตรชีวภาพดงพระราม และได้รับคัดเลือกให้เป็นแกนนำของกลุ่ม ซึ่งถ้าหากผ่านไปที่จังหวัดปราจีนบุรีแล้วต้องการอุดหนุนผักปลอดสารพิษของกลุ่มเกษตรชีวภาพดงพระราม ก็ไปแวะเลือกซื้อได้ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
               เมื่อเป็นแกนนำกลุ่ม บุญสืบ พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจนได้รู้จักสถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี จากการเข้าไปขอรับการสนับสนุนปูนมาร์ลเพื่อนำมาปรับปรุงดิน นอกจากนั้นยังได้รู้จักวิธีการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ โดยใช้สารเร่งพด. และกิจกรรมพัฒนาที่ดินต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำอาชีพเกษตรทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อเข้ารับการอบรมความรู้ และนำความรู้มาถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลดงพระราม
               ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต.ดงพระราม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี จึงได้จัดตั้งขึ้นจากการสนับสนุนของสถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี โดยมี หมอดินอาสาบุญสืบ เดชสอน เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการพัฒนาที่ดิน ซึ่งกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ได้จัดทำจุดเรียนรู้ ได้แก่ จุดเรียนรู้ด้านการผลิตและสาธิตการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ จุดเรียนรู้ด้านการผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพสูงจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 โดยใช้เศษวัสดุจากเห็ด จุดเรียนรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด จุดเรียนรู้ด้านการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน
               โดยเฉพาะในเรื่องของการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏานซี่งเป็นพันธุ์ที่มี ดอกใหญ่ น้ำหนักมาก ราคาดี บุญสืบ เล่าว่า “เริ่มแรกซื้อก้อนเห็ดสำเร็จรูปมาจากกาญจบุรีประมาณ 1,000 ก้อน หลังเก็บผลผลิตขายแล้วหักต้นทุนเหลือกำไรไม่มาก จึงคิดลงมือผลิตก้อนเห็ดเองซึ่งมีนักวิชาการบอกว่าถ้าสนใจสามารถทำเองได้ หลายๆคนบอกทำแล้วขาดทุนไม่กล้าทำ เพราะพลาดนิดเดียวกลายเป็นเชื้อราที่ลงทุนไปเสียหมด แต่ไม่เคยท้อทำอยู่ปีกว่าจึงสำเร็จ ครั้งแรกเห็นเห็ดออกดอกดีใจมาก”
               สำหรับวัสดุหลักในการทำก้อนเห็ดก็คือขี้เลื่อยซึ่ง บุญสืบ ใช้ขี้เลื่อยจากไม้มะม่วง กระท้อน ขนุน นุ่น โดยใช้ขี้เลื่อย 1 ตัน สารเร่งซุปเปอร์พด.1 1 ซอง น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์พด.2 5 ลิตร กากน้ำตาล 5 ลิตร หมักทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน พอเอามือกำรู้สึกนุ่มๆ ใส่ถุงอัดให้แน่น แล้วนำไปนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค จากนั้นจึงใส่เชื้อเห็ดที่เพาะเลี้ยงไว้ลงไปซึ่งขั้นตอนนี้ต้องระมัดระวังอย่างมาก หากผิดพลาดก็ใช้ไม่ได้
               ก้อนเห็ดนางฟ้าภูฏานที่มีเชื้อเต็มพร้อมออกดอก 1,000 ก้อน จะเก็บผลผลิตได้วันละ 10-15 กก. ขายได้ประมาณ กก.ละ 40-50 บาท เก็บได้ประมาณ 8 เดือนก้อนเห็ดจึงหมดเชื้อ ซึ่งหลังจากนั้นสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักไว้ใช้ได้ โดยปุ๋ยหมักจำนวน 1 ตัน ใช้ก้อนเห็ดเก่า 300 กก. เศษพืชแห้ง 100 กก. มูลสัตว์ 300 กก. ขี้เถ้าดำ 200 กก. แกลบดิบ 200 กก. สารเร่งซุปเปอร์พด.1 1 ซอง ผสมส่วนผสมทั้งหมดกองไว้ในที่ร่มรักษาความชื้นประมาณ 60 % กลับกองทุกเช้า ครบ 7 วัน ทิ้งไว้ให้ความร้อนลดลงอีกประมาณ 7 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้
               การผลิตก้อนเห็ดนางฟ้าภูฏานต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก ต้องมีความอดทนในการฝึกฝนถ้าหากสนใจสามารถติดต่อเรียนรู้หรือขอคำแนะนำได้ ซึ่งศูนย์ฯแห่งนี้มีเกษตรกร นักศึกษา เข้ามาศึกษาดูงานอยู่ตลอด บุญสืบ บอกว่า “ความรู้ที่นี่เอาไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้ เมื่อได้ไปแล้วขอให้นำไปปฏิบัติเป็นแบบอย่างเพื่อขยายเครือข่ายต่อไป อยากให้คิดเสมอว่าผู้นำ คือผู้รับใช้ชุมชน”
               สนใจศึกษาเรียนรู้ ดูงาน หรือขอคำแนะนำ ติดต่อ บุญสืบ เดชสอน ได้ที่ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ม.5 ต.ดงพระราม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี โทร. 086 143 0995, 037 046 252