บทความที่ 18/2552
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               ปัจจุบันผู้ปลูกลำไยได้ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต(KClO3) ชักนำให้ต้นลำไยออกดอก เพื่อผลิตลำไยนอกฤดูกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งปริมาณการใช้สารชนิดดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่ามีเกษตรกรบางส่วนใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเกิน 1 เท่าของอัตราแนะนำ เนื่องจากมีความเชื่อว่าการให้สารในอัตราสูงจะทำให้ลำไยออกดอกได้ดีแต่ผลที่ได้กลับพบว่า การใช้สารในอัตราสูงกว่าคำแนะนำมีผลทำให้การออกดอกลดลง 30-40% ขณะเดียวกันยังทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และยังมีสารเคมีตกค้างในดินด้วย หากใช้ปริมาณมากติดต่อกันหลายปีจะทำให้ต้นลำไยมีปัญหา เช่น ต้นทรุดโทรมเร็ว หรือเกิดอาการใบเหลืองแล้วแห้งตาย
               ในอดีตการผลิตลำไยนอกฤดูบนพื้นที่ จำนวน 11 ไร่ ของ อินทอง หล่อเถิน ที่ ม.1 บ.หนองสร้อย ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ก็เป็นการใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียวทั้งสารโพแทสเซียมคลอเรต ปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงศัตรูพืช แต่เมื่อได้รับความรู้ในเรื่องของการใช้สารอินทรีย์จากการดูงาน และเข้ารับอบรมจากที่ต่างๆ จึงเกิดความสนใจศึกษาทดลองทำสารอินทรีย์ไว้ใช้ อินทอง เล่าว่า “เมื่อก่อนใช้เคมีอย่างเดียวดินแห้งแข็ง มีลำใยอยู่ 3 ต้น ที่เป็นอาจารย์ทดลองนำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ไปใส่ปรากฎว่าใบเขียวขึ้น ต้นสมบูรณ์ดีกว่าต้นอื่นๆ จึงรู้ว่าการใช้สารอินทรีย์ร่วมสารกับเคมีสามารถทำได้ และดีกว่าการใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากต้นลำไยสมบูรณ์ขึ้นแล้ว ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก สามารถทำใช้เองได้ต้นทุนไม่สูง”
               หลังจากทราบแล้วว่าสารอินทรีย์มีประโยชน์ต่อดินและพืชรวมทั้งสามารถทำเองได้ จึงหาทางศึกษาเพิ่มเติมถึงวิธีการผลิตสารอินทรีย์ต่างๆอย่างถูกวิธี จนได้รับคำแนะนำจากสถานีพัฒนาที่ดินลำพูนในเรื่องของการใช้สารเร่งซุปเปอร์พด.1 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถสูงในการย่อยสลายเศษพืชเพื่อผลิตปุ๋ยหมักในช่วงระยะเวลาสั้น สารเร่งซุปเปอร์พด.2 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายเศษพืชผัก ผลไม้ ปลา หอยเชอรี่ เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำ สำหรับเร่งการเจริญเติบโตของราก ใบ ลำต้น การออกดอก และติดผล และสารเร่งพด.7 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักและการย่อยสลายพืชสมุนไพรต่างๆ เพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช เมื่อได้รับความรู้แล้วจึงนำสารเร่งพด. มาใช้ในการผลิตลำไยนอกฤดูจนประผลสำเร็จ อินทอง หล่อเถิน จึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหมอดินอาสาเพื่อช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง
               สำหรับการผลิตลำไยนอกฤดู อินทอง แนะนำว่า “ก่อนใส่สารโพแทสเซียมคลอเรตต้องบำรุงต้นให้สมบูรณ์ โดยหลังเก็บผลผลิตแล้วต้องใส่ปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์พด.1 ซึ่งหมักจากเศษหญ้า กิ่ง และใบลำไยในสวน อัตราส่วนใส่ตามอายุของต้นลำไย 1 ปี ต่อ 1 กก. พอถึงช่วงที่ช่อดอกยาวประมาณ 1 คืบ ฉีดพ่นยืดช่อดอกด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่งซุปเปอร์พด.2 ซึ่งหมักจาก มะละกอ ฝักทอง กล้วยสุก และปลา โดยใช้ในอัตราส่วนปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 1 ลิตร ผสมน้ำ 500 ลิตร เมื่อลูกลำไยขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟให้ใส่ปุ๋ยหมักอีกครั้ง และฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำอัตราส่วนเท่าเดิม รวมทั้งฉีดพ่นสารป้องกันแมลงศัตรูพืชจากสารเร่งพด.7 ที่หมักจาก สะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ข่าแก่ ใบยูคาลิปตัส ในอัตราส่วน 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ทุกๆ 7 วัน”
               เมื่อประสบผลสำเร็จในการใช้สารเคมีร่วมกับสารอินทรีย์ อินทอง หล่อเถิน ในฐานะหมอดินอาสาก็ยินดีถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจซึ่งนอกจากเรื่องการผลิตลำไยนอกฤดูแล้วในพื้นที่ 11 ไร่ยังมีการเลี้ยงปลา ปลูกผักและไม้ผลอีกหลายชนิดเพื่อเป็นรายได้เสริม และใช้พื้นที่จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแหล่งสาธิต ศึกษา ดูงาน และเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่ เช่น การใช้พืชปุ๋ยสด การผลิตและใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่งพด. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น
               อินทอง ฝากถึงเกษตรกรในยุคปุ๋ยราคาแพงว่า “ปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้ดีกว่าเคมีแต่ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดินทำให้ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปได้ใช้ประโยชน์มากขึ้นไม่ต้องใส่มาก ทุกวันนี้ใช้เคมีอยู่แต่ใช้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นแต่ถ้าเกษตรกรทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ ใช้เองไม่ได้ ก็ลดค่าใช้จ่ายไม่ได้”
               ติดต่อดูงาน ขอคำแนะนำหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ หมอดินอาสาอินทอง หล่อเถิน ได้ที่ 138 ม.1 บ.หนองสร้อย ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน โทร.086 912 3914 ส่วนข้อมูลรายละเอียดของสารเร่งพด.
ต่างๆ ติดต่อได้ที่ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม โทร.02 579 8515