บทความที่ 19/2552
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               หากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในปี 2552 ตามที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์ไว้ อาจทำให้หลายคนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยแตกต่างกันไป แต่ถ้าหากได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวแล้วคิดว่าจะหาทางออกได้อย่างไร ทิม คณะเสน อาจจะพอเป็นตัวอย่างให้กับผู้ประสบปัญหาดังกล่าวได้
               จากชีวิตลูกชาวนาที่นอกจากช่วยครอบครัวทำนาแล้วด้วยความขยัน ทิม จึงไปรับจ้างขับรถไถนา และแบกข้าวสารจนซื้อรถไถนาขนาดเล็กมารับจ้างได้ และเก็บเงินสะสมเรื่อยมาจนสามารถซื้อรถไถขนาดใหญ่ รถตัก และรถสิบล้ออีก 5 คัน จึงเริ่มหันมาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถนน รับจ้างถมที่ จนกระทั่งปี 2540 สภาพเศรษฐกิจทรุดทำให้ธุรกิจรับเหมาต้องล้มลงขาดทุนและเป็นหนี้กว่า 20 ล้านบาท ลุงทิม เล่าว่า “เมื่อก่อน มีรถสิบล้อ มีรถตัก มีเงินทอง มีคนนับหน้าถือตา มีเพื่อนเยอะ ตอนไม่เหลืออะไรแรกๆทำอะไรก็หงุดหงิด แต่ไม่เคยคิดฆ่าตัวตายยังรู้สึกว่าภูมิใจที่เกิดเป็นคน คิดได้ว่าที่รู้สึกหงุดหงิดเพราะจิตใจไม่สงบ เป็นคนมีขึ้นมีลงต้องสามารถพลิกวิกฤติได้”
               เมื่อคิดว่าชีวิตยังไม่สิ้นหวังจึงช่วยกันกับภรรยาผลิตน้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร ใส่ขวดออกจำหน่ายได้ระยะหนึ่งจึงเริ่มไปเช่าที่ดินที่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ทำสวนมะม่วง 100 ไร่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีแรงงานแค่ 2 คน ไม่เพียงพอในการทำสวนจึงลองเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งซึ่งไม่ขาดทุนแต่ก็ไม่ได้กำไรและยังไม่พอกับส่งดอกเบี้ยธนาคาร จึงตัดสินใจเลิกเลี้ยงกุ้งและขายสมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ แต่ก็ยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงค้างอยู่แต่ก็ไม่มากมายนัก “ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ก็หาวิธีอื่น คิดว่าต้องทำอะไรให้อยู่ได้แล้วก็คิดว่าทำไว้สำหรับพออยู่พอกิน และพอได้ขายก็น่าจะพอ เมื่อก่อนทำเพื่อขายอย่างเดียวถ้ารอขายอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องกินใช้ทุกวัน ต้องมีรายได้ทุกวัน ทุกเดือน ถึงจะอยู่ได้”
               จากนั้นปี 2546 ทิม จึงย้ายมาอยู่ที่ บ้านหนองเหียง ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งลูกได้ซื้อที่ดินไว้ 3 ไร่ ปลูกบ้าน และการทำเกษตรแบบผสมผสานโดยแบ่งพื้นที่ปลูกไม้ผล ทำแปลงปลูกผักปลอดสารพิษ เช่น มะเขือ คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว บวบ พริกและอื่นๆ อีกหลายชนิด แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณ ต.เขาหินซ้อน เป็นดินทรายจัดที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ผลผลิตต่ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้เข้าไปส่งเสริมให้มีการปรับปรุงดินโดยใช้อินทรียวัตถุ รวมทั้งการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน
               หลังได้รับคำแนะนำ ทิม นำความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการวางแผนการปลูกพืชผักต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยศึกษาสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม สภาพพื้นที่ว่าเหมาะกับการปลูกผักชนิดใด มีแหล่งน้ำเพียงพอในการดำเนินการหรือไม่ ใช้แรงงานในครัวเรือนแทนการใช้เครื่องจักร ดูแลพืชผักในแต่ละช่วงอายุอย่างใกล้ชิด คอยสังเกตและเอาใจใส่ไม่ให้โรคและแมลงรบกวน เมื่อพืชผักเป็นโรคจะนำชิ้นส่วนของพืชนั้นมาขอรับคำปรึกษาจากนักวิชาการเพื่อหาวิธีการแก้ไข มีการศึกษาความต้องการของตลาดก่อนปลูกผักและนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์แล้วนำมาใช้ในแปลงของตนเอง นำหญ้าแฝกมาปลูกระหว่างแปลงผัก และนำใบหญ้าแฝกที่ตัดมาคลุมแปลงเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ไม่มีการใช้สารเคมีในแปลงพืชผัก โดยคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจาการใช้สารเคมีต่อตนเอง บุคคลอื่น และสภาแวดล้อมที่จะเสื่อมโทรมตามมา
               เมื่อเรียนรู้ และปฎิบัติจนเกิดความชำนาญด้านเกษตรอินทรีย์ ทิม คณะเสน จึงได้ถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนบ้านที่สนใจเป็นประจำโดยไม่หวงวิชาและไม่คิดค่าใช้จ่ายจนได้รับการยกย่องให้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” และเป็นแกนนำในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษบ้านหนองเหียง ได้รับเลือกให้เป็นเกษตรกรตัวอย่างด้านเศรษฐกิจพอเพียงจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง การดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิทยากรสาธิตการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ สาธิตการปลูกผักปลอดสารพิษในพื้นที่ที่จำกัดแต่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ส่งเสริมการนำหญ้าแฝกมาใช้ในพื้นที่ร่วมกับการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยสาธิตเป็นแบบอย่างในพื้นที่ของตนเอง
               อดีตผู้รับเหมาทุนทรัพย์หลายล้านบาท หันมาประกอบอาชีพปลูกผักปลอดสารพิษและใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีรายได้จากการจำหน่ายผักประมานเดือนละ 8,000-9,000 บาท ถึงไม่มากนักแต่ชีวิตมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ได้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดีปราศจากมลพิษ ทิม บอกว่า “พอใจกับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีหนี้สินอยู่บ้างแต่ก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้ารู้จักใช้ชีวิตแบบพอเพียง”
                ติดต่อศึกษาดูงาน หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ ทิม คณะเสน ได้ที่ บ.หนองเหียง ม.13 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โทร.089 607 4067